top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

สหรัฐฯ จับมือ อินเดีย ยุติข้อพิพาท WTO ร่วมกัน ๖ คดี



ในการประชุมองค์กรระงับข้พิพาท (Dispute Settlement Body) ภายใต้ WTO เมื่อเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา สหรัฐฯ และอินเดีย ได้มีถ้อยแถลงแจ้งต่อที่ประชุมฯ ว่า สองฝ่ายสามารถบรรลุข้อตกลงการระงับข้อพิพาท (mutually agreed solution) ระหว่างกันได้ในคดีที่สหรัฐฯ และอินเดียเป็นคู่พิพาทร่วมกันทั้งหมด ๖ คดี ซึ่งเป็นผลจากการหารือของผู้นำทั้งสองฝ่ายระหว่างการเดินทางเยือนสหรัฐฯ ของนายกรัฐมนตรีอินเดีย (นาย Narendra Modi) เมื่อวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๖๖ นอกจากนี้ อินเดียยังตกลงที่จะยกเลิกมาตรการขึ้นภาษีที่ใช้ตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมภายใต้ Section 232 เพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ ของสหรัฐฯ สำหรับสินค้าหลายราการ เช่น ถั่วเขียว ถั่วอัลมอนด์ ถั่ววอลนัท แอปเปิ้ล กรดบอริค เป็นต้น โดยทั้งสองฝ่ายต่างเน้นย้ำถึงความสำคัญของการยุติข้อพิพาทว่าเป็นส่วนสำคัญในการเสริมสร้างความเข้มแข็งของกลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO โดยรวม ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างสองฝ่ายให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น


ข้อพิพาทที่สองฝ่ายตกลงยุติร่วมกันได้นั้น ประกอบด้วย


- คดีที่สหรัฐฯ เป็นผู้ถูกฟ้องร้อง จำนวน ๓ คดี เกี่ยวกับ (๑) มาตรการขึ้นภาษีที่สหรัฐฯ ใช้ตอบโต้การอุดหนุนสินค้า hot-rolled steel flat จากอินเดีย ซึ่งคดีได้คงค้างอยู่ในชั้นอุทธรณ์ (DS436) (๒) มาตรการทางการเงิน (financial incentive) ที่สหรัฐฯ ใช้กระตุ้นการซื้อ ติดตั้ง และใช้สินค้าที่ผลิตภายในประเทศสำหรับภาคพลังงานหมุนเวียน (DS510) ซึ่งคดีคงค้างอยู่ในชั้นอุทธรณ์ (๓) มาตรการที่สหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมภายใต้ Section 232 เพื่อปกป้องความมั่นคงแห่งชาติ (DS547) ซึ่งคดียังคงอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นต้น


- คดีที่อินเดียเป็นผู้ถูกฟ้องร้อง จำนวน ๓ คดีเช่นเดียวกัน เกี่ยวกับ (๑) เงื่อนไขให้ใช้วัตถุดิบในประเทศของอินเดียสำหรับสินค้าแผงพลังงานแสงอาทิตย์ (DS456) ซึ่งอินเดียได้ขอจัดตั้งคณะผู้พิจารณาคดีขึ้นมาเพื่อวินิจฉัยความสอดคล้องของการดำเนินการของอินเดียกับคำตัดสินฯ (๒) มาตรการยกเว้นหรือลดภาษีภายใต้โครงการส่งเสริมการส่งออกของอินเดีย ซึ่งคดีคงค้างอยู่ในชั้นอุทธรณ์ (DS541) และ (๓) มาตรการขึ้นภาษีที่อินเดียใช้ตอบโต้มาตรการขึ้นภาษีสินค้าเหล็กและอลูมิเนียมภายใต้ Section 232 ของสหรัฐฯ (DS585) ซึ่งคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาคดีในชั้นต้น


ข้อตกลงยุติข้อพิพาทระหว่างสหรัฐฯ และอินเดีย ดังข้างต้น สอดคล้องกับท่าทีของสหรัฐฯ ที่ต้องการให้มี การปฎิรูปกลไกการระงับข้อพิพาท WTO โดยส่งเสริมการใช้กลไกการระงับข้อพิพาททางเลือกระหว่างสมาชิก WTO มากกว่าการเข้าสู่กระบวนการตัดสินคดี (litigation) และการดึงอำนาจการตีความทางกฎหมายคืนสู่สมาชิก WTO ซึ่งสหรัฐฯ เห็นว่าปัจจุบัน คณะอุทธรณ์มีการใช้อำนาจดังกล่าวเกินขอบเขต (overreach) หรือมีคำวินิจฉัยเกินความจำเป็น (advisory opinion) ต่อการระงับข้อพิพาทระหว่างสมาชิก จนนำไปสู่การคัดค้านของสหรัฐฯ ในการริเริ่มกระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะเข้ามาทำหน้าที่พิจารณาคำอุทธรณ์ในตำแหน่งที่ว่างลงจนทำให้คณะอุทธรณ์ไม่สามารถดำเนินการได้มาตั้งแต่ปี ๒๕๖๓ เนื่องจากมีสมาชิกไม่เพียงพอต่อการจัดตั้งคณะในแต่ละข้อพิพาท (อย่างน้อย ๓ คนขึ้นไป) ทำให้ข้อพิพาทกว่า ๓๐ คดีจำเป็นต้องชะลอออกไปอย่างไม่มีกำหนด


ปัจจุบัน สมาชิกอยู่ระหว่างการหารือแนวทางปฏิรูปกลไกการระงับข้อพิพาท WTO ตามมติการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ ๑๒ เมื่อเดือนมิถุนายน ๒๕๖๕ ซึ่งกำหนดให้กลไกฯ กลับมาดำเนินการได้อย่างเรียบร้อยและเต็มรูปแบบ (fully and well-functioning) ภายในปี ๒๕๖๗

76 views0 comments
bottom of page