top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

รู้จัก WIPO PROOF กลไกการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาใหม่สำหรับโลกดิจิทัล


จะดีหรือไม่ ถ้าหากจะมีกลไกใดกลไกหนึ่งที่จัดทำโดยหน่วยงานกลางระหว่างประเทศที่น่าเชื่อถือ ในการช่วยพิสูจน์ว่า การสร้างสรรค์ผลงานจากความคิดของนักสร้างสรรค์ ทั้งในรูปของศิลปะ การออกแบบ ความลับทางการค้า และการวิจัย รวมทั้งข้อมูลต่าง ๆ ในรูปแบบของดิจิทัล จะได้รับการจดบันทึก และ มีการออกหลักฐานรับรองที่ชัดเจน โดยมีทั้งการลงวันและเวลาที่ได้จดบันทึกผลงานที่ได้มีการสร้างสรรค์ และหลักฐานดังกล่าวมีความน่าเชื่อถือเพียงพอและเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ที่จะนำมาใช้ในกระบวนการแก้ไขข้อพิพาททางกฎหมายได้ด้วย


เพื่อตอบโจทย์ดังกล่าว เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ที่ผ่านมา องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization หรือ WIPO) จึงได้เปิดตัว WIPO PROOF ซึ่งเป็น การให้บริการออนไลน์ ซึ่งมีส่วนช่วยให้นักสร้างสรรค์สามารถใช้ในการพิสูจน์ว่า ไฟล์ดิจิทัลซึ่งเป็นผลงานของ นักสร้างสรรค์นั้น

มีอยู่จริงในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวจะเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยในการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาให้กับนักสร้างสรรค์ในโลกของยุคดิจิทัล


นอกเหนือจากแนวคิดในการจดบันทึกไฟล์ดิจิทัลให้แก่นักสร้างสรรค์แล้ว การให้บริการของ WIPO PROOF ยังค่อนข้างหลากหลายและครอบคลุมในเรื่องอื่น ๆ ด้วย ซึ่งรวมถึงการเสนอบริการจดบันทึกและเก็บไฟล์สำหรับภาคธุรกิจทั่วไปด้วย ซึ่งทำให้การให้บริการของ WIPO PROOF เป็นบริการที่ครอบคลุมการให้บริการสำหรับผู้ประกอบการทั่วไปด้วย


หากศึกษาในรายละเอียดจากเว็บไซต์ของ WIPO จะพบว่า WIPO PROOF เสนอที่จะให้บริการการบันทึกข้อมูลในรูปแบบต่างๆ ซึ่งครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ (1) งานสร้างสรรค์และการออกแบบ เช่น แบบของงานภาพและเสียง การออกแบบรหัส software ภาพร่าง การออกแบบอุตสาหกรรม (2) ความลับทางการค้าและความรู้ เช่น

สูตร วิธี กระบวนการ แผนธุรกิจ (3) การวิจัยและข้อมูล เช่น การรวบรวมผลการวิจัยและบันทึกของห้องปฏิบัติการ และ (4) สินทรัพย์ดิจิทัล เช่น ประวัติเวอร์ชั่นของข้อตกลงสัญญา เทคโนโลยี หรือการอ้างอิงข้อมูลในเอกสาร


เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดเจนว่า WIPO PROOF จะมีส่วนช่วยในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในโลกดิจิทัลอย่างไร จะขอยกตัวอย่างในทางปฏิบัติ เช่น หากท่านเป็นผู้พัฒนางานผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยี หรือเป็นนักวิจัย

นักประดิษฐ์ หรือ Start-up ท่านสามารถส่งไฟล์ข้อมูลผลงานสร้างสรรค์หรือผลงานวิจัยไปเก็บไว้ที่ WIPO PROOF ก่อน ที่จะนำผลงานนั้นไปจดสิทธิบัตร เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาก่อนที่จะได้รับการคุ้มครองสิทธิบัตรตามกฎหมาย หรือก่อนที่จะต้องเปิดเผยข้อมูลให้แก่บุคคลอื่น เช่น ผู้ร่วมทุน หรือบริษัทขนาดใหญ่ เพื่อใช้ในการขอรับการสนับสนุนทางการเงินก่อนนำผลิตภัณฑ์ที่สร้างสรรค์นั้นออกสู่ตลาด เป็นต้น หรือหากท่านเป็นศิลปิน เช่น

