top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

การสัมมนาเกี่ยวกับสถานะและก้าวต่อไปของการเจรจาเปิดเสรีภาคบริการของ WTO


เมื่อวันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2565 Friends of Multilateralism Group (FMG Geneva) ได้จัดการสัมมนาทางออนไลน์ ในหัวข้อ “A missed opportunity - What happened to multilateral negotiations on trade in services, and where can they go next?” โดยการสัมมนาได้ย้ำถึงความสำคัญของภาคการค้าบริการที่มีต่อระบบเศรษฐกิจ และสนับสนุนให้มีการเจรจาเปิดเสรีการค้าภาคบริการในองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) อย่างต่อเนื่อง


งานสัมมนาดังกล่าว มีนาย Stuart Harbinson ซึ่งดำรงตำแหน่ง FMG Board ember และอดีตเอกอัครราชทูตของฮ่องกงประจำองค์การการค้าโลก เป็นผู้ดำเนินรายการ และมีวิทยากรจากทั้งภาครัฐและเอกชน ได้แก่ (1) นาย Patrick Low ตำแหน่ง Co-Chair of FMG Board และเคยดำรงตำแหน่ง Chief Economist of the WTO (2) นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (3) นาย Carlos Grau Tanner ตำแหน่ง Director General of the Global Express Association และ (4) นาง Jane Drake-Brockman ซึ่งเคยเป็น Industry Professor ที่ Institute for International Trade of the University of Adelaide โดยมีผู้แทนสมาชิก FMG และ ผู้ที่สนใจเข้าร่วมการสัมมนาทั้งจากองค์การการค้าโลก องค์การระหว่างประเทศ ผู้แทนจากคณะทผู้แทนถาวนขององค์การการค้าโลก ภาคเอกชน ภาควิชาการ และ ภาคประชาสังคม เข้าร่วมกว่า 70 คน


นาย Patrick Low ได้แสดงความเห็นเกี่ยวกับความสำคัญของภาคการค้าบริการว่า ในช่วงประมาณกลางทศวรรษ ปี ค.ศ. 1980 นานาชาติต่างเห็นพ้องร่วมกันว่า ควรจะต้องมีการจัดทำความตกลงระหว่างประเทศร่วมกันด้านภาคบริการ เนื่องจากภาคการค้าบริการได้ทวีความสำคัญขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งช่วงดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังจาก ที่ได้มีการทำความตกลงระหว่างประเทศด้านการเปิดเสรีการค้าสินค้ามาก่อนหน้านี้กว่า 30 ปี


วิทยากรยังย้ำถึงความสำคัญของการค้าภาคบริการว่า นักเศรษฐศาสตร์ เช่น William J. Baumol ซึ่งเป็น ผู้ตั้งทฤษฎี Baumol Cost Disease ได้ระบุว่า ภาคบริการมีส่วนอย่างสำคัญต่อการเพิ่มขึ้นของผลิตภาพ (Productivity) และความมีประสิทธิภาพ (Efficiency) และในประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่และร่ำรวยส่วนใหญ่มักจะมีการพึ่งพาภาคบริการเป็นหลัก พร้อมเห็นว่า การค้าภาคบริการยังมีส่วนสำคัญต่อการพัฒนานวัตกรรมทั้งในส่วนของการสร้างผลิตภัณฑ์และการพัฒนากระบวนการผลิตด้วย และในปัจจุบัน จะพบว่า ภาคบริการมีสัดส่วน 2 ใน 3 ของ GDP ของโลก และมีสัดส่วนถึงร้อยละ 80 และร้อยละ 70 ของเศรษฐกิจโดยรวมของสหรัฐฯ และสหภาพยุโรป


