top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

การผลักดันนโยบายด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมของสมาชิกองค์การการค้าโลก (WTO)

นโยบายด้านการค้าที่เกี่ยวข้องกับเรื่องสิ่งแวดล้อม ถือเป็นเครื่องมือสำคัญอันหนึ่งในการส่งเสริมการพัฒนาอย่างยั่งยืน และการปกป้องและรักษาทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของโลก โดยประเด็นเรื่องนี้เป็นหนึ่งในเป้าหมาย ที่สำคัญขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) นับตั้งแต่การจัดตั้ง WTO ตามข้อผูกพันของความตกลงมาร์ราเกช โดยมีการดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าวร่วมไปกับการพยายามลดอุปสรรคทางการค้าและการขจัดการเลือกปฏิบัติระบบการค้าแบบพหุภาคี


ในช่วงปี 2565 ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิก WTO ได้มีความพยายามอย่างต่อเนื่องที่จะแสดงถึงการให้ความสำคัญต่อการผลักดันประเด็นด้านการค้าและสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะในกรอบการประชุมของคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อม (Committee on Trade and Environment: CTE) ซึ่งมีบทบาททั้งในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ การพิจารณาการแจ้ง (Notification) ความคืบหน้าของการดำเนินการของสมาชิกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้า การส่งเสริมความร่วมมือของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือต่างๆ และการจัดทำแผนการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นข้อริเริ่มใหม่ให้มีผลที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น


หนึ่งในนโยบายและมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้าที่สำคัญที่ได้มีการแจ้งความคืบหน้าให้กับสมาชิก WTO ทราบภายใต้กรอบการประชุม CTE คือ นโยบาย European Green Deal ของสหภาพยุโรป ซึ่งถือว่า นโยบายดังกล่าวเป็นการกำหนดแนวโน้ม (trend) ที่สำคัญ ซึ่งจะมีผลกระทบต่อรูปแบบการค้าและ การผลิตของประเทศคู่ค้าทั่วโลกกับสหภาพยุโรป โดยที่ผ่านมา สหภาพยุโรปได้แจ้งข้อมูลเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินนโยบาย European Green Deal โดยระบุถึง แผน Fit for 55 Package ซึ่งเป็น Roadmap สำหรับ การบรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่สหภาพยุโรปมีแผนจะลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงร้อยละ 50-55 ภายในปี 2573 (ค.ศ. 2030) และลดลงเป็นศูนย์ภายในปี 2593 (ค.ศ.2050) และจะให้ความสำคัญกับการใช้มาตรการทางภาษีเป็นเครื่องมือ ซึ่งหนึ่งในมาตรการทางภาษีดังกล่าวคือ มาตรการเก็บภาษีคาร์บอนต่อสินค้านำเข้าจากประเทศที่มีมาตรฐานการลดปริมาณคาร์บอนที่ต่ำกว่าสหภาพยุโรป ที่เรียกว่า กลไกการปรับคาร์บอนก่อนเข้าพรมแดน (Carbon Border Adjustment Mechanism: CBAM)


สหภาพยุโรปแจ้งว่า มาตรการ CBAM มีวัตถุประสงค์เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนและลดผลกระทบจาก การรั่วไหลของคาร์บอน และเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการดำเนินธุรกิจที่เป็นไปตามหลักการของ WTO ล่าสุด กระบวนการออกมาตรการ CBAM ได้เข้าสู่ขั้นตอนการเจรจาหารือ 3 ฝ่าย (trilogue) ระหว่างคณะกรรมาธิการยุโรป รัฐสภายุโรป และคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป โดยผลการเจรจาเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ทั้งสามฝ่ายได้มีข้อสรุปเป็นข้อตกลงชั่วคราว (provisional agreement) ในบางประเด็นที่จะสามารถเริ่มบังคับใช้วันที่ 1 ตุลาคม 2566 และจะจัดให้มีช่วงระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) ขณะที่ ยังมีหลายประเด็นที่จะต้องรอผลการเจรจาการจัดทำร่างกฎหมายอื่น ๆ ก่อนจะให้ดำเนินการต่อไป ทั้งนี้ สหภาพยุโรปได้กำหนดให้ช่วง 3 ปีแรก (ปี 2566-2568) มีกลุ่มสินค้าที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนสูงในกระบวนการผลิต 5 ประเภท ได้แก่ ปูนซีเมนต์ กระแสไฟฟ้า ปุ๋ย เหล็กและเหล็กกล้า และอลูมิเนียม ที่ผู้นำเข้าสินค้าไปยังสหภาพยุโรปจะต้องรายงานข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการผลิตก่อนที่จะจัดเก็บภาษีอย่างเป็นทางการในปี 2569 (ค.ศ. 2026)


