top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

การประชุมเตรียมการสำหรับการจัดทำความตกลงด้านทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม



องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) กำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการร่วมระหว่างรัฐว่าด้วยทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และ การแสดงออกทางวัฒนธรรมดั้งเดิม สมัยพิเศษ (Special Session of the Intergovernmental Committee on Intellectual Property and Genetic Resources, Traditional Knowledge and Folklore: IGC Special Session) ระหว่างวันที่ 4-8 กันยายน 2566 และการประชุมเตรียมการ (Preparatory Committee) ของการประชุมทางการทูต (Diplomatic Conference) ระหว่างวันที่ 11-13 กันยายน 2566 ณ สำนักงานใหญ่ WIPO

การจัดการประชุมดังกล่าวเป็นผลจากมติของที่ประชุมสมัชชาใหญ่ (General Assembly: GA) ของ WIPO เมื่อเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งกำหนดให้มีการจัดประชุม Diplomatic Conference เพื่อสรุปผลความตกลงระหว่างประเทศเกี่ยวกับทรัพย์สินทางปัญญา ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม (International Legal Instrument Relating to Intellectual Property, Genetic Resources and Traditional Knowledge Associated with Genetic Resources) ภายในปี 2567 (ค.ศ. 2024)

การหารือและการเจรจาจัดทำร่างความตกลงฯ เริ่มต้นขึ้นเมื่อปี 2543 (ค.ศ. 2000) โดยได้มีการจัดตั้ง IGC ตามมติของที่ประชุม GA ของ WIPO ในปีดังกล่าว และได้เริ่มการเจรจาเพื่อจัดทำเนื้อหาร่างความตกลงฯ ครั้งแรกในปี 2553 (ค.ศ. 2010) โดยเนื้อหาในส่วนของร่างความตกลงสำหรับในส่วนของทรัพยากรพันธุกรรม (Genetic Resources: GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม (Traditional Knowledge Associated with Genetic Resources: ATK) ได้มีการจัดทำร่างสำหรับการเจรจาเมื่อปี 2555 (ค.ศ. 2012) และต่อมา เมื่อปี 2562 (ค.ศ. 2020) ประธานการประชุม IGC ในช่วงนั้น คือ นาย Ian Goss ได้จัดทำร่างความตกลงฯ ขึ้น โดยเรียกกันทั่วไปว่า Chair’s Text โดย Chair’s Text นี้ จะเป็นเอกสารสำหรับการเจรจาในช่วงการประชุมสมัยพิเศษฯ ตามมติของที่ประชุม GA เมื่อปี 2565


สาระสำคัญของ Chair’s Text สรุปได้ตามข้อบทหลัก ๆ ดังนี้


1. วัตถุประสงค์ (Objectives): ในร่าง Chair’s Text ได้ร่างเนื้อหาโดยระบุว่า ร่างความตกลงฯ มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความโปร่งใส และคุณภาพของระบบสิทธิบัตร ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม (GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม (ATK) ป้องกันการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรที่ผิดพลาด โดยการขอรับสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์ฯ ที่ไม่ใหม่ (novel) และไม่ได้เป็นความสร้างสรรค์ (inventive)


2. การบังคับให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาในการขอสิทธิบัตร (Mandatory Patent Disclosure Requirement): ในร่าง Chair’s Text กำหนดให้ผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตรต้องเปิดเผยประเทศต้นทาง (Country of Origin) ของทรัพยากรพันธุกรรม (GRs) และ/หรือชนพื้นเมือง (Indigenous Peoples) หรือชุมชนท้องถิ่น (Local Communities) ที่ให้ภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม (ATK) หากการประดิษฐ์ที่ต้องการจดสิทธิบัตรนั้น มีการใช้/ประดิษฐ์โดยตรง (materially/directly based on) จากทรัพยากรพันธุกรรม (GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม (ATK) โดยหากไม่ทราบข้อมูลดังกล่าว ควรมีการเปิดเผยแหล่งที่มา (source) ของทรัพยากรพันธุกรรม (GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม (ATK) หากไม่ทราบข้อมูลดังกล่าวข้างต้น ผู้ยื่นคำขอสิทธิบัตรควรแจ้งว่า ไม่ทราบข้อมูลดังกล่าว และสำนักงานจดสิทธิบัตรควรให้คำแนะนำในเรื่องดังกล่าวแม้จะไม่มีภาระผูกพันในการตรวจสอบความถูกต้องของการเปิดเผยข้อมูลของแหล่งที่มา