นอกจากนี้ ในประเทศที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจ และมีรายได้สูงขึ้น มักจะมีอุปสงค์สินค้าด้านบริการเพิ่ม มากขึ้น โดยผู้บริโภคมักต้องการสินค้าบริการในรูปแบบของ service-intensive มากขึ้น ขณะที่ในมุมมองของ ผู้ผลิตก็ต้องการบริการในรูปแบบของ producer services มากขึ้น เช่น การบริการข้อมูลด้านการโทรคมนาคม การประกันภัย การบริการภาคการธนาคาร การขนส่งสินค้า และการจัดจำหน่าย เป็นต้น


อย่างไรก็ดี วิทยากรเห็นว่า ที่ผ่านมา แม้ว่าภาคบริการจะมีส่วนสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ก็มีประเด็นคำถาม ที่สำคัญว่า ในการเจรจาใน WTO โดยเฉพาะในภาคบริการมักจะถูกมองว่าเป็นตัวประกันเพื่อต่อรองกับการเจรจา ด้านการเกษตร และในหลายประเทศทั่วโลก ยังมีการปกป้องภาคบริการในระดับสูง


นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก แสดงความเห็นว่า การเจรจาเปิดเสรีด้านการค้าภาคบริการได้รับอาณัติสืบต่อเนื่องมาจากความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (General Agreement on Trade in Services: GATS) โดยอาณัติของความตกลง GATS นั้น ประกอบด้วยทั้งในส่วนของการมุ่งสร้างระบบกฎระเบียบการค้าบริการระหว่างประเทศ และการกำหนดข้อผูกพันด้านการเปิดตลาด ซึ่งในสถานการณ์ปัจจุบันอาจดูเหมือนมีความซับซ้อน เนื่องจากยังมีความเห็นที่คัดค้าน ในส่วนของการเปิดเสรีด้านการค้าภาคบริการอยู่ในหลายสาขา ซึ่งในเรื่องนี้ อาจเป็นประเด็นที่จะขบคิดกันในอนาคตเกี่ยวกับบทบาทของ WTO ว่า จะมีบทบาททั้งในส่วนของการสร้างกฎระเบียบหรือการส่งเสริมการเปิดเสรีอย่างไร หรือจะทำอย่างไรที่จะนำสองประเด็นดังกล่าวมาพิจารณาร่วมกันได้


อย่างไรก็ตาม ความตกลง GATS มาตรา 19 ซึ่งกำหนดให้สมาชิก WTO จะต้องเข้าร่วมเจรจาเพื่อให้บรรลุผลการเปิดเสรีแบบก้าวหน้านั้น จะเห็นว่า มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก เนื่องจากขณะนี้ มีการเจรจาใน WTO ทั้งในรูปแบบของทวิภาคี (Bilateral) หลายฝ่าย (Plurilateral) และพหุภาคี (Multilateral) และโดยส่วนตัวเห็นว่า แม้ว่าความตกลง GATS จะเป็นความตกลงที่ครอบคลุมหลายประเด็น แต่ก็มีความยืดหยุ่นค่อนข้างมาก นอกจากนี้ ในมาตรา 4 ยังมีมิติ ในส่วนของการสนับสนุนด้านการพัฒนาด้วย ซึ่งยังมิได้มีการใช้ประโยชน์ในเรื่องดังกล่าวมากนัก


วิทยากรได้ตั้งข้อสังเกตว่า ภายหลังจากการเจรจาอีกครั้งในรอบโดฮาเมื่อปี ค.ศ. 2001 และผ่านมากว่า 20 ปี เป็นที่สังเกตได้ว่า การเจรจาเปิดเสรีการค้าบริการระหว่างประเทศมิได้มีความคืบหน้าไปมากนัก ซึ่งเป็นเรื่องที่ น่าเสียดาย โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่า หลายๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทย ได้มีระบบเศรษฐกิจที่พึ่งพาภาคการบริการมากขึ้น และในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ได้การให้บริการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีซึ่งได้ทวีความสำคัญมากขึ้น นอกจากนี้ เป็นเรื่องน่าเสียดายที่การเจรจาภาคการบริการใน WTO ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับการเจรจาก ในประเด็นอื่น โดยเฉพาะด้านการเกษตร และแม้ว่าเราจะเห็นสัญญาณที่ดี ในปี 2561 ที่ได้มีการฟื้นฟูความสนใจ ในด้านการเจรจาของภาคบริการ โดยมีข้อเสนอแนะเพิ่มเติมให้มีการเปิดเสรีในสาขาการบริการสิ่งแวดล้อม การบริการทางการเงินและโลจิสติกส์ และในช่วงก่อนการจัดการประชุม MC12 ได้มีความพยายามที่จะเจรจาเนื้อหาของย่อหน้าของเอกสารของการประชุมฯ ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการค้าภาคบริการ แต่ยังไม่สามารถตกลงและให้การรับรองได้ เนื่องจากได้มีการเลื่อนการจัดการประชุมฯ ออกไป


