top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

การปฏิรูปกลไกระงับข้อพิพาทขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO)


ตามที่ “จับกระแสการค้าโลก” ได้นำเสนอบทความเกี่ยวกับปัญหาการชะงักงันขององค์กรอุทธรณ์หรือ Appellate Body ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO มาอย่างต่อเนื่อง (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ วิกฤต WTO เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท, สหรัฐฯ คว่ำองค์กรอุทธรณ์ของ WTO, EU เสนอผ่าทางตันการระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO)


บัดนี้ เวลาผ่านไปกว่า 15 เดือนแล้วนับจากที่สมาชิกคนสุดท้ายขององค์กรอุทธรณ์หมดวาระลง ทำให้สมาชิกขององค์กรอุทธรณ์ว่างลงทุกตำแหน่งโดยสมบูรณ์ จึงอยากขอเชิญชวนผู้อ่านมาทบทวนกันสักนิดว่า ในห้วงที่ผ่านมา การแก้ปัญหาเรื่องนี้คืบหน้าไปแค่ไหนอย่างไรบ้าง


หากให้กล่าวโดยสรุปรวบรัดคงต้องบอกว่ายังไม่มีความคืบหน้ามากนัก เนื่องจากสหรัฐฯ ยังคงเป็นประเทศเดียวที่คัดค้านทำให้องค์กรระงับข้อพิพาท (Dispute Settlement Body หรือ DSB) ของ WTO ยังไม่สามารถหาฉันทามติที่จะแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์มาทดแทนตำแหน่งที่ว่างลงได้ โดยยังอ้างเหตุผลเรื่องการทำหน้าที่ที่ผ่านมาขององค์กรอุทธรณ์ที่สหรัฐฯ มองว่าทำหน้าที่เกินอาณัติในหลายประเด็น อาทิ การใช้อำนาจตุลาการเกินขอบเขต การใช้คำตัดสินขององค์กรอุทธรณ์เป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย หรือการให้ความเห็นเชิงแนะนำ (Advisory Opinion) และสหรัฐฯ เห็นว่าควรต้องมีการปฏิรูปกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO โดยรวมเพื่อแก้ไขปัญหาเชิงโครงสร้างดังกล่าวก่อนที่จะพิจารณาแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ แต่ก็ยังมิได้มีข้อเสนอใดที่เป็นรูปธรรม ทำให้ภาวะชะงักงันยังคงยืดเยื้อมาจนถึงปัจจุบัน


ขณะที่เมื่อดูในเชิงสถิติ (ณ วันที่ 1 มีนาคม 2565) ก็มีตัวเลขที่น่าสนใจหลายประการ ประการแรก นับจากที่สหภาพยุโรปได้ประกาศริเริ่มข้อตกลงหลายฝ่ายเพื่อใช้อนุญาโตตุลาการในการพิจารณาคดีอุทธรณ์เป็นการชั่วคราว (Multi-Party Interim Appeal Arbitration Arrangement หรือ MPIA) เมื่อเดือนเมษายน 2563 ซึ่งแรกเริ่มมีสมาชิก WTO เข้าร่วม 20 รายรวมสหภาพยุโรป ปัจจุบันข้อตกลง MPIA มีสมาชิกเพิ่มเป็น 27 ราย ประการที่สอง จำนวนสมาชิกที่เข้าชื่อสนับสนุนข้อเสนอของเม็กซิโกต่อที่ประชุม DSB ที่เรียกร้องให้มีการเริ่มกระบวนการคัดเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ทดแทนตำแหน่งที่ว่างโดยเร็วก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เช่นกัน โดยล่าสุดมี 123 ประเทศที่เข้าชื่อซึ่งคิดเป็นสัดส่วนถึงสามในสี่ของสมาชิก WTO ทั้งหมด และประการสุดท้าย แม้หลังจากองค์กรอุทธรณ์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้แล้ว สมาชิก WTO ก็ยังคงยื่นเรื่องอุทธรณ์ตามกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO อย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีคดีในกรอบ WTO ที่อยู่ระหว่างอุทธรณ์ 17 คดี และ 11 คดีเป็นคดีที่มีการยื่นอุทธรณ์หลังเดือนธันวาคม 2562 ซึ่งเป็นที่แน่ชัดแล้วว่าองค์กรอุทธรณ์ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ รวมถึงคดีที่ยื่นอุทธรณ์โดยสหรัฐฯ ทั้งนี้ ยังไม่นับรวมคดีที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะผู้พิจารณา (Panel) อีกหลายสิบคดี และการริเริ่มกระบวนการหารือซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของกลไกระงับข้อพิพาทในกรอบ WTO


ตัวเลขข้างต้นบอกอะไร? แน่นอน อาจมีบางคนที่มองว่า การยื่นอุทธรณ์ในขณะที่ไม่มีองค์กรอุทธรณ์ปฏิบัติหน้าที่คือการอุทธรณ์ที่ไร้ความหมาย หรือการที่สมาชิก WTO ถึงสามในสี่เข้าชื่อเรียกร้องให้ริเริ่มกระบวนการ คัดเลือกแต่ก็ไม่สามารถผ่าทางตันได้สะท้อนถึงความไม่มีประสิทธิภาพของกระบวนการตัดสินใจของ WTO ที่ต้องอยู่บนพื้นฐานของฉันทามติ แต่ในอีกด้านหนึ่ง ตัวเลขข้างต้นก็เป็นเครื่องสะท้อนได้อย่างดีถึงความเชื่อมั่นของสมาชิกที่มีต่อกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO อันเป็นเสมือนเขี้ยวเล็บและเป็นหลักประกันว่ากฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศที่ผ่านการเจรจาอย่างเข้มข้นและได้รับการรับรองจากสมาชิกจะได้รับการปฏิบัติตาม ตลอดจนมีการตัดสินข้อพิพาทอย่างเป็นกลางและเป็นธรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญของระบบการค้าโลก แม้ว่าในทางปฏิบัติ อาจมีข้อบกพร่องบางประการที่ทำให้สมาชิกบางประเทศอาจเกิดข้อห่วงกังวล แต่ก็เป็นความท้าทายที่ทุกประเทศต้องร่วมมือแก้ไข และหาทางออกร่วมกัน

การปฏิรูป WTO รวมถึงการปฏิรูปกลไกระงับข้อพิพาทเป็นหนึ่งในวาระสำคัญที่จะมีการหยิบยกขึ้นหารือ ในการประชุมรัฐมนตรี WTO (Ministerial Conference: MC) ครั้งที่ 12 ที่กำหนดจะจัดในเดือนมิถุนายน 2565 ที่จะถึงนี้ จึงเป็นที่จับตามอง (ด้วยความหวัง) ว่า สมาชิก WTO จะสามารถตกลงร่วมกันเกี่ยวกับแนวทางที่เป็นรูปธรรมได้

1,309 views
bottom of page