top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

การฟื้นตัวของการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศกำลังพัฒนาในระบบการค้าโลก




เอกสารขององค์การการค้าโลก (WTO) ได้ระบุว่า การค้าสินค้าและบริการของประเทศกำลังพัฒนาได้ฟื้นตัวจากช่วงที่ตกต่ำซึ่งเป็นผลจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 แล้ว โดยการส่งออกสินค้าของประเทศกำลังพัฒนามีการขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 10.8 ในปี 2564 และร้อยละ 1.6 ในปี 2565 โดยประเทศกำลังพัฒนาในทวีปเอเชียถือเป็นกลุ่มประเทศที่ขับเคลื่อนการฟื้นตัวของการค้าสินค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาให้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและแข็งแกร่งในปี 2564 โดยจีนซึ่งเป็นผู้ส่งออกหลักของประเทศกำลังพัฒนามีการส่งออกสินค้าที่เติบโตสูงถึงร้อยละ 17.3 ในปี 2564 และอัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 2 ในปี 2565


หากพิจารณาในด้านมูลค่าของการค้าสินค้า การส่งออกสินค้าของประเทศกำลังพัฒนาได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากมูลค่ารวม 7.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 11.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 ส่วนหนึ่งได้รับแรงหนุนจากการเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าโภคภัณฑ์ เช่น น้ำมันดิบ ขณะที่ส่วนแบ่งของประเทศกำลังพัฒนาในด้านการส่งออกทั่วโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 44.7 ในปี 2563 เป็นร้อยละ 46.6  ในปี 2565 ตามลำดับ จีน เกาหลีใต้ และเม็กซิโก ยังคงเป็นผู้ส่งออกสินค้ารายใหญ่ที่สุดในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนา โดยมีสัดส่วนการค้าคิดเป็นร้อยละ 15 ร้อยละ 2.8 และร้อยละ  2.4 ของการส่งออกสินค้าทั่วโลกในปี 2565 ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนารายใหญ่ที่สุด 15 ราย ได้แก่ จีน เกาหลีใต้ เม็กซิโก สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน อินเดีย ซาอุดีอาราเบีย เวียดนาม มาเลเซีย บราซิล อินโดนีเซีย ไทย ตุรกี และอิรัก มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าถึงร้อยละ 38 ของการส่งออกสินค้าไปยังทั่วโลก หรือมีสัดส่วนถึงร้อยละ 82 ของการส่งออกระหว่างประเทศกำลังพัฒนาทั้งหมด


ทั้งนี้ สินค้าประเภทเซมิคอนดักเตอร์ยังคงเป็นสินค้าที่มีการค้ามูลค่าสูงที่สุดของประเทศกำลังพัฒนาที่มีการส่งออกไปทั่วโลก ในช่วงเดียวกับที่การส่งออกน้ำมันดิบมีความสำคัญเพิ่มขึ้นอย่างมากในช่วงระหว่างปี 2563-2565 สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และจีน ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดในการส่งออกสินค้าของประเทศกำลังพัฒนาในปี 2565 โดยการส่งออกสินค้าไปยังประเทศดังกล่าว มีสัดส่วนคิดเป็นร้อยละ 17 ร้อยละ 16 และร้อยละ 13 ตามลำดับ และในช่วงปี 2563-2565 การค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน (South-South Trade) ยังคงมีปริมาณการค้าที่สูง โดยคิดเป็นสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 50 ของการส่งออกสินค้าทั้งหมดของประเทศกำลังพัฒนา


ภายหลังสถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ลดลง การส่งออกสินค้าบริการของประเทศกำลังพัฒนาได้เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 1.5 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2563 เป็น 2.3 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2565 การค้าสินค้าบริการของประเทศกำลังพัฒนาได้เพิ่มขึ้นโดยมีมูลค่าคิดเป็นร้อยละ 33 ของการส่งออกการค้าบริการของทั่วโลกในปี 2565 และเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 29 เมื่อปี 2563 ประเทศกำลังพัฒนาสามรายใหญ่ที่สุดในการส่งออกบริการยังคงเป็นจีน (ร้อยละ 6) อินเดีย (ร้อยละ 4.4) และสิงคโปร์ (ร้อยละ 4.1%) ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาผู้ส่งออกสินค้าบริการ 15 ราย ได้แก่ จีน อินเดีย สิงคโปร์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เกาหลีใต้ อิสราเอล ฮ่องกง ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ ไทย บราซิล เม็กซิโก มาเลเซียและซาอุดีอาราเบีย มีสัดส่วนการส่งออกสินค้าบริการรวมร้อยละ 26 ของการส่งออกสินค้าบริการทั่วโลก และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 ของการส่งออกสินค้าบริการระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน ทั้งนี้ สหภาพยุโรป สหรัฐอเมริกาและจีน ยังคงเป็นจุดหมายปลายทางที่สำคัญที่สุดสำหรับประเทศกำลังพัฒนาในการส่งออกสินค้าบริการเชิงในปี 2564 โดยคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 19 ร้อยละ 15 และร้อยละ 10 ตามลำดับ  อย่างไรก็ดี ในระยะหลังนี้ เกือบครึ่งหนึ่งของการส่งออกสินค้าบริการเป็นการค้าระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกัน (South-South Trade) โดยประเทศกำลังพัฒนาในเอเชียยังคงครองส่วนแบ่งมากที่สุดต่อไป อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้าบริการบางประเภท เช่น การส่งออกการท่องเที่ยว ในช่วงปี 2565 ยังคงค่อย ๆ ฟื้นตัวภายหลังการระบาดของโรคโควิด-19


แม้ว่าโดยรวมแล้ว ประเทศกำลังพัฒนาจะมีส่วนแบ่งในการค้าสินค้าและการส่งออกบริการทั่วโลกเพิ่มขึ้น หลายประเทศยังพยายามที่จะเพิ่มการมีส่วนร่วมในการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น หนึ่งในความท้าทายประการหนึ่งคือ การพึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ของประเทศกำลังพัฒนา โดยสินค้าโภคภัณฑ์จำนวนมากประสบกับความผันผวนของราคาค่อนข้างสูง ซึ่งอาจทำให้รายได้จากการส่งออกของประเทศกำลังพัฒนาดังกล่าวมีความผันผวนเช่นกัน  นอกจากนี้ บริษัทในประเทศกำลังพัฒนายังคงต้องเผชิญกับต้นทุนการค้าที่สูงกว่าบริษัทในประเทศที่พัฒนาแล้ว ซี่งรวมถึงการค้าสินค้าบริการด้วย อย่างไรก็ตาม จากสถิติพบว่า ประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศสามารถทำได้ดีในเรื่องการส่งออก โดยในช่วงปี 2557 ถึง 2565 การส่งออกบริการที่จัดส่งแบบดิจิทัล (Digitally Delivered Services) ของประเทศกำลังพัฒนาได้เพิ่มขึ้นจาก 500 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเป็น 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ อย่างไรก็ดี ยังคงมีประเทศกำลังพัฒนาหลายประเทศที่ประชากรไม่ถึงครึ่งหนึ่งที่สามารถเข้าถึงระบบออนไลน์ได้ จึงทำให้ไม่สามารถคว้าโอกาสจากการค้าดิจิทัลได้ โดยเฉพาะประเทศ LDCs ซึ่งยังคงต้องเผชิญกับความท้าทาย และจำเป็นที่จะต้องพัฒนามากขึ้น ทั้งในเรื่องการปรับปรุงกฎระเบียบการพัฒนาทักษะบุคลากร และโครงสร้างด้านเครือข่ายให้ดีขึ้น

36 views
bottom of page