top of page

รู้จัก WTO

องค์การการค้าโลก (WTO) คืออะไร

องค์การการค้าโลก หรือ WTO เป็นองค์กรระหว่างประเทศองค์กรเดียวในโลกที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการค้าระหว่างประเทศในระดับพหุภาคี โดยเป็นเวทีในการเจรจาลดอุปสรรคและข้อกีดกันทางการค้า และจัดทำกฎระเบียบการค้าระหว่างประเทศเพื่อสนับสนุนให้การค้าโลกมีความเสรียิ่งขึ้น บนพื้นฐานของการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน นอกจากนี้เป็นเวทีในการระงับข้อพิพาท ทางการค้าระหว่างประเทศสมาชิก และเป็นเวทีในการตรวจสอบและทบทวนนโยบายการค้าของประเทศสมาชิก

องค์การการค้าโลก (WTO) ตั้งขึ้นมาอย่างไร

WTO จัดตั้งขึ้นตามความตกลงมาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก เมื่อวันที่ 1 มกราคม 2538 โดยเป็นผลมาจากการเจรจาการค้าพหุภาคีรอบอุรุกวัย ภายใต้ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าด้วยภาษีศุลกากร และ การค้า (GATT) มีสมาชิกจัดตั้งเริ่มแรก 76 ประเทศ

หลักการสำคัญของ WTO

  • กำหนดให้ใช้มาตรการทางการค้าระหว่างประเทศโดยไม่เลือก
    ประติบัติ (Non-Discrimination) คือให้การปฏิบัติต่อสินค้าจากประเทศสมาชิกอย่างเท่าเทียมกัน (Most-favoured Nation Treatment : MFN) กล่าวคือ แต่ละประเทศ    จะต้องเรียกเก็บภาษีศุลกากร หรือ ค่าธรรมเนียม หรือใช้มาตรการใดๆ กับสินค้าที่
    นำเข้าจากประเทศสมาชิกอื่นๆ เท่าเทียมกันทุกประเทศ และปฏิบัติต่อสินค้านำเข้า   เท่าเทียมกับสินค้าภายในประเทศ (National Treatment) ไม่ว่าจะเป็นการเก็บภาษีภายใน หรือการกำหนดกฎระเบียบต่าง ๆ

  • การกำหนดและบังคับใช้มาตรการทางการค้าจะต้องมี ความโปร่งใส (transparency) โดยประเทศสมาชิกจะต้องพิมพ์เผยแพร่กฎระเบียบ เกี่ยวกับมาตรการทางการค้าต่อสาธารณชน และแจ้งให้ประเทศสมาชิกอื่นๆ ทราบเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง
    เพื่อความโปร่งใสและสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ประกอบการค้าระหว่างประเทศ

  • คุ้มครองผู้ผลิตภายในด้วยภาษีศุลกากรเท่านั้น (tariff-only protection) โดยหลักการแล้ว WTO ห้ามใช้มาตรการจำกัดการนำเข้าและส่งออกทุกชนิด ยกเว้นกรณีที่สอดคล้องกับบทบัญญัติของ WTO มีสิทธิ์ใช้ข้อยกเว้นในกรณีฉุกเฉินและจำเป็น (necessary exceptions and emergency action) ประเทศสมาชิกสามารถใช้มาตรการคุ้มกันชั่วคราว ในกรณีที่มีการนำเข้ามากผิดปกติ และสามารถจำกัดการนำเข้าเพื่อ
    จุดประสงค์ในการแก้ไขการขาดดุลการชำระเงินระหว่างประเทศ หรือในกรณีที่เป็น   ข้อยกเว้นทั่วไป เช่น เพื่อรักษาสุขภาพของประชาชน สัตว์ และพืช เพื่อศีลธรรมอันดี และเพื่อความมั่นคงภายใน เป็นต้น