ในส่วนของการเจรจาใน WTO นั้น วิทยากรเห็นว่า มีหลายประเด็นที่ควรนำมาพิจารณา เช่น ข้อผูกพันที่มีอยู่อาจสามารถนำไปสู่การเปิดเสรีในสาขาใหม่ๆ และการลดการกีดกันทางการค้าลง จะเห็นได้ว่า ในปัจจุบัน มีหลายประเทศได้พยายามเปิดเสรีภาคบริการเอง ซึ่งอาจเป็นผลมาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี และอาจทำให้รูปแบบ การค้าบริการใน Mode 1 (การข้ามพรมแดนของบริการ – Cross-border Supply) มีความสำคัญมากขึ้น โดยอาจแทนที่ Mode 3 (การข้ามพรมแดนของผู้ให้บริการต่างชาติที่เข้ามาจัดตั้งธุรกิจบริการ – Commercial Presence) หรือ Mode 4 (การข้ามพรมแดนของบุคคลต่างชาติ – Presence of Natural Persons)


วิทยากรแสดงความเห็นเพิ่มเติมว่า ในมุมมองของไทย ได้เห็นความสำคัญของการพัฒนาทางเทคโนโลยีที่มีต่อการพัฒนาภาคบริการสำหรับประเทศกำลังพัฒนาที่มีขนาดเล็ก และสำหรับประเทศใหญ่ เช่น จีน โดยเฉพาะในสาขา E-commerce และการค้าดิจิทัล ซึ่งในอนาคต เห็นว่า ควรจะต้องมีการพิจารณาในเรื่องการจำแนก (Classification) สาขาบริการให้ทันสมัยมากขึ้น รวมถึงการส่งเสริมให้มีการแข่งขันที่เท่าเทียมกัน (Level playing field) มากขึ้น เพื่อให้เป็นประโยชน์กับประเทศกำลังพัฒนา เพื่อให้ได้รับประโยชน์จากการค้าสินค้าบริการ เพื่อการพัฒนาประเทศ รวมถึงควรมีการพิจารณาในส่วนของการเจรจาและจัดทำข้อผูกพันเพื่อเปิดเสรีแบบ Positive list (ประเทศสมาชิกจะระบุตารางข้อผูกพันเฉพาะสาขาที่ต้องการผูกพัน) นั้น อาจไม่สามารถครอบคลุมสาขา การบริการรูปแบบใหม่ ๆ และไม่ครอบคลุมทั้งห่วงโซ่อุปทาน


นอกจากนี้ วิทยากรยังเห็นว่า การส่งเสริมบทบาทของ WTO ในสาขาการค้าบริการนั้น ควรคำนึงถึงมิติของ การพัฒนาในภาพกว้าง ซึ่งอาจไม่เพียงแต่เฉพาะการให้เวลาในการปรับตัวสำหรับประเทศกำลังพัฒนาเท่านั้น แต่ควรพิจารณาถึงการช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนาได้รับประโยชน์และการสร้างการแข่งขันที่เท่าเทียม ซึ่งในเรื่องนี้ จำเป็นที่จะต้องเพิ่มขีดความสามารถของสำนักเลขาธิการของ WTO เพื่อให้สามารถพัฒนาบทบาทในการช่วยเหลือประเทศสมาชิกทั้งในด้านการศึกษาวิเคราะห์ด้านเศรษฐกิจ การพัฒนาการบริการที่ทันสมัย และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคในประเด็นต่าง ๆ


