top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

โควิดพ่นพิษ เศรษฐกิจโลกถดถอย



วิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 ทวีความรุนแรงและส่อแววยืดเยื้อ ปัจจุบันลุกลามกว่า 200 ประเทศทั่วโลก และติดเชื้อเกือบล้านคน นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนักคาดการณ์ผลกระทบต่อเศรษฐกิจการค้าโลกในหลายมิติ ดังนี้

1. เศรษฐกิจโลกถดถอย

1.1 เศรษฐกิจโลกในปี 2563 มีโอกาสเข้าสู่ภาวะถดถอย (Recession) โดย UNCTAD[1] ได้ปรับอัตราการขยายตัวของ GDP โลกจากร้อยละ 2.7 เหลือเพียงร้อยละ 1.7 และประเมินว่า มหันตภัยโควิด-19 อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกคิดเป็นมูลค่าสูงถึง 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งใกล้เคียงกับการวิเคราะห์ของ OECD[2] ที่ประเมินว่า อัตราการเติบโตของ GDP โลกจะลดลงเหลือเพียงร้อยละ 1.5 ในปี 2563 หากโควิด-19 แพร่ระบาดรุนแรงและเรื้อรังทั่วทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ยุโรป และอเมริกาเหนือ โดยปัจจัยสำคัญที่ทำให้เศรษฐกิจโลกซบเซาคืออุปสงค์ที่อ่อนตัวลง เนื่องจากประชาชนจำนวนมากสูญเสียรายได้ มีพฤติกรรมหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่มีความเสี่ยง และต้องปฏิบัติตามมาตรการของภาครัฐ เพื่อควบคุมการแพร่กระจายของไวรัส ทำให้การใช้จ่ายของภาคครัวเรือนลดลง และส่งผลกระทบต่อการผลิตและการลงทุนต่อเนื่องเป็นลูกโซ่

1.2 Harvard Business Review[3] คาดว่า มีความเป็นไปได้ที่เศรษฐกิจโลกจะเข้าสู่ภาวะถดถอยแล้วกลับมาเติบโตอย่างรวดเร็ว (V-Shape) แต่ถ้าสถานการณ์การแพร่ระบาดยืดเยื้อ อาจทำให้เศรษฐกิจโลกถดถอยในระยะหนึ่ง ก่อนที่จะฟื้นตัวอย่างช้าๆ (U-Shape) อย่างไรก็ดี มีโอกาสน้อยมากที่หลังจากภาวะถดถอยจบไปแล้ว เศรษฐกิจโลกแทบจะไม่เติบโตหรือโตในอัตราชะลอตัวเป็นวลานาน (L-Shape) ทั้งนี้ โลกเคยประสบสภาวะเศรษฐกิจถดถอยแบบ V-Shape ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่สเปน ปี 2461 ไข้หวัดใหญ่ H2N2 ปี 2501 ไข้หวัดใหญ่ H3N2 ปี 2511 และโรค SARS ปี 2545

2. ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงัก

บทบาทของจีนต่อห่วงโซ่อุปทานโลกเริ่มเด่นชัดขึ้น หลังจากจีนเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อปี 2544 โดยจีนเป็นผู้ส่งออกอันดับหนึ่งและผู้นำเข้าอันดับสองของโลก รวมทั้งเป็นผู้ผลิตสินค้าขั้นกลางรายใหญ่ที่สุดของโลก การที่เศรษฐกิจของจีนหยุดชะงัก และอุตสาหกรรมการผลิตของจีนทรุดตัวร้อยละ 13.5 ในช่วงสองเดือนแรกของปี 2563 ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการผลิตและการส่งออกของประเทศที่พึ่งพาการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากจีน โดยจากการวิเคราะห์ของ UNCTAD[4] พบว่า ประเทศและสินค้าที่จะได้รับผลกระทบจากการหดตัวของภาคการผลิตของจีนมากที่สุด ได้แก่ สหภาพยุโรป (เครื่องจักร ยานยนต์ และเคมีภัณฑ์) สหรัฐอเมริกา (เครื่องจักร ยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์) ญี่ปุ่น (เครื่องจักรและยานยนต์) เกาหลีใต้ (เครื่องจักรและอุปกรณ์สื่อสาร) จีนไทเป (อุปกรณ์สื่อสารและอุปกรณ์สำนักงาน) และเวียดนาม (อุปกรณ์สื่อสาร) ตามลำดับ นอกจากนี้ Harvard Business Review[3] คาดว่า โควิด-19 จะทำให้ภาคการผลิตในแต่ละประเทศลดการพึ่งพากัน ส่งผลให้ห่วงโซ่อุปทานโลกกระจายตัวมากขึ้น