  • ส่งเสริมการแข่งขันทางการค้าที่เป็นธรรม (fair competition) ประเทศสมาชิกสามารถเก็บภาษีตอบโต้การทุ่มตลาด และ การอุดหนุน จากสินค้านำเข้าได้ หากมีการไต่สวนตามกฎเกณฑ์ของ WTO แล้วพบว่า ประเทศผู้ส่งออกมีการทุ่มตลาด หรือให้การอุดหนุนจริง และก่อให้เกิดความเสียหายต่ออุตสาหกรรมภายใน นอกจากนี้ ยังห้ามไม่ให้ ประเทศสมาชิกอุดหนุนการผลิตและการส่งออกจนบิดเบือนกลไกตลาด

  • ให้มีการรวมกลุ่มทางการค้าเพื่อลดภาษีระหว่างกันได้ หากมีวัตถุประสงค์เพื่อขยายการค้า แต่มีเงื่อนไขว่าการรวมกลุ่มต้องไม่มีจุดประสงค์เพื่อกีดกันการนำเข้าสินค้าจากประเทศนอกกลุ่ม (no trade blocs) และเมื่อรวมกลุ่มกันแล้วต้องไม่กระทบต่อผลประโยชน์เดิมของประเทศนอกกลุ่ม

  • มีกระบวนการยุติข้อพิพาททางการค้า (trade dispute settlement mechanism) เมื่อมีกรณีข้อขัดแย้งทางการค้า ให้หารือเพื่อหาทางยุติข้อพิพาท  หากไม่สามารถหาข้อสรุปได้ให้นำเรื่องเข้าสู่กระบวนการยุติข้อพิพาทของ WTO โดยการยื่นเรื่องต่อองค์กรระงับข้อพิพาท (dispute settlement body: DSB) ของ WTO เพื่อจัดตั้งคณะผู้พิจารณาขึ้นพิจารณากรณีดังกล่าว และรายงานผลให้ประเทศสมาชิกอื่นร่วมกันพิจารณาบังคับให้เป็นไปตามผลการพิจารณาของคณะผู้พิจารณา หากไม่ปฏิบัติตามคำตัดสิน ประเทศ.  ผู้เสียหายสามารถทำการตอบโต้ทางการค้าได้

  • ให้สิทธิพิเศษแก่ประเทศกำลังพัฒนาในการปฏิบัติตามพันธกรณี (special and differential treatment : S&D) ผ่อนผันให้ประเทศกำลังพัฒนามีระยะเวลาในการปฏิบัติตามพันธกรณีที่ยาวนานกว่า จำกัดการนำเข้าได้หากมีจุดประสงค์เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจ และรักษาเสถียรภาพดุลการชำระเงิน และให้โอกาสประเทศพัฒนาแล้วให้สิทธิพิเศษทางศุลกากร (GSP) แก่ประเทศกำลังพัฒนาได้ แม้จะขัดกับหลัก MFN ก็ตาม

f.jpg
pexels-pixabay-53176.jpg

การปฏิบัติงานของ WTO

หน้าที่หลัก

วัตถุประสงค์หลักของ WTO คือ ช่วยให้เกิดการไหลเวียนของการค้าเป็นอย่างราบรื่น เสรีและสามารถ
คาดหมายได้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์นี้ จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการ ดังนี้

  • การบริหารข้อตกลงการค้า

  • ทำหน้าที่เป็นเวทีสำหรับการเจรจาการค้า

  • การระงับข้อพิพาททางการค้า

  • การทบทวนนโยบายการค้าระดับประเทศ

  • การสร้างขีดความสามารถทางการค้าของประเทศกำลังพัฒนา

  • ร่วมมือกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ

โครงสร้าง Structure

องค์การการค้าโลกมีสมาชิก 164 ประเทศ คิดเป็นร้อยละ  98% ของการค้าโลกและมีอีก  22 ประเทศ
กำลังเจรจาเข้าเป็นสมาชิก (ข้อมูล ณ พฤษภาคม 2562) 
การตัดสินใจภายใต้องค์การการค้าโลกจะทำโดยใช้ฉันทามติ (consensus) การลงคะแนนสามารถกระทำได้ แต่ยังม่เคยใช้ใน WTO และหากไม่สามารถลงมติด้วยระบบฉันทามติได้ ก็ต้องเสนอเรื่องให้คณะมนตรีใหญ่หรือที่ประชุมรัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจต่อไป