นักดนตรี ท่านสามารถส่งไฟล์เพลงดิจิทัล ซึ่งยังไม่อยากจะเปิดเผยได้ ไปบันทึกไว้เป็นหลักฐานในระบบ WIPO PROOF ก่อนที่จะเปิดเผยในภายหลัง ซึ่งการบันทึกข้อมูลใน WIPO PROOF จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ในการใช้เป็นหลักฐานในการพิสูจน์ว่า ท่านเป็นผู้คิดค้นและได้มีส่วนในการทำผลงานความคิดสร้างสรรค์นั้นจริง


นอกจากนี้ หากท่านเป็นผู้ประกอบการทั่วไป ท่านสามารถใช้ประโยชน์จากบริการของ WIPO PROOF ในการปกป้องข้อมูลที่จำเป็นของบริษัทในการทำธุรกิจในโลกดิจิทัล โดยเฉพาะการปกป้องการสูญหายการขโมยข้อมูล หรือการปลอมแปลงข้อมูล เนื่องจากในการบันทึกไฟล์ข้อมูลภายใต้ WIPO PROOF ระบบจะสร้างการตรวจสอบลายนิ้วมือดิจิทัล (Digital Fingerprint) ของไฟล์ข้อมูล ซึ่งจะทำให้บุคคลที่สามไม่สามารถจะขโมย หรืออ้างสิทธิ์ความเป็นเจ้าของไฟล์ได้นอกจากนี้ WIPO PROOF ยังได้เพิ่มการประทับวันและเวลาลงในบันทึกด้วย เพื่อใช้ยืนยันช่วงเวลาของการเป็นเจ้าของข้อมูล หรือการเปลี่ยนแปลงเวอร์ชั่นของข้อมูลด้วย


การให้บริการ WIPO PROOF ของ WIPO มีการเก็บค่าธรรมเนียมสำหรับการให้บริการเพื่อให้ครอบคลุมต้นทุนการดำเนินการ โดยผู้ที่สนใจสามารถเข้าถึงระบบ ผ่านเว็บไซต์ https://wipoproof.wipo.int/wdts/ ทั้งนี้ การดาวน์โหลดไฟล์เข้าสู่ระบบ WIPO PROOF นั้น สามารถบันทึกในรูปแบบและขนาดใดก็ได้ โดย WIPO จะไม่มีการคัดลอกหรือจัดเก็บไฟล์ต้นฉบับ แต่จะรับรองว่า ไฟล์มีรูปแบบนั้น และอยู่ในความคุ้มครองของผู้ใช้ในช่วงเวลาที่กำหนด


WIPO PROOF ถือเป็นอีกหนึ่งบทบาทของ WIPO ที่จะช่วยในการเสริมสร้างการให้บริการทางธุรกิจใหม่ ๆ ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล เพื่อปกป้องทรัพย์สินทางปัญญาแก่นักสร้างสรรค์โดยที่ผ่านมา

องค์การยูเนสโกได้ประเมินว่า กว่าร้อยละ 70 ของการวิจัยและพัฒนาทั่วโลกได้รับทุนและสนับสนุนโดยภาคเอกชน ขณะที่ร้อยละ 30 ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ การสร้าง WIPO PROOF ถือเป็นการเชื่อมประสานผู้สร้างสรรค์

จากทั้งภาครัฐและเอกชนเข้าด้วยกัน เพื่อให้นักสร้างสรรค์จากทั้งสองฝ่ายมีความมั่นใจในการลงทุน ลงแรง ในการสร้างและพัฒนานวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการวางแผนการตลาดสำหรับผลงานอย่างปลอดภัย และได้รับการปกป้องจากการนำผลงานไปใช้ในทางที่ไม่ถูกต้อง


ดร.พรพิมล สุคันธวณิช


204 views
bottom of page