top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

ทูตไทยได้รับเกียรติเป็นผู้นำการอภิปรายการทบทวนนโยบายการค้าครั้งที่ 7 ของอินเดีย


WTO จัดการประชุมทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review: TPR) ครั้งที่ 7 ของอินเดีย เมื่อวันที่ 6 และ 8 มกราคม 2564 ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูต (ออท.) ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ได้รับเกียรติให้เป็นผู้นำการอภิปราย (Discussant) TPR ของอินเดียในครั้งนี้


TPR เป็นกลไกตรวจสอบนโยบายการค้าของสมาชิก WTO เพื่อสร้างความโปร่งใส และส่งเสริมการปฏิบัติตามกฎเกณฑ์การค้าพหุภาคี โดยประธานองค์กรทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review Body) จะคัดเลือกผู้แทนระดับ ออท. ทำหน้าที่เป็นผู้นำการอภิปรายในแต่ละ TPR เพื่อวิเคราะห์มาตรการทางการค้าและการลงทุนของสมาชิก ซึ่งนำไปสู่การแลกเปลี่ยนทรรศนะระหว่างสมาชิก


ใน TPR ครั้งที่ 7 ของอินเดีย ออท. สุนันทา ได้นำเสนอมุมมองที่น่าสนใจว่า อินเดียเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลก จึงมีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก และเป็นคู่ค้าหลักของหลายประเทศ ในระหว่างปี 2558 – 2563 ซึ่งเป็นช่วงการทบทวนนโยบายการค้า เศรษฐกิจอินเดียขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะภาคบริการ และอินเดียได้ปฏิรูปประเทศหลายด้าน ทั้งการปรับปรุงพิธีการศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า การเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของชาวต่างชาติเพื่อดึงดูดนักลงทุน การประกาศใช้ Goods and Services Tax เพื่อลดความซับซ้อนของการจัดเก็บภาษีทางอ้อม และการแก้ไขกฎระเบียบด้านมาตรฐานสินค้า เพื่ออนุญาตให้ผู้ประกอบการสามารถรับรองมาตรฐานด้วยตนเอง การปฏิรูปดังกล่าวส่งผลให้อินเดียเป็นหนึ่งในประเทศที่มีพัฒนาการดีที่สุดในโลก ตามการจัดอันดับ Trading Across Borders และ Ease of Doing Business ของธนาคารโลกในปี 2563


สำหรับการประชุมครั้งนี้ อินเดียได้รับคำถามมากกว่า 1,000 คำถาม จากสมาชิก WTO 32 ประเทศ และมีสมาชิกมากถึง 53 ประเทศ ร่วมแสดงความเห็นต่อนโยบายการค้าและการลงทุนของอินเดีย โดย ออท. สุนันทา มองว่า การที่สมาชิกแสดงความสนใจอย่างท่วมท้นต่อ TPR อินเดีย แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของอินเดียต่อการค้าโลกและ WTO โดยสมาชิกหลายรายยกย่องอินเดีย ในการส่งเสริมบรรยากาศการค้าและการลงทุน ขณะเดียวกัน สมาชิกจำนวนไม่น้อยได้แสดงข้อกังวลต่อมาตการของอินเดีย ซึ่งสะท้อนถึงโอกาสในการปรับปรุง แก้ไข และเพิ่มความโปร่งใสในการใช้มาตรการต่อไป อาทิ การเปิดเสรีภาคการเกษตรเพิ่มขึ้น การปฏิรูปโครงสร้างภาษี การส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติในธุรกิจค้าปลีก พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ และสถาบันการเงิน การปรับปรุงมาตรการใบอนุญาตนำเข้า การแจ้งข้อมูลการอุดหนุนสินค้าเกษตรต่อ WTO การปรับมาตรการ SPS และ TBT ให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และการใช้มาตรการเยียวยาทางการค้าด้วยความรอบคอบ เป็นต้น

นอกจากนี้ ในเวที WTO อินเดียมีบทบาทเด่นในการผลักดันการเจรจา เพื่อประโยชน์ของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ซึ่ง ออท. สุนันทา และสมาชิกหลายรายสนับสนุนให้อินเดียมีส่วนร่วมในการเจรจาอย่างสร้างสรรค์ และยึดมั่นต่อการปฏิบัติตามพันธกรณีต่อไป



ดร. ดวงกมล คาร์พินสกี

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

11 มกราคม 2564


132 views
bottom of page