top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

WIPO เปิดตัวรายงานสถานการจดทะเบียนสิทธิบัตรเกี่ยวกับวัคซีนและการรักษาโรคโควิด-19



เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2566 องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ได้จัดงานเปิดตัวรายงานสถานะการจดทะเบียนสิทธิบัตรที่เกี่ยวกับวัคซีนและการรักษาโรคโควิด-19 (WIPO Patent Landscape Report on COVID-19 Vaccines and Therapeutics พร้อมทั้งได้จัดให้มีการอภิปราย (Panel Discussion) ในหัวข้อ Developments in Technology and Partnerships & Collaborations โดยมีผู้แทนจากองค์การระหว่างประเทศและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วม


Mr. Andrew Czajkowski ผู้แทนจาก WIPO ได้นำเสนอสาระสำคัญของรายงาน WIPO Patent Landscape Report on COVID-19 Vaccines and Therapeutics Insights on Related Patenting Activity Throughout the Pandemic โดยกล่าวว่า รายงานฉบับนี้เป็นการต่อยอดจากรายงานฉบับเดิม ซึ่งมีการนำเสนอต่อสาธารณะเมื่อเดือนมีนาคม 2564 และได้มีการเริ่มเก็บข้อมูลสำหรับการจัดทำรายงานฉบับนี้ ในช่วงระหว่างวันที่ 9 มกราคม 2563 - กันยายน 2565 โดยรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องจากสำนักงานจดสิทธิบัตรจากทั่วโลก

ในภาพรวม มีการยื่นจดสิทธิบัตรวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 ช่วงระหว่างปี 2563-2565 จากทั่วโลก รวม 7,758 รายการ แยกเป็นคำขอจดสิทธิบัตรวัคซีน 1,298 รายการ และยารักษาโรคโควิด-19 รวม 4,787 รายการ โดยประเภทของวัคซีนที่มีการพัฒนาและยื่นขอจดสิทธิบัตรมากที่สุด ได้แก่ (1) Protein Subunit Vaccines (คิดเป็นร้อยละ 47 ของข้อมูลที่มีการยื่นคำขอจดสิทธิบัตรทั้งหมด) (2) Viral Vector (3) RNA (โดย Covid-19 mRNA Vaccines มีการจดทะเบียนส่วนใหญ่ในประเทศตะวันตก โดยคิดเป็นร้อยละ ๑๑ ของการยื่นขอจดทะเบียนสิทธิบัตรทั้งหมด) (4) Inactivated Virus (5) DNA Vaccine (6) Virus like Particle (7) Antigen Presenting Cell (8) Live Attenuated Virus และ (9) ประเภทอื่น ๆ ขณะที่ยารักษาโรคโควิด-19 ที่มีการพัฒนาและยื่นขอจดสิทธิบัตร มากที่สุด ได้แก่ (1) Small Molecules Therapeutics (2) Biologic Therapeutics (3) Peptides/Proteins Biologic Therapeutics (4) Antibodies Biologic Therapeutics (5) Nucleic-acid-based-therapeutics (6) Cell Therapies (7) Other Biologic Therapeutics (8) Traditional Medicine และ (9) ประเภทอื่น ๆ


บริษัทผู้ผลิตยา และหน่วยงานวิจัย เป็นผู้ที่ยื่นขอจดสิทธิบัตรมากที่สุด โดยร้อยละ 52 ของการยื่นจดสิทธิบัตรวัคซีนมาจากบริษัทผู้ผลิตยา ขณะที่ร้อยละ 42 มาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย ขณะที่ร้อยละ 49 ของการยื่นจดสิทธิบัตรยารักษาโรคโควิด-19 มาจากบริษัทยา ตามด้วยร้อยละ 38 มาจากมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัย และร้อยละ 12 มาจากนักวิจัยอิสระ ทั้งนี้ จีนเป็นผู้นำในการยื่นขอจดสิทธิบัตรวัคซีนโควิด-19 ตามด้วยสหรัฐฯ เยอรมนี และเกาหลีใต้ ขณะที่ จีนยังเป็นผู้นำในการยื่นจดสิทธิบัตรยารักษาโรคโควิด-19 ด้วย ตามด้วยสหรัฐฯ เกาหลีใต้ และอินเดีย


