top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

EU เสนอผ่าทางตันการระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO



EU ประกาศใช้อนุญาโตตุลาการ ในการพิจารณาคดีอุทธรณ์ภายใต้ WTO ในระหว่างที่องค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ในการตัดสินคดีอุทธรณ์ได้


การคัดค้านของสหรัฐฯ ในการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์เพื่อทดแทนตำแหน่งที่ว่าง ส่งผลให้เกิดวิกฤตในการระงับข้อพิพาทของ WTO โดยสมาชิกองค์กรอุทธรณ์เหลือเพียง 1 คน จากปกติที่จะต้องมี 3 คนจึงจะสามารถตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ได้ ดังนั้น สมาชิก WTO บางส่วนจำเป็นต้องหาทางเลือกอื่น ๆ ในการอุทธรณ์ เพื่อทำให้คดีพิพาทถึงที่สุด


เมื่อวันที่ 30 เมษายน 2563 EU ได้เผยแพร่เอกสารข่าวผ่านทางเว็บไซต์ ระบุว่า EU และสมาชิก WTO รวม 19 ประเทศ* ได้แจ้งการใช้ข้อตกลงหลายฝ่ายเพื่อใช้อนุญาโตตุลาการในการพิจารณาคดีอุทธรณ์เป็นการชั่วคราว (Multi-Party Interim Appeal Arbitration Arrangement: MPIA) ต่อองค์กรระงับข้อพิพาทของ WTO แล้ว การจัดทำข้อตกลงหลายฝ่ายฯ อยู่บนพื้นฐานของข้อ ๒๕ ของ DSU ซึ่งใช้กับการพิจารณาคดีอุทธรณ์เป็นการชั่วคราว ในระหว่างที่องค์กรอุทธรณ์ยังไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ โดยสมาชิกที่เข้าร่วมข้อตกลงหลายฝ่ายฯ จะคัดเลือกอนุญาโตตุลาการ 10 คน ซึ่งคาดว่า กระบวนการคัดเลือกบัญชีรายชื่ออนุญาโตตุลาการจะเสร็จภายในกรกฎาคม


การดำเนินการของ EU และสมาชิกดังกล่าวส่งผลให้คดีพิพาทระหว่างสมาชิกจะได้รับการรับการตัดสินคดีในชั้นอุทธรณ์ ภายใต้กระบวนการอนุญาโตตุลาการตามข้อ 25 อย่างไรก็ดี ในช่วงที่มีการแพร่ระบาดชองเชื้อไวรัส COVID -19 องค์กรระงับข้อพิพาท (DSB) ยังไม่สามารถจัดประชุมได้ จึงยังไม่สามารถประเมินท่าทีจากสมาชิกอื่น ๆ โดยเฉพาะสหรัฐฯ ว่า จะมีท่าทีเห็นด้วยหรือคัดค้านการดำเนินการของ EU และสมาชิกบางส่วนมากน้อยเพียงใด และหากสหรัฐฯ คัดค้าน ก็อาจส่งผลต่อการดำเนินการของอนุญาโตตุลาการที่ต้องพึ่งพางบประมาณและบุคลากรของ WTO ด้วย


ในขณะเดียวกัน EU ก็ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับการพิจารณาแก้ไขระเบียบ ที่ 654/2014 เรื่องการใช้สิทธิของสหภาพยุโรปเพื่อนำมาใช้และบังคับใช้กับกฎเกณฑ์การค้าระหว่างประเทศ (Regulation concerning the exercise of the Union’s rights for the application and enforcement of international trade rule) เพื่อเป็นมาตรการตอบโต้ต่อคู่พิพาทที่จะใช้การอุทธรณ์ต่อองค์การอุทธรณ์ (ซึ่งไม่สามารถพิจารณาตัดสินคดีได้) เป็นแนวทางหลีกเลี่ยงการทำให้คดีถึงที่สุด การแก้ไขระเบียบดังกล่าวมีแนวทางว่า ถ้าคู่พิพาทของสหภาพยุโรปที่แพ้คดีในชั้น Panel และไม่เป็นสมาชิกของ MPIA ได้อุทธรณ์ต่อองค์กรอุทธรณ์ (ซึ่งทำให้คดีไม่ถึงที่สุด) EU จะมีมาตรการเพื่อจำกัดการค้า (measures are taken to restrict trade) กับประเทศดังกล่าวได้ โดยมาตรการดังกล่าวจะสอดคล้องกับความสูญเสียหรือความเสียหายของผลประโยชน์เชิงพาณิชย์ของ EU ซึ่งได้รับจากการมาตรการของประเทศคู่พิพาท ทั้งนี้ รัฐสภายุโรปอาจให้ความเห็นชอบการแก้ไขระเบียบดังกล่าวในช่วงกลางปี 2563


มีหลายฝ่ายมองว่า การใช้มาตรการตอบโต้ของ EU มีสหรัฐฯ เป็นเป้าหมาย อย่างไรก็ดี มาตรการดังกล่าวก็ถูกมองว่าเป็นการใช้มาตรการฝ่ายเดียวตามอำเภอใจและเลือกปฏิบัติ ซึ่งอาจขัดกับ WTO ทั้งนี้ หาก EU ใช้มาตรการดังกล่าวกับประเทศที่มีศักยภาพทางเศรษฐกิจเท่าเทียมกัน ก็อาจเกิดการตอบโต้กันไปมาได้ แต่หาก EU ใช้กับประเทศที่มีสถานภาพทางเศรษฐกิจที่ไม่เท่ากัน ก็เป็นการยากที่ประเทศดังกล่าวจะตอบโต้ EU และอาจถูกบีบบังคับทางอ้อมให้เข้าเป็นสมาชิกของ MPIA เพื่อใช้กระบวนการอนุญาโตตุลาการ


ดังนั้น ในช่วงนี้ จึงต้องจับตามองกันว่า WTO จะยังสามารถเป็นเสาหลักและเป็นที่พึ่งให้กับสมาชิกในการอำนวยความยุติธรรมในการตัดสินคดีพิพาททางการค้าได้มากน้อยเพียงใด มิฉะนั้นแล้ว ก็อาจส่งผลให้เกิดการใช้มาตรการกีดกันทางการค้าตามอำเภอใจอย่างแพร่หลาย โดยไม่เกรงกลัวว่า เมื่อทำผิดกฎเกณฑ์ของ WTO แล้ว จะมีใครมาตัดสินคดี

*ออสเตรเลีย บราซิล แคนาดา จีน ชิลี โคลัมเบีย คอสตาริกา สหภาพยุโรป กัวเตมาลา ฮ่องกง ไอซ์แลนด์ เม็กซิโก นิวซีแลนด์ นอร์เวย์ ปากีสถาน สิงคโปร์ สวิสเซอร์แลนด์ ยูเครนและอุรุกวัย


กาจฐิติ วิวัธวานนท์

14 พฤษภาคม 2563

529 views0 comments

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page