ทั้งนี้ ในช่วงของสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายประเทศได้ให้ความสำคัญกับสาขา การบริการ 3 สาขา ได้แก่ การท่องเที่ยว การดูแลสุขภาพ และการขนส่ง ดังนั้น จึงควรใช้โอกาสนี้ ในการรื้อฟื้นวาระการเจรจา และพิจารณาว่า จะสามารถใช้ประโยชน์จากการพัฒนาการค้าบริการได้อย่างไร และ WTO จะสามารถ

ช่วยเหลือสมาชิกโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาให้ได้รับประโยชน์จากการเจรจาบริการได้อย่างไร


นาย Carlos Grau Tanner ได้ให้ภาพกว้างเกี่ยวกับสถานการณ์ดำเนินงานของสมาคมฯ ว่า เป็นผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์ และดำเนินธุรกิจใน 220 ประเทศ โดยมีฐานลูกค้าตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ จึงได้รับประโยชน์จากการเปิดเสรีทางการค้า และการตั้งกฎระเบียบในกรอบพหุภาคีและภายใต้การดำเนินงานของ WTO


หากมองในมุมมองเรื่องการจำแนก (Classification) สาขาบริการ การดำเนินการของสมาชิกสมาคมฯ นั้น มิได้จำกัดอยู่เฉพาะในหมวดหมู่ของบริการจัดส่งเอกสารเท่านั้น แต่ธุรกิจนี้ เกี่ยวโยงกับหลาย ๆ ภาคส่วน

ทั้งการขนส่งทางถนน ทางอากาศ การจัดการขนถ่ายสินค้า การบริการด้านการกระจายสินค้า นายหน้า บริการคลังสินค้า หรือในกรณีของการขนส่งวัคซีน ก็จำเป็นต้องพิจารณาในเรื่องการขนส่งที่ต้องควบคุมอุณหภูมิความเย็นด้วย นอกจากนี้ โดยที่สมาชิกของสมาคมฯ มิได้เป็นผู้ให้บริการด้านไอทีและการโทรคมนาคม แต่งานด้านโลจิสติกส์ของสมาชิกของสมาคมฯ จำเป็นต้องพึ่งพาการแบ่งปันข้อมูลด้านการขนส่งสินค้ากับเจ้าหน้าที่ปลายทาง เพื่อให้สามารถติดตามข้อมูลว่า บริการการจัดส่งขณะนี้ อยู่ที่จุดใดแบบ real time ดังนั้น บริการด้านไอทีและโทรคมนาคมจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก


วิทยากรได้ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมา ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สิ่งที่สมาคมฯ ภูมิใจ คือ การได้มีส่วนในการแจกจ่ายวัคซีนรวมกว่า 2 พันล้านโดสทั่วโลก สถานการณ์ดังกล่าวทำให้เห็นถึงความสำคัญของการบริการด้านโลจิสติกส์ที่อาจถูกมองข้ามไป และเห็นควรที่จะต้องปรับปรุงเพื่อให้การดำเนินการให้บริการด้านโลจิสติกส์ไม่ต้องเผชิญกับอุปสรรคด้านกฎระเบียบต่างๆ ในหลายพื้นที่ ซึ่งจะทำให้การบริการไม่สามารถดำเนินการได้อย่างเต็มรูปแบบและมีประสิทธิภาพสูงสุด


