top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

การจัดทำร่างสนธิสัญญาว่าด้วยกฎหมายการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Law Treaty)


Image credit : WIPO


องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) ได้จัดการประชุมคณะกรรมการถาวรว่าด้วยกฎหมายเครื่องหมายการค้า การออกแบบผลิตภัณฑ์ และสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ สมัยพิเศษ ( The Third Special Session of the Standing Committee on the Law of Trademarks, Industrial Designs and Geographical Indications: SCT Special Session) ช่วงระหว่างวันที่ 2-6 ตุลาคม 2566 และการประชุมคณะกรรมการเตรียมการประชุมทางการทูต (Preparatory Committee of the Diplomatic Conference to Conclude and Adopt a Design Law Treaty (DLT): Preparatory Committee) ระหว่างวันที่ 9-11 ตุลาคม 2566

การประชุม SCT Special Session มีสาระสำคัญในการพิจารณาจัดทำร่างข้อเสนอ (Draft Basic Proposal) สำหรับการประชุมทางการทูต เพื่อสรุปและรับรองสนธิสัญญาว่าด้วยการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Design Law Treaty: DLT) และการประชุม Preparatory Committee มีสาระสำคัญในการพิจารณาสรุปผลการประชุม SCT Special Session ที่มีการพิจารณาร่างข้อบทของ DLT เพื่อเสนอต่อที่ประชุมทางการทูต และพิจารณาร่างข้อบังคับการประชุมทางการทูต (Rules of Procedure)

ร่างข้อบทของ DLT มีสาระสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดเงื่อนไขและกระบวนการขอรับสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ (Industrial Design Formalities and Procedures) ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อนักออกแบบ (Designers) ที่ต้องการการคุ้มครองการออกแบบทางอุตสาหกรรม (Industrial Designs) และจะสามารถปฏิบัติตามระเบียบข้อกำหนด (Formality Requirement) และปฏิบัติตามขั้นตอน (Procedures) ได้สะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ เนื่องจากข้อกำหนดและขั้นตอนต่าง ๆ ดังกล่าว อาจมีความซับซ้อนและแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ ดังนั้น เป้าหมายหลักของการจัดทำ DLT คือการจัดทำกรอบกฎหมาย (Legal Framework) ที่ลดความซับซ้อน (Simplification) และความสอดคล้องกัน (Harmonization) ของระเบียบข้อกำหนดและการปฏิบัติตามขั้นตอนที่แตกต่างกันของสำนักงานทรัพย์สินทางปัญญาในประเทศต่าง ๆ โดยให้มีการจัดทำข้อกำหนดเกี่ยวกับมาตรฐานข้อกำหนดเดียว

สาระสำคัญของร่างข้อเสนอข้อบทของ DLT ที่สำคัญประกอบด้วย (1) การกำหนดข้อกำหนดสูงสุด (Maximum Set of Requirements) สำหรับการยื่นขอจดสิทธิบัตร (Registration) หรือการให้ความคุ้มครอง (Grant of Protection) ของการออกแบบอุตสาหกรรม ตลอดจนการบันทึกการให้สิทธิในการใช้สิทธิบัตร และการเปลี่ยนแปลง (2) การกำหนดรายการข้อกำหนดสำหรับการยื่นจดทะเบียน (Filing Date Requirement) (3) การกำหนดระยะเวลาในการเปิดเผยการออกแบบต่อสาธารณะก่อนวันยื่นคำขอรับสิทธิบัตร (Grace Period) (4) การกำหนดกลไกของการแก้ไข (Amendment) หรือการจำแนกการยื่นเอกสารขอจดทะเบียนที่มีการออกแบบอุตสาหกรรมตั้งแต่สองรายการขึ้นไป (5) การกำหนดกลไกเพื่อหลีกเลี่ยงการสูญเสียสิทธิ ซึ่งเป็นผลจากการไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนดด้านเวลา (6) การเปิดเผยแหล่งที่มาของการออกแบบที่มีส่วนสำคัญจากภูมิปัญญาท้องถิ่น การแสดงออกทางวัฒนธรรม และทรัพยากรพันธุกรรม และ (7) การให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างขีดความสามารถ (Technical Assistance and Capacity Building) โดยเฉพาะกับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) อย่างไรก็ดี ข้อบทของ DLT มิได้กำหนดคำจำกัดความของคำว่า การออกแบบอุตสาหกรรม (Industrial Design) และมิได้มีการปรับแก้ไขใด ๆ หรือสร้างความสอดคล้องในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสารัตถะของกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ


ร่างข้อบท DLT มีความแตกต่างจากความตกลงกรุงเฮกว่าด้วยการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมระหว่างประเทศ (Hague Agreement Concerning the International Registration of Industrial Designs) ซึ่งไทยเตรียมการเข้าร่วมเป็นภาคี ตรงที่ความตกลงกรุงเฮกฯ มีข้อบทเกี่ยวกับการอำนวยความสะดวกในการยื่นขอและกระบวนการอื่น ๆ เกี่ยวกับการจดทะเบียนการออกแบบผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมระหว่างประเทศแก่ผู้ประกอบการให้เป็นมาตรฐานเดียวกัน โดยมีขั้นตอนที่ชัดเจน กระชับและสะดวกมากขึ้น โดยประเทศภาคียังคงมีสิทธิที่จะพิจารณาในเชิงสาระและสามารถตัดสินใจได้ว่า จะให้ความคุ้มครองสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์และอุตสาหกรรมใดตามกฎหมายภายในของตน ขณะที่ ร่างข้อบทของ DLT จะเกี่ยวข้องกับกระบวนการที่เกี่ยวกับการให้ความคุ้มครองการออกแบบอุตสาหกรรม โดยมิได้กำหนดข้อกำหนดนิยามเกี่ยวกับการออกแบบหรือเงื่อนไขของการคุ้มครอง ซึ่งเป็นประเด็นที่ประเทศภาคีจะเป็นผู้พิจารณาในเรื่องนี้

ล่าสุด ประเทศสมาขิกของ WIPO ได้เห็นชอบให้ซาอุดีระเบียได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมทางการทูต เพื่อสรุปและรับรอง DLT ระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 ณ กรุงริยาด

62 views0 comments
bottom of page