ทั้งนี้ ความตกลงขององค์การการค้าโลกได้รับการให้สัตยาบันโดยสมาชิกทุกประเทศ


การตัดสินใจในระดับสูงสุดขององค์การการค้าโลก คือ การประชุมระดับรัฐมนตรี (Ministerial Meeting) ซึ่งโดยปกติจะมีการประชุมทุกสองปี


การปฏิบัติงานในระดับรองลงมา ได้แก่ คณะมนตรีใหญ่ (General Council) ซึ่งจะมีเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรประจำอยู่ที่นครเจนีวาและเจ้าหน้าที่ที่ส่งมาจากเมืองหลวงของสมาชิกเข้าร่วม และจะพบกันปีละหลายครั้ง ณ สำนักงานองค์การการค้าโลก นอกจากนี้  คณะมนตรีใหญ่ยังปฏิบัติหน้าที่ในฐานะเป็นองค์กรตรวจสอบนโยบายการค้า (Trade Policy Review Body) และองค์กรระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Body) ด้วย


การดำเนินการในลำดับถัดไป จะมีคณะมนตรีว่าด้วยการค้า  (Council  for Trade in Goods)
คณะมนตรีว่าด้วยการค้าบริการ  (Council  for  Trade  in  Services)
คณะมนตรีการค้าว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา (Council  for  Trade - Related  of Intellectual  Property  Rights) โดยจะต้องรายงานต่อคณะมนตรีใหญ่ นอกจากนี้ ยังมีคณะกรรมการพิเศษอีกเป็นจำนวนมาก คณะทำงานเฉพาะด้าน อาทิ สิ่งแวดล้อมการพัฒนา และข้อตกลงการค้าระดับภูมิภาค

da.jpg

ประเทศไทยกับ WTO

ประเทศไทยเป็นสมาชิกก่อตั้ง WTO ในลำดับที่ 59 โดยเป็นสมาชิกเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2537 ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศกำลังพัฒนา

ที่มีมูลค่าการค้าระหว่างประเทศค่อนข้างสูง และได้ใช้ประโยชน์จากกลไกของ WTO บ่อยครั้ง โดยประเทศไทยได้แสดงบทบาทในการปกป้อง

และรักษาผลประโยชน์ทางการค้า ทั้งด้านการส่งออกและด้านการให้ความคุ้มครองปกป้องสินค้าและบริการภายในประเทศที่มีความอ่อนไหว

ภายใต้กรอบ WTO โดยประการสำคัญประเทศไทยมีส่วนร่วมสนับสนุนระบบการค้าพหุภาคีและ WTO มาโดยตลอดโดยนอกจากจะดำเนินการ

ในนามของประเทศไทยแล้ว เพื่อให้การดำเนินการหรือผลักดันในประเด็นต่างๆ มีน้ำหนักมากยิ่งขึ้น

ประเทศไทยได้ร่วมกับประเทศสมาชิกรายอื่นดำเนินการในลักษณะกลุ่ม อาทิ

 

  • กลุ่ม ASEAN

  • กลุ่ม Cairns และกลุ่ม G20 ในการเจรจาสินค้าเกษตร

  • กลุ่ม AD Friends ในการเจรจากฎระเบียบเกี่ยวกับการทุ่มตลาด

  • กลุ่ม GI Friends ในการเจรจาทรัพย์สินทางปัญญาในประเด็นการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์

การปฏิบัติงานของ WTO

ความตกลงและกฎเกณฑ์ขององค์การการค้าโลกเป็นผลมาจากการเจรจาระหว่างสมาชิกในการเจรจารอบอุรุกวัย ระหว่างปี 2529-2537
และการแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีศุลกากรและการค้า (GATT)


