top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

อีกก้าวสู่ความสำเร็จของความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงภายใต้ WTO


เครดิตรูปภาพ: WTO



สหรัฐฯ ประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รายแรก และสมาชิก WTO รายที่สี่ ได้ยื่นพิธีสารยอมรับความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงต่อผู้อำนวยการใหญ่ WTO (DG Ngozi Okonjo-Iweala) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566


ความตกลงว่าด้วยการอุดหนุนประมงถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ WTO ที่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมาในการประชุมรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 หรือ MC12 หลังจากที่การเจรจามีความยืดเยื้อมานานกว่า 20 ปี และเป็นความตกลงภายใต้ WTO ฉบับแรกที่ไม่ได้มีวัตถุประสงค์เกี่ยวกับการค้าเป็นหลักแต่เพื่อ ความยั่งยืนทางทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเล ซึ่งการศึกษาสถาบันต่าง ๆ พบว่า การอุดหนุนประมงของภาครัฐฯ เป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่ทำให้มีการจับสัตว์น้ำมากเกินไปจนทำให้สัตว์น้ำเหล่านั้นไม่สามารถฟื้นตัวหรือสร้างผลผลิตทดแทนได้ทัน โดยองค์กร FAO ได้เปิดเผยผลการสำรวจว่า ในปี 2562 มีทรัพยากรสัตว์น้ำที่อยู่ในสภาวะหร่อยหรอแล้วถึงร้อยละ 35.4

อย่างไรก็ดี หนทางสู่ความสำเร็จยังไม่ได้สิ้นสุดอยู่ที่การประชุม MC12 ประเทศสมาชิก WTO ยังคงมีการบ้านที่ต้องกลับไปทำเพื่อให้ความตกลงฯ ฉบับนี้มีผลใช้บังคับและมีเนื้อหาที่สมบูรณ์ครบถ้วน โดยแบ่งออกได้เป็น 2 เส้นทางที่ประเทศสมาชิก WTO จะต้องดำเนินการไปพร้อมๆ กันดังนี้


เส้นทางแรกคือตามกฎเกณฑ์ WTO แล้วนั้น ความตกลงฯ จะมีผลใช้บังคับได้ก็ต่อเมื่อ 2 ใน 3 ของประเทศสมาชิก WTO ทั้งหมด หรือ 110 ราย ได้ยื่นพิธีสารยอมรับความตกลงฯ แล้ว ดังนั้น ภายหลังการประชุม MC12 แต่ละประเทศสมาชิกจึงได้ต่างแยกย้ายกลับไปดำเนินกระบวนการภายในของตนเพื่อให้สามารถยื่นพิธีสารฯ ได้ต่อไป และปัจจุบันหรือกว่า 10 เดือนหลังจากการประชุม MC12 มีประเทศสมาชิก WTO ที่ดำเนินกระบวนการภายในและยื่นพิธีสารฯ เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ได้แก่ สวิสเซอร์แลนด์ สิงคโปร์ เซเชลส์ และสหรัฐฯ เป็นประเทศล่าสุด

DG Ngozi ได้แสดงยินดีและขอบคุณสหรัฐฯ ที่เป็นประเทศอุตสาหกรรมขนาดใหญ่รายแรกที่ได้ยื่นพิธีสารฯ ซึ่งช่วยสร้างความมั่นใจและแรงผลักดันให้แก่ประเทศสมาชิกอื่นเร่งเดินหน้าทำให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับได้โดยเร็ว และนาง Catherine Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ กล่าวถึงความภูมิใจของสหรัฐฯ ที่ได้เป็นประเทศสมาชิก WTO กลุ่มแรกที่ได้ยื่นพิธีสารยอมรับความตกลงฯ ที่มีเป้าหมายเพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนและยกระดับความเป็นอยู่ของชาวประมงทั้งในสหรัฐฯ และทั่วโลก และผลักดันให้ประเทศอื่นเร่งดำเนินการยื่นพิธีสารฯ เพื่อให้ความตกลงฯ สามารถมีผลใช้บังคับได้โดยเร็ว


เส้นทางที่สองที่ประเทศสมาชิก WTO จะต้องดำเนินการคือการเร่งเจรจาเพื่อหาข้อสรุปในประเด็นที่เหลือให้ทันก่อนการประชุม MC13 ที่มีกำหนดจัดขึ้นในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 นี้ โดยประเด็นที่เหลือนี้เป็นประเด็นที่ประเทศสมาชิก WTO ไม่สามารถตกลงร่วมกันได้ระหว่างการประชุม MC12 และจึงตกลงที่จะตัดออกจากความตกลงฯ และจะกลับมาหารือเพื่อสรุปในประเด็นเหล่านี้ในภายหลังเพื่อทำให้ความตกลงฯ มีเนื้อหาที่สมบูรณ์ครบถ้วนด้วย โดยเฉพาะประเด็นการจัดทำกฎเกณฑ์ห้ามอุดหนุนการทำประมง overcapacity and overfishing ซึ่งเชื่อมโยงไปถึงการกำหนดสิทธิหรือข้อยกเว้นพิเศษสำหรับประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาและที่พัฒนาน้อยที่สุด โดยสองประเด็นนี้ถูกระบุไว้ในเป้าหมาย SDG ข้อ 14.6 ที่เป็นเป้าหมายหลักของการเจรจาจัดทำความตกลงฯ ฉบับนี้ นอกจากนี้ ยังมีประเด็นอื่น ๆ ที่ประเทศสมาชิกที่เป็นผู้เสนออาจจะยังคงผลักดันให้เป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์การเจรจาด้วยอย่างเช่นประเด็นการใช้แรงงานบังคับ โดย Catherine Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ ได้กล่าวเน้นย้ำถึงความมุ่งมั่นของสหรัฐฯ ที่จะนำการเจรจาสู่การจัดทำกฎเกณฑ์เพิ่มเติมที่มีความทะเยอทะยานและผลักดันให้ประเทศสมาชิกสนับสนุนความโปร่งใสที่มากขึ้นเกี่ยวกกับการแจ้งข้อมูลการใช้แรงงานบังคับบนเรือประมงอีกด้วย