ทั้งนี้ ล่าสุด องค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (The Organisation for Economic Co-operation and Development: OECD) ได้จัดทำ Services Trade Restrictiveness Index โดยระบุว่า การขนส่งทางอากาศเป็นสาขาบริการที่มีข้อจำกัดมากที่สุด ซึ่งเรื่องดังกล่าวเป็นประเด็นสำคัญเนื่องจากผูกพัน กับห่วงโซ่การขนส่งทั้งระบบของสมาคมฯ และในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทางสมาคมฯ ยังคงดำเนินการอยู่ แม้การให้บริการแก่ผู้โดยสารทางอากาศจะถูกระงับไป ทั้งนี้ OECD ได้ระบุว่า การเปิดเสรีที่กว้างขึ้นจะมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนของ ภาคธุรกิจลง อาทิ สามารถลดต้นทุนด้านการขนส่งทางถนนลงร้อยละ 10 ร้อยละ 11 สำหรับต้นทุนนายหน้าขนส่งสินค้า (Cargo brokerage) ร้อยละ 12 สำหรับการขนถ่ายสินค้า (Cargo handling) ร้อยละ 17 สำหรับการจัดส่ง (Courier) และร้อยละ 25 สำหรับการขนส่งทางอากาศ (Air transport)


วิทยากรยังระบุว่า ช่วงทศวรรษที่ผ่านมา พบว่า มีเพียงคำมั่นจากสมาชิกใหม่ของ WTO ในเรื่องของการเปิดตลาดสินค้าภาคบริการ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการภาคยานุวัติ (Accession) แต่อาณัติตามมาตรา 19 ของความตกลง GATS ซึ่งกำหนดให้มีการเปิดเสรีในระดับที่สูงขึ้นในภาคบริการผ่านการเจรจาอย่างต่อเนื่องนั้น มิได้มีขึ้น ซึ่งทำให้ภาคเอกชนตั้งข้อสงสัยว่า สมาชิก WTO ได้ปฏิบัติตามอาณัตินั้นหรือไม่ อย่างไรก็ดี ยังมีพัฒนาการล่าสุด ที่น่าสนใจและเป็นเรื่องที่ดี คือ การเจรจาจัดทำวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศ (Joint Statement on Services Domestic Regulation) ภายใต้กรอบ WTO โดยเป็นการเจรจาแบบหลายฝ่าย (Plurilateral) เนื่องจากบางครั้งแม้ภาคธุรกิจจะสามารถเข้าถึงตลาดได้ แต่เงื่อนไขสำหรับการออกใบอนุญาตในภาคบริการนั้น มักจะเข้มงวดมาก จนเปรียบเสมือนว่า จะถึงขั้นที่เกือบจะเป็นการปฏิเสธการเข้าถึงตลาด ดังนั้น การดำเนินการในเรื่องแนวปฏิบัติที่ดีเช่นการจัดทำวินัยฯ นี้ เป็นเรื่องที่น่าชื่นชมสำหรับการดำเนินงานของ WTO ขณะเดียวกัน สมาคมฯ ยังประสงค์ที่จะให้มีการดำเนินการตามอาณัติในมาตรา 19 อย่างจริงจัง


นาง Jane Drake-Brockman ได้ให้ความเห็นว่า ภาคอุตสาหกรรมของออสเตรเลียให้ความสำคัญกับ ภาคบริการเป็นอย่างมาก และเห็นว่า กระบวนการทำงานภายใต้คณะมนตรีว่าด้วยการค้าบริการ (Council for Trade in Service: CTS) นั้น มีความสำคัญ พร้อมมองว่า การเจรจาภายใต้กรอบ WTO ทั้งในส่วนของการเจรจา หลายฝ่าย (Plurilateral) และแบบพหุภาคี (Multilateral) สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกันได้ โดยการเจรจา หลายฝ่ายอาจนำไปสู่การเจรจาแบบพหุภาคีได้ในอนาคต และภาคอุตสาหกรรมยังคงต้องการการเจรจาแบบพหุภาคี แม้ว่าอาจจะผิดหวังจากสถานการณ์ที่ผ่านมาในการหารือที่นครเจนีวา แต่ความคืบหน้าในการจัดทำวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศ (Joint Statement on Services Domestic Regulation) และการเจรจา ในเรื่อง E-Commerce ก็ยังเป็นความหวังที่มีอยู่สำหรับภาคอุตสาหกรรม