3. บทกำหนดโทษและการชดเชย (Sanctions and Remedies): ร่าง Chair’s Text กำหนดว่า การไม่ปฏิบัติตามมาตรการเกี่ยวกับการเปิดเผยแหล่งที่มาในการขอสิทธิบัตรจะมีการกำหนดมาตรการลงโทษที่เหมาะสมตามกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ โดยผู้ยื่นจดสิทธิบัตรจะมีโอกาสที่จะแก้ไขข้อมูลการไม่เปิดเผยแหล่งที่มา และหากมีการหลอกลวง (fraudulent intent) ในการเปิดเผยแหล่งที่มา อาจให้มีการเพิกถอน (revoked) สิทธิบัตรหรือไม่สามารถบังคับใช้สิทธิบัตรได้ อย่างไรก็ดี ประเทศภาคีไม่สามารถเพิกถอนสิทธิบัตรหรือไม่ให้มีการบังคับใช้สิทธิบัตรได้โดยอาศัยเหตุจากการไม่เปิดเผยแหล่งที่มาเพียงอย่างเดียวได้


4. การไม่มีผลบังคับย้อนหลัง (Non-retroactivity): ร่าง Chair’s Text กำหนดว่า จะไม่มีผลบังคับย้อนหลังกับ การขอรับสิทธิบัตรที่ยื่นไว้ก่อนการให้สัตยาบันและการภาคยานุวัติร่างความตกลงฯ


5. การจัดทำระบบข้อมูล (Information Systems): ร่าง Chair’s Text ระบุคำแนะนำให้มีการจัดทำระบบข้อมูล เช่น ฐานข้อมูล (Databases) ของทรัพยากรพันธุกรรม (GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม (ATK) โดยให้มีการหารือกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง โดยระบบข้อมูลดังกล่าวสามารถเข้าถึงได้โดยสำนักงานสิทธิบัตรเพื่อค้นหาและตรวจสอบคำขอรับสิทธิบัตร


6. การทบทวน (Review): ร่าง Chair’s Text ระบุให้มีการทบทวนขอบเขตและเนื้อหาของร่างความตกลงฯ ในบางประเด็น อาทิ การขยายข้อกำหนดเกี่ยวกับการเปิดเผยที่มาที่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สินทางปัญญาและ สารอนุพันธ์ (derivatives) และประเด็นที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการใช้ความตกลงฯ ภายในระยะเวลาไม่เกินสี่ปีหลังจากมีผลบังคับใช้


ทั้งนี้ การประชุมสมัยพิเศษฯ จะมีวาระการพิจารณาตัวเนื้อหาหลักของร่างความตกลงฯ และการประชุม เตรียมการฯ จะมีวาระการพิจารณามติของที่ประชุมสมัยพิเศษฯ และพิจารณาร่างข้อบทสุดท้าย (Final Clause) ของร่างความตกลงฯ และระเบียบวิธีการประชุม (Rules of Procedure) ของการประชุม Diplomatic Conference ซึ่งกำหนดจัดขึ้นภายในปี 2567


หากประเทศสามารถสมาชิกสรุปผลการจัดทำร่างความตกลงฯ เป็นผลสำเร็จตามกรอบเวลาแล้ว เชื่อได้ว่า ร่างความตกลงฯ จะก่อให้เกิดประโยชน์ในหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ร่างความตกลงฯ จะช่วยส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากระบบทรัพย์สินทางปัญญาที่กว้างขวางมากขึ้น และเอื้อต่อการสร้างความเสมอภาคและรักษาสมดุลระหว่างผลประโยชน์ (interests) และสิทธิ์ (rights) ของผู้ให้และผู้ใช้ประโยชน์จากทรัพยากรพันธุกรรม (GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม (ATK) ซึ่งเป็นข้อเรียกร้องของประเทศกำลังพัฒนาที่มีมาอย่างยาวนาน นอกจากนี้ การบังคับให้มีการเปิดเผยแหล่งที่มาในการขอสิทธิบัตรจะช่วยให้เกิด ความโปร่งใสเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรพันธุกรรม (GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม (ATK) ภายใต้ระบบสิทธิบัตร ซึ่งการจัดทำและปรับปรุงระบบดังกล่าวจะช่วยอำนวยความสะดวกสำหรับ การแบ่งปันผลประโยชน์ (Benefit-sharing) และการป้องกันการรับจดทะเบียนสิทธิบัตรที่ผิดพลาด (Erroneous Patents) และการยักยอกใช้ (Misappropriation) ทรัพยากรพันธุกรรม (GRs) และภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรพันธุกรรม (ATK) ด้วย

61 views0 comments
bottom of page