การเจรจารอบอุรุกวัยได้สร้างกฎเกณฑ์ใหม่ ๆ สำหรับการค้าบริการ ทรัพย์สินทางปัญญา และกระบวนการระงับข้อพิพาท
เอกสารทั้งหมดมีจำนวนถึง 30,000 หน้า ประกอบด้วยความตกลงประมาณ 30 เรื่องและพันธกรณี (หรือเรียกันว่า ตารางข้อผูกพันต่าง ๆ)
ซึ่งสมาชิกแต่ละประเทศเป็นผู้จัดทำขึ้น อาทิ การลดภาษีศุลกากรและ การเปิดตลาดบริการ

สมาชิกจะปฏิบัติตามระบบการค้าโดยไม่เลือกปฏิบัติ ซึ่งจะระบุสิทธิ์และภาระหน้าที่ของสมาชิกผ่านความตกลงต่าง ๆ 
สมาชิกแต่ละประเทศจะได้รับการรับรองว่า การส่งออกจะได้รับการปฏิบัติอย่างยุติธรรมและต่อเนื่องในตลาดของสมาชิกอื่น ๆ
ในขณะเดียวกับ สมาชิกแต่ละประเทศก็จะดำเนินการในหลักการอย่างเดียวกันสำหรับการเข้าสู่ตลาด
ระบบนี้ยังช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนามีความยืดหยุ่นในการปฏิบัติตามข้อผูกพันอีกด้วย

pexels-pixabay-531765.jpg

สินค้า

ทุกอย่างเริ่มต้นจากการค้าสินค้า  ในช่วงปี 2490 ถึง 2537 GATT เป็นเวทีสำหรับการเจรจาลดภาษีศุลกากรและอุปสรรคทางการค้า บทบัญญัติของ GATT ได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่สำคัญ  ได้แก่ หลักการไม่เลือกปฏิบัติ ตั้งแต่ปี 2538 ได้มีความตกลงมาราเกรซเพื่อก่อตั้ง WTO และภาคผนวก (ซึ่งรวมบทบัญญัติของ GATT) ซึ่งได้กลายเป็นความตกลงหลักของ WTO  ในภาคผนวกจะมีบทบัญญัติที่เกี่ยวข้องกับสินค้า เช่น การเกษตรและประเด็นปัญหาเฉพาะ เช่น มาตรฐานผลิตภัณฑ์ การอุดหนุนและการดำเนินการกับการทุ่มตลาด ทั้งนี้ มีบทบัญญัติเพิ่มเติมล่าสุด ได้แก่ ความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า ซึ่งมีผลบังคับใช้ในปี 2560

บริการ

ธนาคาร บริษัทประกันภัย บริษัทด้านโทรคมนาคม ผู้ประกอบการท่องเที่ยว กลุ่มโรงแรม และบริษัทขนส่งที่ต้องการทำธุรกิจในต่างประเทศมีหลักการเช่นเดียวกันกับการค้าสินค้าที่เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งแต่เดิมใช้กับการค้าสินค้าเท่านั้น หลักการเหล่านี้ปรากฏในความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) สมาชิกองค์การการค้าโลกได้ทำข้อผูกพันของแต่ละประเทศภายใต้ GATS ซึ่งระบุว่าการเปิดให้มีการแข่งขันด้านบริการกับต่างประเทศ และวิธีการเปิดตลาด

pexels-ketut-subiyanto-4473273.jpg
pexels-pixabay-531768.jpg

ทรัพย์สินทางปัญญา

ความตกลงทรัพย์สินทางปัญญาของ WTO เป็นกฎเกณฑ์สำหรับการการค้าสำหรับความคิดและความคิดสร้างสรรค์ กฎเกณฑ์กล่าวถึง ทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งประกอบด้วยลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า ชื่อทางภูมิศาสตร์ที่ใช้ในการระบุผลิตภัณฑ์ การออกแบบอุตสาหกรรมและข้อมูลที่ไม่เปิดเผย เช่น ความลับทางการค้า  จะได้รับการคุ้มครองอย่างไร เมื่อมีการค้าเข้ามาเกี่ยวข้อง

