Image from freepik.com
ภายใต้กรอบคณะกรรมการด้านการค้าและสิ่งแวดล้อม (Trade and Environment Committee: CTE) ขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ได้มีการหารือระหว่างสมาชิกในเรื่องมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมและการเปิดตลาด โดยเฉพาะในประเด็นเรื่องแผนปฏิรูปยุโรปสีเขียวของสหภาพยุโรป (European Green Deal: EGD) มาโดยตลอด
โดยในการประชุม CTE ล่าสุด เมื่อเดือนเมษายน 2567 ได้มีการหารือในเรื่องดังกล่าวอีกครั้ง โดยผู้แทนของสหภาพยุโรปได้บรรยายสรุปถึงความคืบหน้าของการดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM) กฎระเบียบว่าด้วยเรื่องสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (The European Union Deforestation Regulations: EUDR) กฎระเบียบว่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์อย่างยั่งยืน (The Eco-Design for Sustainable Products Regulation: ESPR) และกฎระเบียบว่าด้วยการควบคุมการขนย้ายของเสีย (The Waste Shipment Regulation: WSR)
เป้าหมายของมาตรการ CBAM นั้น มีเพื่อป้องกันการรั่วไหลของคาร์บอน และเพื่อให้มั่นใจว่า การดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศและเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของสหภาพยุโรปอย่างน้อยร้อยละ 55 ภายในปี 2573 จะเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งช่วยส่งเสริมการพัฒนาระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Trading System: ETS) และการบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ของสหภาพยุโรปภายในปี 2593
ขณะนี้ การบังคับใช้มาตรการ CBAM อยู่ในระยะเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2566–31 ธันวาคม 2568 จัดเป็นช่วงเริ่มต้นที่กำหนดให้ผู้นำเข้าสินค้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของสินค้า หรือที่เรียกว่า Embedded Emission ก่อนจะเข้าสู่ระยะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบนับจาก 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ระยะนี้ผู้นำเข้านอกจากจะต้องรายงาน Embedded Emission แล้ว ยังต้องแสดงหลักฐานการจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน หรือ CBAM Certificate ด้วย โดยราคาค่าธรรมเนียมจะอ้างอิงจากราคาเฉลี่ยรายสัปดาห์ของการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของสหภาพยุโรป (Weekly average auction price of EU ETS allowances) และในช่วงปลายของระยะเปลี่ยนผ่าน ทางสหภาพยุโรปจะได้มีการทบทวนข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้เก็บรวบรวมมาโดยตลอด เพื่อพิจารณาในประเด็นที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ซึ่งจะสามารถนำไปใช้ในการขยายขอบเขตภาคธุรกิจ/สินค้าที่จะบังคับใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป รวมถึงจะรวบรวมประเด็นการเจรจาหารือกับประเทศต่าง ๆ และผลกระทบที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาเพื่อพิจารณาต่อไป
ในส่วนของกฎระเบียบ EUDR นั้น ผู้แทนสหภาพยุโรปแจ้งว่า เตรียมที่จะให้มีการบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2567 โดยจะเริ่มการบังคับใช้กับธุรกิจรายใหญ่ก่อน และรายย่อยในภายหลังมาตรการ EUDR มีผลบังคับใช้ประมาณ ๖ เดือน โดยที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้จัดทำเอกสารถาม-ตอบกว่า ๘๐ ข้อ เพื่อให้ความกระจ่างในประเด็นที่ยังไม่ชัดเจน และมีการ update ข้อมูลอยู่เป็นระยะ รวมถึงจะจัดทำรายละเอียดแนวทางการดำเนินการ (Guidelines) ระบบข้อมูล (Information System) และการฝึกอบรมที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการทำงานด้วย
นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังให้ความสำคัญกับการจัดทำกลไก Country Benchmarking ซึ่งถือเป็นกลไกหลักของกฎระเบียบนี้ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้ประเทศต่าง ๆ สร้างระบบการปกป้องป่าไม้และระบบธรรมาภิบาลป่าไม้ให้ดียิ่งขึ้น โดยมีการจำแนกประเภทของประเทศเป็นประเทศความเสี่ยงต่ำ มาตรฐาน และความเสี่ยงสูง วัตถุประสงค์ของการเปรียบเทียบนั้น เพื่อเจ้าหน้าที่ได้ให้ความสนใจไปที่สถานการณ์และปัจจัยต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเพื่อการแก้ไขปัญหาต่อไป
สำหรับกฎระเบียบ ESPR นั้น ผู้แทนจากสหภาพยุโรปแจ้งว่า จะมีผลใช้บังคับภายในปี 2567 นี้ (โดยล่าสุด กฎระเบียบได้เริ่มมีผลใช้บังคับแล้ว เมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม 2567) โดยกฎระเบียบดังกล่าว จะเป็นการต่อยอดจากข้อกำหนดเดิม ซึ่งครอบคลุมเพียงผลิตภัณฑ์ด้านพลังงานเท่านั้น โดยผลิตภัณฑ์ที่มีความยั่งยืนจะต้องมีคุณสมบัติ ที่สำคัญ เช่น มีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และซ่อมแซมได้ ลดการใช้พลังงานหรือลดการใช้ทรัพยากร ลดคาร์บอนหรือผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ใช้สารเคมีที่มีปัญหาลดลง เพิ่มข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าสำหรับผู้บริโภค และต้องมีการจัดทำหนังสือเดินทางดิจิทัล (Digital Product Passport) ซึ่งประกอบด้วยข้อมูลเกี่ยวกับกระบวนการผลิต ประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ และการจัดการสิ้นสุดอายุการใช้งาน เป็นต้น
ในส่วนของกฎระเบียบ WSR ผู้แทนสหภาพยุโรประบุว่า กฎระเบียบฉบับใหม่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้แน่ใจว่าของเสียที่ส่งออกจากสหภาพยุโรปจะได้รับการจัดการในรูปแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในประเทศที่นำเข้าของเสีย และบริษัทที่ส่งออกของเสียต้องแน่ใจว่า เรือที่ขนส่งของเสียไปต่างประเทศจะมีการจัดการอย่างเหมาะสม และให้มีหน่วยงานที่ตรวจสอบที่ปลายทาง นอกจากนี้ คาดว่า บทบัญญัติหลักของกฎระเบียบ WSR จะสามารถเริ่มการบังคับใช้ในเดือนพฤษภาคม 2569 สำหรับการจัดส่งของเสียภายในสหภาพยุโรป และเดือนพฤษภาคม 2570 สำหรับการส่งออกไปนอกสหภาพยุโรป โดยบทบัญญัติเกี่ยวกับการส่งออกของเสียจากสหภาพยุโรปไปยังประเทศที่ไม่ใช่สมาชิก OECD จะมีผลบังคับใช้สามปีนับจากวันที่กฎระเบียบมีผลใช้บังคับ ขณะที่กฎระเบียบเฉพาะเกี่ยวกับการส่งออกขยะพลาสติกจะให้มีผลใช้บังคับภายในเวลา 2.5 ปีนับจากวันที่กฎระเบียบมีผลใช้บังคับ โดยสหภาพยุโรปจะแจ้งให้ประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิก OECD ทราบถึงกฎระเบียบใหม่และขั้นตอนในการปฏิบัติตามเพื่อยื่นคำร้องหากต้องการนำเข้าขยะของเสียจากสหภาพยุโรปต่อไปภายในระยะเวลาสามเดือน
ทั้งนี้ สมาชิก WTO โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่ได้ให้แสดงความคิดเห็นในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนโยบาย European Green Deal ในภาพรวมว่า มาตรการทางการค้าเฉพาะ (Specific to Trade Measures) ที่นำมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของการตอบสนองสภาพภูมิอากาศของประเทศใด ๆ นั้น ควรจะต้องไม่เลือกปฏิบัติและไม่ควรเป็นข้อจำกัดทางการค้าที่แอบแฝง และขณะที่ประเทศสมาชิก WTO ได้ตระหนักถึงสิทธิอธิปไตยของประเทศในสหภาพยุโรปในการบังคับใช้กฎหมาย นโยบาย และกฎเกณฑ์ในเขตของตนเอง แต่การบังคับใช้ดังกล่าวควรจะต้องสอดคล้องกับกฎเกณฑ์ระหว่างประเทศ และความตกลง WTO ที่เกี่ยวข้องด้วย รวมถึงควรมีการปรึกษาหารือร่วมกันให้มากขึ้น ขณะที่บางประเทศสมาชิก เช่น รัสเซีย มองว่า การดำเนินการของสหภาพยุโรปตามนโยบาย European Green Deal เป็นเพียงความพยายามที่จะปกป้องอุตสาหกรรมภายในประเทศของตนจากการนำเข้าและเพิ่มความได้เปรียบในการแข่งขันในตลาดโลกด้วยการเพิ่มต้นทุนของผู้ส่งออกจากต่างประเทศ