ล่าสุด ออท. ไอซ์แลนด์ (H.E. Einar GUNNARSSON) ประธานเจรจาคนใหม่ที่ได้รับการแต่งตั้งเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา ได้ประกาศเป้าหมายที่จะสรุปผลการเจรจาในช่วงที่สองนี้ให้ทันการประชุม MC13 ตามเป้าหมายที่รัฐมนตรีกำหนดไว้ และได้จัดการประชุมรอบแรกขึ้นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา โดยมุ่งเน้นการหารือและแลกเปลี่ยนความเห็นเชิงแนวคิดเกี่ยวกับเหตุผลและวัตถุประสงค์ที่ประเทศสมาชิกต้องการเห็นจากความตกลงฯ โดยยังไม่ได้ลงรายละเอียดเกี่ยวกับการปรับแก้ไขถ้อยคำในร่างข้อบทแต่อย่างใด ทั้งนี้ ประธาน Gunnarsson ได้กล่าวชื่นชมถึงความมุ่งมั่นและทัศนคติของประเทศสมาชิกที่รับฟังอย่างเปิดกว้างและพร้อมทำความเข้าใจเหตุผลของประเทศสมาชิกอื่น โดยประเทศสมาชิกต่างย้ำถึงเป้าหมายร่วมเพื่อความยั่งยืนทางทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลและความสำคัญของความยั่งยื่นทั้งสามมมิติ ได้แก่ สิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ ตลอดจนบทบาทที่สำคัญของระบบการบริหารทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลที่ยั่งยืน


ในการประชุมรอบแรกนี้ ประเทศสมาชิกบางกลุ่มยังได้นำเสนอหลักการ polluter pays principle และหลักการ Common but Differentiated Responsibility เพื่อเน้นย้ำแนวคิดการกำหนดกฎเกณฑ์ที่แตกต่างกันระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิกทำประมงรายย่อยและกลุ่มประเทศสมาชิกทำประมงรายใหญ่ที่เป็นต้นเหตุหลักของสภาวะร่อยหรอของทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยเฉพาะในแง่ของกลุ่มเรือประมงขนาดใหญ่และการทำประมงนอกน่านน้ำ นอกจากนี้ ในส่วนของการให้สิทธิหรือข้อยกเว้นพิเศษแก่ประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาและที่พัฒนาน้อยที่สุดนั้น ประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาย้ำถึงความสำคัญของการมีพื้นที่ทางนโยบาย (policy space) ให้แก่ประเทศสมาชิกสามารถพัฒนาภาคประมงของตนในใอนาคตได้ ซึ่งประเทศสมาชิกผู้สนับสนุนแนวคิดดังกล่าวได้เน้นย้ำว่า การขอให้มีพื้นที่ทางนโยบายนี้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ที่จะยังคงมาตรการอุดหนุนที่ส่งผลกระทบต่อความยั่งยืนทางทรัพยากรสัตว์น้ำทางทะเลแต่อย่างใด ในขณะเดียวกัน ประเทศสมาชิกอีกกลุ่ม โดยเฉพาะประเทศพัฒนาแล้ว เห็นว่าสิทธิหรือข้อยกเว้นพิเศษมีเป้าหมายเพื่อช่วยประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาและที่พัฒนาน้อยที่สุดสามารถปรับตัวและปฏิบัติตามกฎเกณฑ์ของความตกลงฯ ได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ กฎเกณฑ์หลัก ๆ ภายใต้ความตกลงฯ ฉบับปัจจุบัน อาทิ การห้ามอุดหนุนการทำประมง IUU การห้ามอุดหนุนทำประมงกลุ่มสัตวน้ำที่มีสภาวะร่อยหรอ การห้ามการอุดหนุนในพื้นที่ทะเลหลวงที่ไม่ได้อยู่ในการควบคุมดูแลขององค์กรใด การแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการทำประมงตามที่กำหนด ตลอดจนการจัดตั้งกองทุน Fish Fund เพื่อช่วยเหลือประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดให้สามารถปฏิบัติตามความตกลงฯ ได้ ซึ่งรวมถึงการจัดตั้งระบบบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ยั่งยืนด้วย


WTO มีกำหนดจัดการประชุมรอบต่อไปหรือรอบที่ 2 ระหว่างวันที่ 25 - 28 เมษายน 2566 โดยประธานยังคงกำหนดให้การหารือมุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนแนวคิดโดยยังไม่ลงลึกถึงการปรับแก้ไขร่างข้อบทแต่อย่างใด และมีหัวข้อหารือเกี่ยวกับแนวทาง (how) การจัดทำกฎเกณฑ์การห้ามอุดหนุนการทำประมง overcapacity and overfishing ในแง่ต่าง ๆ ได้แก่ การห้ามอุดหนุนในภาพรวม เรือประมงขนาดใหญ่/การทำประมงนอกน่านน้ำ และเรือประมงรายย่อย/เรือประมงพื้นบ้าน ดังนั้น ควรจับตามองว่าจะมีประเทศสมาชิกใดนำเสนอแนวทางการปรับปรุงกลไกฯ อย่างเป็นรูปธรรมและดึงดูดความสนใจของประเทศสมาชิกส่วนใหญ่ได้หรือไม่เพื่อใช้เป็นพื้นฐานในการเจรจาขั้นต่อไป



คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

19 เมษายน 2566

58 views0 comments
bottom of page