การระงับข้อพิพาท

กระบวนการแก้ไขข้อพิพาททางการค้าเป็นข้อกำหนดใหม่ที่มีความสำคัญยิ่ง ความเข้าใจสำหรับการระงับข้อพิพาทเป็นบทบัญญัติสำคัญต่อการบังคับใช้กฎเกณฑ์และสร้างความมั่นใจว่า การค้าจะดำเนินไปอย่างราบรื่น รัฐบาลของประเทศสมาชิกจะนำข้อพิพาทเข้าสู่องค์การการค้าโลก หากคิดว่า สิทธิของตนภายใต้ข้อตกลงขององค์การการค้าโลกกำลังถูกละเมิด การตัดสินโดยผู้เชี่ยวชาญอิสระที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นพิเศษจะอยู่บนพื้นฐานของการตีความของความตกลงและพันธกรณีของสมาชิกแต่ละประเทศ กระบวนการระงับข้อพิพาทสนับสนุนให้สมาชิกยุติข้อขัดแย้งผ่านการปรึกษาหารือ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงได้ สมาชิกก็จะต้องดำเนินการตามกระบวนการในแต่ละขั้น ซึ่งรวมถึงความเป็นไปได้ในการพิจารณาคดีโดยคณะผู้พิจารณา และโอกาสที่จะอุทธรณ์คำวินิจฉัยทางกฎหมาย  หลังจากมีกระบวนการระงับข้อพิพาทแล้ว สมาชิกมีความเชื่อมั่นในระบบนี้ ซึ่งสะท้อนจากจำนวนคดีที่นำมาสู่ WTO มากกว่า 500 คดีนับตั้งแต่ก่อตั้ง WTO เมื่อเปรียบเทียบมีข้อพิพาทเพียง 300 คดีในช่วงเวลาของ GATT (2490-2537)

pexels-photo-6077189.jpeg
pexels-pixabay-5317699.jpg

การตรวจสอบนโยบายทางการค้า

กลไกการทบทวนนโยบายการค้าของ WTO ออกแบบมาเพื่อปรับปรุงความโปร่งใส เพื่อสร้างความเข้าใจที่ดีขึ้นเกี่ยวกับนโยบายการค้าที่สมาชิก WTO นำมาใช้และประเมินผลกระทบ สมาชิกหลายประเทศเห็นว่า การทบทวนนโยบายการค้าเป็นผลสะท้อนจากความคิดเห็นเชิงสร้างสรรค์ต่อนโยบาย สมาชิกองค์การการค้าโลกทุกประเทศจะต้องผ่านการตรวจสอบนโยบายการค้าเป็นระยะ ๆ ในการตรวจสอบ จะมีการจัดรายงานโดยสมาชิกที่เกี่ยวข้องและฝ่ายเลขาธิการองค์การการค้าโลก นอกจากนี้ องค์การการค้าโลกจะดำเนินการติดตามมาตรการทางการค้าโลกอย่างสม่ำเสมอ โดยเริ่มเปิดตัวครั้งแรกเมื่อเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินในปี 2551 การดำเนินการตรวจสอบการค้าโลกนี้ได้กลายเป็นการดำเนินการอย่างปกติของ WTO โดยมีจุดประสงค์เพื่อเน้นการดำเนินงานของสมาชิก WTO ในเรื่องมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าและการจำกัดทางการค้า