ในส่วนของมาตรการ CBAM นั้น ประเทศกำลังพัฒนาส่วนใหญ่เห็นว่า อาจนำไปสู่อุปสรรคทางการค้าและความเสียเปรียบในการแข่งขันของสินค้าจากประเทศที่สามนอกเขตสหภาพยุโรป รวมถึงการบังคับใช้มาตรการ CBAM จะเป็นการทดสอบการพิจารณาของ WTO ที่สำคัญ เนื่องจากมาตรการนี้ เป็นการปฏิบัติต่อผลิตภัณฑ์ตามกระบวนการผลิต (Production Process) มากกว่าการพิจารณาการใช้หลักการเกี่ยวกับความคล้ายคลึงกัน (Likeness) หรือการทดแทนได้ (Substitutability) ทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับหลักการไม่เลือกปฏิบัติที่มีมายาวนานภายใต้ความตกลงของ WTO ขณะที่กลุ่มประเทศหมู่เกาะขนาดเล็ก มองว่า มาตรการ CBAM อาจส่งผลต่อการส่งออกของตน และเห็นว่า กลุ่มประเทศของตนส่วนใหญ่ยังไม่สามารถพัฒนาระบบการซื้อขายคาร์บอนในประเทศได้ ซึ่งปัญหานี้ จะส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลในการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างกันในเรื่องมาตรการแก้ไขสภาพภูมิอากาศและความเท่าเทียมทางการค้า และควรมีการให้ความช่วยเหลือทางด้านการเงินและเทคนิคเพื่อพัฒนาเรื่องการลดก๊าซเรือนกระจกในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดก่อน
สำหรับกฎระเบียบ EUDR นั้น ประเทศกำลังพัฒนา เช่น อินโดนีเซีย เห็นว่า จำเป็นที่จะต้องมีการชี้แจงเพิ่มเติมจากสหภาพยุโรป และมีการพิจารณาใหม่อย่างรอบคอบภายใต้ WTO เนื่องจากกฎระเบียบดังกล่าวอาจไม่สอดคล้องกับหลักของ WTO และไม่เชื่อมั่นว่า EUDR จะสามารถสนับสนุนความพยายามในการต่อต้านการตัดไม้ทำลายป่าในระดับโลกได้ อีกทั้งอินโดนีเซียยังได้รับทราบจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่ได้รับผลกระทบ แม้จากในสหภาพยุโรปว่า ยังขาดความชัดเจนในเรื่องการดำเนินการตามกฎระเบียบ EUDR อีกทั้งสหภาพยุโรปยังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจนเพียงพอสำหรับคำถามที่สอบถามโดยประเทศสมาชิก นอกจากนี้ เชื่อว่า ผลกระทบของ EUDR จะมีต่อเกษตรกรรายย่อยและ MSMEs โดยการเพิ่มต้นทุนที่สูงขึ้นในการผลิตและทำให้กลุ่มเกษตรกรดังกล่าวต้องออกจากห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกเนื่องจากไม่มีทรัพยากรหรือความสามารถในการพิสูจน์การปฏิบัติตามกฎระเบียบ
ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา เช่น บราซิล เห็นว่า ข้อกำหนดบางประการของกฎระเบียบ ESPR เช่น Digital Product Passport อาจส่งผลต่อต่อทุนของผู้ส่งออกขนาดเล็กและขนาดกลาง และต้องการทราบข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับแนวปฏิบัติของกฎระเบียบ และผลกระทบที่มีต่อการค้ากับประเทศกำลังพัฒนา โดยสหภาพยุโรปควรช่วยสนับสนุนทางการเงิน การสร้างขีดความสามารถและด้านเทคนิคแก่ SMEs เพื่อลดผลกระทบเชิงลบจากการไม่สมดุลของความสามารถในการแข่งขัน
สำหรับกฎระเบียบ WSR นั้น ประเทศกำลังพัฒนา เช่น ตุรกี มองว่า ขอบเขตของ WSR อยู่นอกเหนือเป้าหมายตามความตกลงด้านสิ่งแวดล้อม เนื่องจากมองว่า ควรสร้างความสมดุลระหว่างการควบคุมการขนส่งของเสีย ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ควรได้รับการควบคุมตามกฎหมายสากล โดยไม่ขัดขวางการค้าวัตถุดิบที่เป็นปัจจัยการผลิตของหลายอุตสาหกรรม
ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกมองว่า การมีการหารือแบบไม่เป็นทางการ (Informal Dialogue) ภายใต้กรอบการทำงานของคณะกรรมการ CTE ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการค้าและสิ่งแวดล้อมน่าจะมีส่วนช่วยเสริมการทำงานของ CTE ให้มากขึ้น โดยเฉพาะการหารือในประเด็นเรื่องการรักษาสมดุลระหว่างประเด็นด้านสิ่งแวดล้อมและประเด็นทางการค้า เพื่อให้แน่ใจว่ามีมาตรการต่าง ๆ ของประเทศสมาชิกที่เป็นมาตรการฝ่ายเดียวนั้น ไม่ขัดต่อหลักของ WTO และไม่เป็นมาตรการกีดกันทางการค้าหรืออุปสรรคทางการค้าสีเขียว (Green Trade Barriers) นอกจากนี้ ยังควรให้ความสำคัญกับเสียงของสมาชิก WTO ประเทศเล็กและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการฝ่ายเดียวด้วย
Comments