จากนั้น ได้มีการจัดการการอภิปราย (Panel Discussion) ในหัวข้อ – Developments in Technology and partnerships & collaborations เริ่มจาก Ms. Molly Strausbaugh ผู้แทนจาก American Chemical Society (CAS) ซึ่งได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับ trends ของการพัฒนาวัคซีนว่า โลกตะวันตกยังคงเน้นที่ Protein Subunit Vaccines, Viral Vector และ RNA เป็นหลัก ขณะที่การพัฒนายารักษาโรคโควิด-19 ยังคงเน้นที่การพัฒนา Small Molecules นอกจากนี้ เป็นที่น่าสังเกตว่า ทั่วโลกมีแนวโน้มการพัฒนาใช้ Traditional Medicines และยารักษาอาการ Long Covid เพิ่มมากขึ้น อย่างไรก็ดี หากมีการเก็บข้อมูลในช่วงเวลาที่ยาวนานขึ้น จะเป็นประโยชน์สำหรับการเรียนรู้ในภาพรวมเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงและการให้ความสำคัญต่อการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคในแต่ละประเภทที่มีการปรับเปลี่ยนในแต่ละช่วงเวลามากขึ้น


ขณะที่ Mr. Antony Taubman ผู้แทนจาก WTO เห็นว่า ข้อมูลจากรายงานฯ โดยเฉพาะในเรื่องการจดทะเบียนสิทธิบัตรการอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licensing) และข้อมูลเกี่ยวกับสิทธิบัตร รวมถึงการเปลี่ยนแปลงในแง่ของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสิทธิบัตร จะเป็นประโยชน์สำหรับประเทศสมาชิก WTO โดยเฉพาะในการหารือภายใต้กรอบการประชุมคณะมนตรี TRIPS ซึ่งได้มีพลวัตของการอภิปรายร่วมกันเกี่ยวกับการพิจารณาขยายกำหนดเวลาพิจารณาขยายขอบเขต การบังคับใช้ข้อตัดสินใจรัฐมนตรีว่าด้วยความตกลง TRIPS ไปยังผลิตภัณฑ์เพื่อการวินิจฉัย (diagnostics) และการรักษาตามมติของที่ประชุม MC12 นอกจากนี้ รายงานฯ ยังเป็นประโยชน์สำหรับการพิจารณาในเรื่องการให้ความช่วยเหลือทางวิชาการระหว่างกัน การส่งเสริมการพัฒนา Traditional Medicines และการส่งเสริมความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสาธารณสุขในรูปแบบของความร่วมมือระหว่างภูมิภาคที่กว้างขวางขึ้น เนื่องจากรูปแบบความร่วมมือในการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-๑๙ ในปัจจุบันเป็นความร่วมมือภายในภูมิภาคอเมริกาเหนือ ยุโรปและเอเชียตะวันออกเป็นหลัก


Mr. Esteban Burrone ผู้แทนจาก Medicines Patent Pool เห็นว่า ในช่วงปลายปี 2563 จนถึงต้นปี 2564 มีการผลิตวัคซีนออกมาค่อนข้างช้า และประเทศที่มีรายได้น้อยไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 ได้ง่าย โดยในช่วงดังกล่าว คนส่วนใหญ่มองว่า การอนุญาตให้ใช้สิทธิ (licensing) และการถ่ายทอดเทคโนโลยีจะเป็นทางออกเดียวในการแก้ปัญหาดังกล่าว จากนั้น ได้เริ่มมีการพัฒนาวัคซีนและยารักษาโรคโควิด-19 ในประเภทต่าง ๆ อย่างรวดเร็วและมีจำนวนมาก และทำให้หลายฝ่ายตระหนักถึงบทบาทสำคัญของการถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านสุขภาพว่า มีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง พร้อมทั้งได้ยกตัวอย่างของรัฐบาลแอฟริกาใต้ที่ดำเนินโครงการรับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีน mRNA ซึ่งเป็นรูปแบบที่ดีในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศรายได้ปานกลางกับบริษัทผู้ผลิตวัคซีน