ประเทศไทยได้ประโยชน์อะไรจาก WTO

การที่ประเทศไทยเป็นสมาชิก WTO ทำให้มีตลาดที่เปิดกว้างขึ้น โดยสามารถทำการค้ากับประเทศสมาชิกอื่นในทุกภูมิภาคทั่วโลกได้อย่างเสรีและเป็นธรรมยิ่งขึ้น เนื่องจากหลักการและกฎระเบียบทางการค้าระหว่างประเทศของ WTO ช่วยในการลดอุปสรรคทางการค้าทั้งที่เป็นภาษีและที่ไม่ใช่ภาษี
รวมทั้งช่วยสร้างความโปร่งใสในระบบการค้า อันเป็นการเสริมสร้างขีดสมรรถนะในการแข่งขันในเวทีการค้าโลก เพิ่มความมั่นใจให้แก่ผู้ค้าและผู้ลงทุน
ทำให้ผู้ผลิตและผู้ส่งออกสามารถคาดการณ์และวางแผนการค้าล่วงหน้าได้ และทำให้ผู้บริโภคมีทางเลือกจากการมีผู้ประกอบการเพิ่มขึ้น
ตลอดจนได้รับสินค้าและบริการที่มีคุณภาพมากขึ้นและราคาถูกลง นอกจากนี้การมีกลไกระงับข้อพิพาททางการค้าของ WTO ทำให้ประเทศสมาชิก
รวมทั้งไทย มีสิทธิขอให้มีการตัดสินข้อพิพาท โดยฝ่ายที่สาม กล่าวคือ คณะผู้พิจารณา (Panel) และสามารถอุทธรณ์คำตัดสินของคณะผู้พิจารณา
ต่อองค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ในกรณีที่สมาชิกเห็นว่า อีกฝ่ายใช้มาตรการที่กีดกันหรือบิดเบือนการค้าและขัดกับความตกลง
ในกรอบองค์การการค้าโลก ซึ่งในอดีตที่ผ่านมาประเทศไทยได้รับประโยชน์และชนะคดีที่ประเทศอื่นๆ กีดกันหรือบิดเบือนการค้าหลายกรณี เช่น

  • กรณีที่สหรัฐฯ นำเรื่องการอนุรักษ์เต่าทะเลมาเป็นข้ออ้างใน
    การกีดกันการนำเข้ากุ้ง ซึ่งไทยยกเรื่องขึ้นฟ้องใน WTO ร่วมกับมาเลเซีย อินเดีย และปากีสถาน

  • กรณีพิพาทเรื่องน้ำตาล ไทยร่วมกับออสเตรเลีย และบราซิล ฟ้องสหภาพยุโรปที่ให้การอุดหนุนส่งออกน้ำตาล

  • กรณีพิพาทเรื่องไก่หมักเกลือ ไทยและบราซิลขอให้ WTO จัดตั้งคณะผู้พิจารณาเพื่อตัดสินกรณีสหภาพยุโรปจัดประเภท (classification) สินค้าไก่หมักเหลือ (salted meat) ของไทยไว้ภายใต้ประเภทไก่แช่แข็ง (frozen meat) ทำให้สินค้าไก่จากไทยถูกเก็บอากรศุลกากรในอัตราที่ไม่เป็นธรรม

  • กรณีกฎหมาย Byrd Amendment ของสหรัฐฯ ไทยได้ร่วมกับสมาชิก WTO อื่น เช่น สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น บราซิล เกาหลี อินเดีย และออสเตรเลีย เป็นต้น ฟ้องสหรัฐฯ เรื่องกฎหมาย Byrd Amendment ที่สหรัฐฯ นำเงินรายได้จากการการเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด มาตั้งเป็นกองทุนเพื่อช่วยเหลืออุตสาหกรรมภายใน

  • กรณีที่สหรัฐฯ ใช้วิธี zeroing ในการคำนวณส่วนเหลื่อมการทุ่มตลาดและใช้มาตรการ C-Bond ในการเก็บอากรตอบโต้การทุ่มตลาด โดยไทยร่วมกับอินเดียฟ้องสหรัฐฯ ในเรื่องนี้

bottom of page