นอกเหนือจากมาตรการ CBAM แล้ว สหภาพยุโรปยังได้แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับการออกกฎระเบียบใหม่เพื่อแก้ไขปัญหาการตัดไม้ทำลายป่า โดยการสนับสนุนห่วงโซ่อุปทานที่ปราศจากการตัดไม้ทำลายป่า (Deforestation-free Supply Chains) ซึ่งมีการขยายประเภทสินค้าให้ครอบคลุมถึงสินค้าน้ำมันปาล์ม ถั่วเหลือง เนื้อวัว ปศุสัตว์ โกโก้ กาแฟ รวมทั้งผลิตภัณฑ์จากหนัง ช็อคโกแลต และเฟอร์นิเจอร์ ที่ผู้ส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโปจะต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์ และการวิเคราะห์ต้นทุนผลประโยชน์ในการดำเนินการผลิตว่า มีผลกระทบต่อการตัดไม้ผิดกฎหมายหรือไม่ โดยกลไกการตรวจสอบหลัก จะประกอบด้วย การดำเนินการตาม (1) กระบวนการตรวจสอบข้อเท็จจริง (Due Diligence) ซึ่งกำหนดให้ผู้ประกอบการ SMEs ทั้งในสหภาพยุโรปและประเทศอื่น ๆ ต้องรวบรวมข้อมูลสินค้าที่ต้องการจำหน่ายในสหภาพยุโรปและรับรองว่า สินค้านั้นไม่เกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า และส่งข้อมูลผ่านระบบในให้หน่วยงานกำกับดูแลของสหภาพยุโรป และ (2) การใช้ระบบเปรียบเทียบระหว่างประเทศ (Country benchmarking system) โดยคณะกรรมการธิการยุโรปจะประเมินความเสี่ยงของประเทศว่า มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตัดไม้ทำลายป่า หรือทำให้ป่าเสื่อมโทรมในการผลิตสินค้าและผลิตภัณฑ์หรือไม่ โดยแบ่งออกเป็นกลุ่มประเทศที่มีความเสี่ยงสูง มาตรฐาน และต่ำ ทั้งนี้ สินค้าที่มาจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงอาจจะถูกตรวจสอบและใช้กฎเกณฑ์ที่เข้มงวดกว่าสินค้าจากประเทศความเสี่ยงต่ำ


นอกจากนี้ สหภาพยุโรปยังได้แจ้งให้ทราบถึงการออกมาตรการอื่นๆ ภายใต้นโยบาย European Green Deal ซึ่งอยู่ใน Circular Economy Action Plan 2020 ได้แก่ การเตรียมการออกกฎระเบียบการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Ecodesign for Sustainable Products Regulation: ESPR) และการออกกฎระเบียบการส่งออกของเสีย (Waste Shipment Regulation: WSR) โดย ESPR เป็นการต่อยอดจาก Ecodesign Directive ซึ่งเป็นระเบียบเดิมของสหภาพยุโรปโดยมีการกำหนดมาตรการที่เฉพาะเจาะจงกับสินค้าแต่ละประเภท (product-specific measures) และมีประเด็นที่แตกต่างจากกฎระเบียบเดิม เช่น (1) มีการกำหนดขอบเขตสินค้าเพิ่มเติม นอกเหนือจากสินค้า energy-related products (2) มีการเพิ่มข้อกำหนดใหม่เกี่ยวกับคุณสมบัติของสินค้าบางชนิด ในเรื่องความทนทาน ความง่ายในการนำกลับมาใช้ใหม่ (3) มี horizontal rules ที่ใช้กับสินค้าทุกชนิด โดยให้ความสำคัญกับข้อมูลเกี่ยวกับสินค้า เช่น การจัดทำ Digital Product Passport (DPP) และการติดฉลากสินค้า เพื่อการตรวจสอบข้อมูลในทุกกิจกรรมการผลิต และ (๔) มาตรการจะอยู่บนพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และจะอ้างอิงมาตรฐานระหว่างประเทศ ขณะเดียวกัน สหภาพยุโรปยังได้แจ้งว่า คณะกรรมาธิการยุโรป (European Commission) ได้ให้ความเห็นชอบกฎระเบียบใหม่ของ WSR ซึ่งกำหนดว่า การส่งของเสียออกจากสหภาพยุโรปไปยังประเทศ non-OECD countries จะอนุญาตให้ทำได้เฉพาะในกรณีที่ประเทศปลายทางได้แจ้งต่อคณะกรรมาธิการยุโรปแล้วว่า ยินยอมที่จะนำเข้า และประเทศดังกล่าวสามารถจัดการกับของเสียที่นำเข้าไปได้อย่างยั่งยืน


