top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

งานประชุมเสวนา TRIP@25 – Virtual Symposium

งานประชุมเสวนา TRIP@25 – Virtual Symposium:

Celebrating 25 years of the TRIPS Agreement ว่าด้วยเรื่องความตกลงทริปส์ในยุคดิจิทัล



เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา องค์การการค้าโลกหรือ World Trade Organization (WTO) ได้มีการจัดประชุมสัมมนาออนไลน์ในหัวข้อ TRIP@25: Virtual Symposium: Celebrating 25 years of the TRIPS Agreement ซึ่งจัดขึ้นเนื่องในโอกาสฉลองครบรอบ 25 ปี ของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า หรือที่เรียกว่า ความตกลงทริปส์ (TRIPS Agreement) โดยงานประชุมสัมมนาครั้งนี้ได้แบ่งออกเป็นสองช่วง ช่วงเช้าในประเด็นของการทำงานของภาคส่วนต่าง ๆ ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับความตกลงทริปส์และการสะท้อนแง่คิดต่าง ๆ ในประเด็นการบังคับใช้ความตกลงทริปส์ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา รวมถึงตัวอย่างที่น่าสนใจ โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนาในช่วงเช้าอย่าง Mr. Xiaozhun Yi รองผู้อำนวยการใหญ่ WTO และช่วงบ่ายนั้นจะเป็นประเด็นของการปรับใช้งานความตกลงทริปส์ในปัจจุบันและการเปลี่ยนแปลงบทบาทของความตกลงทริปส์ในอนาคต โดยมี ศาสตราจารย์ Martin Senftleben ผู้อำนวยการ Institute for Information Law (IViR) , ศาสตราจารย์ด้านทรัพย์สินทางปัญญา, มหาวิทยาลัยอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์เป็นผู้นำเสนอประเด็นบทบาทของความตกลงทริปส์ในยุคดิจิทัล


หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ถูกพูดถึงเป็นอย่างมากในงานประชุมเสวนานี้ คือบทบาทของความตกลงทริปส์ต่อ E-Commerce และโลกออนไลน์ เนื่องจากความตกลงทริปส์ถูกสร้างขึ้นเพื่อครอบคลุมการคุ้มครองสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงกว้าง ครอบคลุมทุกสาขาอุตสาหกรรมในระดับสากล แต่ทว่าด้วยการมีบทบาทที่มากขึ้นของโลกอินเทอร์เน็ตและผู้ให้บริการด้านแพลตฟอร์มต่าง ๆ เข้ามามีบทบาทในการเผยแพร่โฆษณาและเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้งานในการจัดสร้างโฆษณาแบบเฉพาะเจาะจงกับความต้องการและความสนใจของผู้ใช้งาน ซึ่งศาสตราจารย์ Martin Senftleben ได้ให้ความเห็นว่า E-commerce หรือ แพลตฟอร์มออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ได้อยู่ในการครอบคลุมของความตกลงทริปส์ที่ใช้อยู่ในปัจจุบันทั้งหมด และยังเกิดช่องโหว่ทางการขายสินค้าหรือโฆษณาสินค้าผ่านแพลตฟอร์มต่าง ๆ ดังกล่าว ศาสตราจารย์ Martin ได้กล่าวเพิ่มเติมว่าในปัจจุบันนั้นสื่อโฆษณาและการเข้าถึงสินค้าและผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ เปลี่ยนไปอย่างมากและผู้บริโภคเองก็กำลังเปลี่ยนนิสัยการบริโภคของตัวเองตามสภาพตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป แบรนด์และธุรกิจต่าง ๆ ต้องแข่งขันกันมากขึ้นในช่องทางใหม่ แต่ทว่าด้วยช่องทางใหม่และเทคโนโลยีใหม่ ทำให้เห็นว่าความตกลงในอดีตอาจไม่สามารถนำมาปรับใช้ในโลกดิจิทัลได้ ยกตัวอย่างเช่น การขายสินค้าแบรนด์ต่าง ๆ ใน E-commerce โดยที่ผู้บริโภคไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าแบรนด์หรือสินค้าดังกล่าวเป็นของแท้หรือเป็นของปลอม หรือในกรณีของการค้นหาสินค้าต่างๆ บน Search Engine อย่าง Google ก็จะมีแบรนด์อื่น ๆ ที่เราไม่ได้หาเข้าแทรกเข้ามาในผลลัพธ์การค้นหาอีกด้วย ซึ่งทำให้มีคำถามต่าง ๆ ตามมาว่า กรณีเช่นนี้ถือว่าแบรนด์ต่าง ๆ ถูกละเมิดหรือเอาเปรียบหรือไม่ แล้วผู้ที่รับผิดชอบคือใคร โดยศาสตราจารย์ Martin ได้กล่าวทิ้งท้ายในประเด็นขององค์การค้าโลกควรเตรียมตัวในการปรับเปลี่ยนและเพิ่มบทบัญญัติในความตกลงทริปส์เพื่อให้ครอบคลุมถึงการค้าออนไลน์มากขึ้น


ในส่วนของประเทศไทย แพลตฟอร์ม E-commerce ได้เข้ามามีบทบาทขึ้นอย่างเห็นได้ชัด อันเป็นปรากฏการณ์ใหม่ในโลกดิจิทัล ผู้บริโภคเข้าถึงตัวเลือกต่าง ๆ ได้มากขึ้นและง่ายดายขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ผู้ประกอบการเองก็สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคผ่านช่องทางใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นและสื่อสารกับผู้บริโภคได้แม่นยำขึ้น แต่ทว่าอย่างที่กล่าวไปในประเด็นของ ความตกลงทริปส์และโลกดิจิทัล การเข้าถึงสินค้าได้ง่ายขึ้นหรือซื้อสินค้าผ่านโลกออนไลน์อาจนำไปสู่การเข้าใจผิดและการถูกเอาเปรียบจากผู้ประกอบการที่ไม่ทำการค้าแบบสุจริตได้ อย่างในแพลตฟอร์มซื้อขายสินค้าออนไลน์นั้นเราไม่สามารถแยกแยะระหว่างสินค้าของแท้หรือของปลอมและอาจมีการโฆษณาชวนเชื่อหรืออวดอ้างสรรพคุณที่เกินจริง ซึ่งนำไปสู่การเข้าใจผิดเกี่ยวกับแบรนด์นั้น ๆ ได้ ซึ่งประเด็นข้อห่วงกังวลเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภคในมิติที่เกี่ยวข้องกับด้านทรัพย์สินทางปัญญา และการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น สมาชิก WTO 86 ประเทศ รวมทั้งไทย อยู่ระหว่างการเดินหน้าเจรจาจัดทำกฎเกณฑ์ดังกล่าวภายใต้ความตกลง E-commerce เพื่อให้มีกฎเกณฑ์ทางการค้าออนไลน์ที่เสริมสร้างบรรยากาศที่เอื้อต่อการค้าในยุคดิจิทัล ซึ่งรวมถึงการปกป้องสิทธิด้านทรัพย์สินทางปัญญาในโลกการค้าออนไลน์เอาไว้ด้วย


64 views0 comments
bottom of page