Ms. Erika Dueñas Loayza ผู้แทนจาก WHO เห็นว่า การจัดทำรายงานฯ สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของยุทธศาสตร์และแผนปฏิบัติการด้านสาธารณสุข นวัตกรรมและทรัพย์สินทางปัญญาของ WHO ในเรื่องความโปร่งใส และเป็นหนึ่งในแนวปฏิบัติที่ดีในเรื่องการสนับสนุนการเข้าถึงเทคโนโลยีด้านสุขภาพ โดย WHO เน้นเรื่องความโปร่งใสตลอดห่วงโซ่คุณค่าของการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีการทดลองทางคลินิก ข้อมูลสถานะสิทธิบัตรและการออกใบอนุญาตให้ใช้สิทธิของเทคโนโลยีด้านสุขภาพ และยินดีที่จะร่วมมือกับ WIPO และหน่วยงานอื่นในการเชื่อมโยงข้อมูลดังกล่าว รวมถึงการส่งเสริมให้มีการหารือในเรื่องการให้ความคุ้มครองภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่ผู้คิดค้น (Originator) ของ Traditional Medicines โดยให้มีกฎหมายเฉพาะ (sui generis) ซึ่งมีการหารืออยู่ในกรอบ WIPO นอกจากนี้ ที่ผ่านมา หน่วยงานต่าง ๆ ของโลกได้เผชิญกับความท้าทายในเรื่องความเชื่อมโยงระหว่างด้านสาธารณสุข ทรัพย์สินทางปัญญาและการค้า ในช่วงการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ขณะที่ในปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับวิกฤตของการระบาดของโรคโควิดและไวรัสตับอักเสบ จึงมีความจำเป็นที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องหารือและดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้เกิดความเสมอภาคในการเข้าถึงยาและการรักษาโรคต่าง ๆ ทั้งในรูปแบบของกลไกความสมัครใจและการจัดทำมาตรการบังคับในอนาคต


Mr. Siddhartha Prakash ผู้แทนจาก Global Challenges Division, WIPO ชี้ว่า ร้อยละ 10 ของการจดทะเบียนสิทธิบัตรยาทั้งหมดเป็นการจดสิทธิบัตร Traditional Medicines ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงมากในอินเดียและจีน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนายาดังกล่าวและการหารือในกรอบของการประชุม IGC ขณะเดียวกัน รายงานฯ ได้สะท้อนให้เห็นถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงยารักษาโรคโควิด โดยมีประชากรเพียงร้อยละ 3 ในประเทศรายได้ต่ำสามารถเข้าถึงวัคซีนเข็มแรกได้ และประเทศในแอฟริกา เอเชียกลางและอเมริกาใต้มีการจดทะเบียนสิทธิบัตรเพียงร้อยละ 3 ขณะที่ในเอเชีย อเมริกาเหนือและยุโรป มีการดำเนินการในสัดส่วนสูงถึงร้อยละ 97 ในส่วนของความร่วมมือระหว่างภาครัฐและบริษัทผู้ผลิตยากับมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยนั้น ในหลายประเทศได้มีการดำเนินการในรูปของความร่วมมือระหว่างภูมิภาคและความร่วมมือทวิภาคี รวมถึงมีการให้ทุนสำหรับการวิจัยจากองค์กรและรัฐบาลต่าง ๆ ซึ่งจะเป็นพื้นฐานที่ดีสำหรับการลดความท้าทายด้านสาธารณสุขใหม่ ๆ เช่น Antimicrobial Resistance (AMR) และการรักษาโรคอื่น เช่น โรคเบาหวาน และโรคมะเร็ง เป็นต้น

ผู้ที่สนใจสามารถเรียกดูข้อมูลรายละเอียดรายงานฯ และการนำเสนอ PPT Presentation ได้จากเว็บไซต์ https://www.wipo.int/edocs/mdocs/mdocs/en/wipo_ip_covid_ge_22/publication_1075_e.pdf และ https://webcast.wipo.int/video/COVID_19_2023-04-20_PM_119098

102 views0 comments
bottom of page