นอกจากการแจ้งความคืบหน้าของการดำเนินการของสมาชิกในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการออกมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับการค้าดังที่ได้กล่าวข้างต้นแล้ว สมาชิก WTO ยังได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเรื่องความคืบหน้าในการดำเนินการส่งเสริมความร่วมมือของประเทศสมาชิกในกรอบความร่วมมือต่าง ๆ ด้วย อาทิ (1) เรื่องข้อริเริ่มเกี่ยวกับการจัดทำความตกลงว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การค้าและความยั่งยืน (Agreement on Climate Change, Trade and Sustainability: ACCTS) โดยนิวซีแลนด์ได้รายงานข้อมูลความคืบหน้าของการเจรจาเพื่อจัดทำความตกลง ACCTS ร่วมกับคอสตาริกา ฟิจิ ไอซ์แลนด์ นอร์เวย์ และสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งที่ผ่านมา เมื่อเดือนกันยายน 2565 ได้มีการประชุมเจรจารอบที่ 10 เรื่องการกำหนดกลุ่มสินค้าและบริการด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีสินค้าสิงแวดล้อมมากกว่า 200 รายการ และเปิดโอกาสให้สมาชิก WTO เข้าร่วมในการเจรจาพหุภาคีดังกล่าว และ (2) เรื่องการปฏิรูปการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel Subsidy Reform: FSSR) โดยนิวซีแลนด์ในฐานะผู้แทนกลุ่มประเทศที่จัดทำ Fossil Fuel Subsidy Reform Ministerial Statement ได้รายงานความคืบหน้าหลังการประชุม MC12 โดยเมื่อวันที่ 3 ตุลาคม 2565 นิวซีแลนด์ได้จัดการประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ International Institute for Sustainable Development (IISD), WTO Economic Research Division, APEC Trade and Investment Committee และ UN Framework Convention on Climate Change (UNFCCC) โดยมีเนื้อหาครอบคลุมในเรื่อง FSSR และเป็นการติดตามผลตามความตกลง Paris Agreement ด้วย


ในส่วนของข้อริเริ่มใหม่ในด้านการส่งเสริมการค้าและสิ่งแวดล้อมนั้น สมาชิกของ WTO ได้ดำเนินการอย่างแข็งขัน โดยเฉพาะภายใต้การประชุมเรื่องการลดมลภาวะจากขยะพลาสติกและการค้าพลาสติกอย่างยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (WTO Informal Dialogue on Plastics Pollution and Environmentally Sustainable Plastic Trade: IDP) ซึ่งได้เปิดตัวเมื่อปี 2563 และปัจจุบันมีประเทศสมาชิก 75 ประเทศ (รวมไทย) และการประชุมหารือร่วมกันด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Trade and Environmental Sustainability Structured Dialogue: TESSD) ซึ่งได้เปิดตัวเมื่อปี 2563 และมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมเป็น co-sponsors รวม 74 ประเทศ


ที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกของ IDP ได้ร่วมกันหารือถึงแนวทางการดำเนินการเพื่อบรรลุเป้าหมายตามที่แถลงการณ์รัฐมนตรี WTO สมัยสามัญครั้งที่ 12 (MC12) เมื่อเดือนธันวาคม 2564 กำหนดไว้ โดยย้ำถึงความสำคัญในการจัดทำผลลัพธ์อย่างเป็นรูปธรรมและสามารถปฏิบัติได้จริง เพื่อนำเสนอต่อที่ประชุมรัฐมนตรี WTO สมัยสามัญ ครั้งที่ 13 (MC13)