ที่ผ่านมา หากย้อนเวลาไปประมาณ 20 ปีที่แล้ว คณะมนตรีฯ อาจมีการถกเถียงกันถึงหลักฐานข้อมูลเกี่ยวกับภาคบริการ และโดยทั่วไปจะอาศัยข้อมูลจากกรณีศึกษาของธุรกิจ และการสำรวจการรับรู้ของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ การรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับภาคบริการยังคงเป็นไปในรูปของการรวมข้อมูลจากหลายอุตสาหกรรมเข้าด้วยกัน โดยไม่สามารถระบุได้ว่า มีการส่งออกบริการด้านงานวิศวกรรมหรือด้านสถาปัตยกรรมอย่างใด อีกทั้งส่วนใหญ่ ยังไม่มีการแยกการค้าและการบริการเอาไว้ อย่างไรก็ดี เมื่อปี ค.ศ. 2014 ทาง OECD ได้มีการจัดทำสถิติแยกประเภทของการค้าภาคบริการเอาไว้ และขณะนี้ มีการจัดทำข้อมูลดังกล่าวของกว่า 50 ประเทศ รวมถึงยังมีการจัดทำคู่มือการค้าและบริการใหม่ มีการจัดทำข้อมูลเกี่ยวกับการค้าดิจิทัล ซึ่งสามารถใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญสำหรับ การเจรจา และแม้ว่า ที่ผ่านมากว่า 20 ปี จะมีข้อจำกัดเกี่ยวกับวิธีการวัดผลกระทบจากการเปิดเสรีการค้าบริการ โดยเฉพาะข้อจำกัดด้านข้อมูล การขาดทักษะการสร้างแบบจำลองการลดอุปสรรคทางการค้า และการลดค่าใช้จ่าย ในการทำธุรกิจระหว่างประเทศ แต่ปัจจุบันสามารถจัดทำข้อมูลดังกล่าวแล้ว ดังนั้น จึงถึงเวลาที่จะต้องดำเนิน การเจรจาในเรื่องการเปิดเสรีภาคบริการให้มากขึ้น ซึ่งเชื่อว่า จะได้รับการสนับสนุนการดำเนินการโดยฝ่ายการเมือง


วิทยากรชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันตลาดเป็นตลาดของโลก (Global Market) ไม่มีข้อจำกัดด้านภูมิศาสตร์อีกต่อไป ดังนั้น การเจรจาในรูปแบบของพหุภาคีจึงมีความสำคัญมากและหลักการปฏิบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับ ความอนุเคราะห์ยิ่ง (Most-Favoured Nation Treatment: MFN) ถือว่า มีความเหมาะสมสำหรับการค้า ภาคบริการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อมีการออนไลน์ ผู้ให้บริการสามารถเข้าถึงได้ในทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับ SMEs จากประเทศกำลังพัฒนา พร้อมทั้งเห็นความสำคัญของการจัดทำวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศ (Joint Statement on Services Domestic Regulation) และการเจรจาในเรื่อง E-Commerce ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคธุรกิจ นอกจากนี้ ยังเห็นว่า การเจรจาด้านการบริการสิ่งแวดล้อมและการอำนวยความสะดวกด้านการลงที่มีการดำเนินการคู่ขนานไปนั้น มีความสำคัญต่อภาคธุรกิจมาก


วิทยากรให้ข้อคิดเห็นเพิ่มเติมว่า การที่อินโดนีเซียซึ่งเป็นเจ้าภาพการประชุม G20 ได้กำหนดให้การปฏิรูป WTO และการส่งเสริมการค้าพหุภาคีเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น เป็นเรื่องที่มีความสำคัญมาก ทั้งนี้ เพื่อสร้างกฎระเบียบและสนับสนุนการเปิดเสรีด้านการค้าควบคู่กันไป


 

ผู้ที่สนใจสามารถรับชมคลิปการสัมมนาได้ที่ https://youtube.com/watch?v=6snN3rIUlhw

187 views
bottom of page