โดยในช่วงปี 2565 สมาชิกของ IDP ได้จัดการประชุมด้านเทคนิคต่อเนื่องตลอดปี โดยได้กำหนดประเด็นหารือใน 3 หัวข้อหลัก ได้แก่ (1) ประเด็น cross-cutting ซึ่งสมาชิกได้ร่วมกันหารือเกี่ยวกับการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคและส่งเสริมศักยภาพแก่ประเทศสมาชิก โดยเฉพาะในเรื่องการลดช่องว่างทางเทคโนโลยี และการส่งเสริมความร่วมมือระหว่างประเทศและกับองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ความโปร่งใสและการเข้าถึงข้อมูล รวมทั้งได้มีการจัดทำแบบประเมินความจำเป็นในการได้รับความช่วยเหลือภายใต้โครงการ Aid For Trade และแบบสอบถามมาตรการควบคุมพลาสติกที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า (Trade-related Plastics Measures: TrPMs) เพื่อนำข้อมูลมาประกอบการวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะต่อไป (2) ประเด็นเกี่ยวกับการหมุนเวียนและการลดมลภาวะจากขยะพลาสติก โดยสมาชิกได้แลกเปลี่ยนความเห็นและรับฟังข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในแง่ต่าง ๆ อาทิ บทบาทของนโยบายการค้าในการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจหมุนเวียนสำหรับพลาสติก โอกาสและความท้าทายของนโยบายการค้าในการลดมลภาวะจากขยะพลาสติกตลอดช่วงวงจรชีวิตสินค้า การสนับสนุนทางการค้าเพื่อลดสินค้าพลาสติก ที่ไม่จำเป็นและก่อให้เกิดผลเสียหาย ซึ่งรวมถึงสินค้าพลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว (single-use) และบรรจุภัณฑ์พลาสติก (packaging) การจัดการขยะพลาสติก และ (3) ประเด็นเกี่ยวกับ การส่งเสริมการค้าเพื่อลดมลภาวะจากขยะพลาสติก โดยผ่านการหารือและรับฟังข้อมูลจากผู้เชี่ยวชาญในแง่ต่างๆ อาทิ สินค้าทางเลือกและทดแทน (substitutes and alternatives) ที่ยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ตลอดจนเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องกับสินค้าดังกล่าว


ขณะที่สมาชิกของ TESSD ที่ผ่านมา ตลอดปี 2565 ได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการหารืออย่างสร้างสรรค์ของประเทศสมาชิกและองค์กรที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ รวมถึงการจัดประชุมเพื่อหารือร่วมกันใน 4 ประเด็นหลัก ได้แก่ (1) ประเด็นเกี่ยวกับมาตรการสภาพภูมิอากาศที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า (trade-related climate measures: TrCMs) โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายเกี่ยวกับการกำหนดราคาคาร์บอน (Carbon pricing) และมุ่งเน้นการหารือในประเด็นเกี่ยวกับมาตรฐานการวัดระดับคาร์บอนและมาตรการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน และความท้าทายของการจัดทำมาตรการ TrCMs สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด รวมถึงความสอดคล้องของมาตรการกับกฎเกณฑ์ WTO และความตกลงระหว่างประเทศด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งรวมถึงหลักการรับผิดชอบร่วมและแตกต่างกัน (Common But Differentiated Responsibilities) (2) ประเด็นเกี่ยวกับสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม โดยมุ่งเน้นเป้าหมายการปรับตัวและบรรเทาสภาวะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change mitigation and adaptation) และสาขาพลังงานหมุนเวียนเป็นหลัก รวมทั้งมีการหารือเกี่ยวกับมาตรการที่มิใช่ภาษี (NTMs) ที่เป็นอุปสรรคต่อการค้าสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม (3) ประเด็นเกี่ยวกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy-Circularity ) เน้นการหารือร่วมกันในรูปแบบ mapping exercise เพื่อสร้างความเข้าใจมากขึ้นถึงความเกี่ยวเนื่องของนโยบายทางการค้าในแต่ละช่วงวงจรชีวิตของสินค้า (lifecycle) โดยเฉพาะขั้นตอนการจำกัดขยะ (waste disposal) และการรีไซเคิล โดยจะเริ่มต้นการหารือเกี่ยวกับสาขาพลังงานหมุนเวียนและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และ (4) ประเด็นเกี่ยวกับการอุดหนุน (Subsidies) มุ่งเน้นการวิเคราะห์ผลกระทบเชิงลบและเชิงบวกของการอุดหนุนต่อสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการอุดหนุนการเกษตรและการอุดหนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ (transition to a low-carbon economy)


จะเห็นได้ว่า ตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา สมาชิก WTO ได้มีการผลักดันนโยบายและประเด็นด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมในหลายประเด็น ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่า สมาชิกได้ให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ขณะเดียวกันก็พยายามที่จะสร้างแนวทางใหม่ที่สมดุลควบคู่ไปกับการเสริมโอกาสทางการค้าและลดความท้าทายในระบบการค้าของโลก เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ซึ่งคงจะต้องติดตามความคืบหน้าของนโยบาย มาตรการ และความร่วมมือต่าง ๆ ที่กล่าวถึงข้างต้นอย่างต่อเนื่องต่อไป

209 views
bottom of page