3. การลงทุนทรุดตัว

ผลการศึกษาของ UNCTAD[5] ชี้ให้เห็นว่า โควิด-19 อาจทำให้การลงทุนทั่วโลกลดลงร้อยละ 30 – 40 ระหว่างปี 2563 ถึง 2564 และประเมินว่า บรรษัทข้ามชาติชั้นนำของโลก 5,000 แห่งอาจสูญเสียรายได้โดยเฉลี่ยร้อยละ 30 โดยธุรกิจพลังงานได้รับผลกระทบสูงที่สุด (ร้อยละ 208) เนื่องจากราคาน้ำมันดิ่งลงทั่วโลก ตามมาด้วยธุรกิจการบิน (ร้อยละ 116) และธุรกิจยานยนต์ (ร้อยละ 47) โดยบรรษัทข้ามชาติในประเทศพัฒนาแล้วอาจสูญเสียรายได้โดยเฉลี่ยร้อยละ 35 สูงกว่าในประเทศกำลังพัฒนาซึ่งอาจสูญเสียรายได้ร้อยละ 20 ประเทศที่จะได้รับแรงกระทบมากที่สุดคือ สหรัฐฯ ตามมาด้วยประเทศในยุโรปและเอเชีย


4. การจ้างงานลดลง

การลดลงของการผลิต การใช้จ่ายอุปโภคบริโภค การลงทุน และการส่งออกสินค้าและบริการ นำไปสู่การลดลงของการจ้างงาน องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (International Labour Organization: ILO)[6] ประเมินว่า วิกฤตโควิด-19 อาจทำให้แรงงานทั่วโลกว่างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 25 ล้านคน สูงกว่าวิกฤตการเงินโลกระหว่างปี 2551 – 2552 ที่ส่งผลให้คนตกงาน 22 ล้านคน นอกจากนี้ ILO คาดการณ์ว่า การว่างงานอาจทำให้แรงงานสูญเสียรายได้ 8.6 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ ถึง 3.4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในสิ้นปี 2563 ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการบริโภคสินค้าและบริการ รวมถึงภาคธุรกิจและเศรษฐกิจของประเทศ


5. การค้าโลกสาหัส

OECD[2] คาดการณ์ว่า โควิด-19 อาจทำให้การค้าโลกในปี 2563 ลดลงประมาณร้อยละ 3.75 ขณะที่ Capital Economics[7] ซึ่งเป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการวิจัยทางเศรษฐศาสตร์ประเมินว่า มูลค่าการค้าโลกในปี 2563 อาจลดลงถึงร้อยละ 25 นอกจากนี้ WTO ได้จัดตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจ เพื่อวิเคราะห์ผลกระทบจากโควิด-19 ต่อการค้าโลกและจะเผยแพร่ในเดือนเมษายน 2563 โดยผู้อำนวยการใหญ่ WTO เปิดเผยในเบื้องต้นว่า โควิด-19 ทำให้การค้าโลกทรุดตัวอย่างหนัก


ผลกระทบด้านเศรษฐกิจมหภาคข้างต้นย่อมส่งผลต่อไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการหยุดชะงักของห่วงโซ่อุปทานโลก ซึ่งจากการศึกษาของ UNCTAD[4] พบว่า ไทยพึ่งพาการนำเข้าสินค้าขั้นกลางจากจีนสูงเป็นอันดับที่ 4 ในอาเซียน รองจากเวียดนาม สิงคโปร์ และมาเลเซีย ตามลำดับ หากการส่งออกสินค้าขั้นกลางจากจีนลดลงร้อยละ 2 จะทำให้ภาคการผลิตและการส่งออกของไทยได้รับผลกระทบ 733 ล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะได้รับความเสียหายมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ ยางและพลาสติก เครื่องจักร เคมีภัณฑ์ อุปกรณ์สื่อสาร ยานยนต์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ นอกจากนี้ ไทยควรระวังผลสืบเนื่องจากการซบเซาของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ภาวะผันผวนของตลาดหุ้น การลดลงของการใช้จ่ายภาคครัวเรือนและภาครัฐ รวมทั้งการขาดความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งอาจเป็นปัจจัยลบทำให้เศรษฐกิจไทยปี 2563 เติบโตในอัตราชะลอตัวสอดคล้องกับเศรษฐกิจโลก


ปัจจุบัน สมาชิก WTO หลายประเทศพยายามแสดงบทบาทเชิงบวก เพื่อผลักดันให้นานาประเทศร่วมมือกันบรรเทาผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกอย่างสร้างสรรค์ โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 กลุ่ม G20 ได้ออกถ้อยแถลงร่วมเพื่อเน้นย้ำการแก้ไขปัญหาการขาดแคลนสินค้าสำคัญ และสนับสนุนให้การดำเนินงานของเครือข่ายโลจิสติกส์เป็นไปอย่างราบรื่น เพื่อตอบสนองความต้องการด้านสาธารณสุข และอำนวยความสะดวกทางการค้าตามความเหมาะสม


[1] “The coronavirus shock: a story of another global crisis foretold and what policymakers should be doing about it,” UNCTAD, 9 มีนาคม 2563.

[2] “Coronavirus: The world economy at risk,” OECD, 2 มีนาคม 2563.

[3] “What Coronavirus Could Mean for the Global Economy,” Harvard Business Review, 3 มีนาคม 2563.


[4] “Global trade impact of the coronavirus (COVID-19) epidemic,” UNCTAD, 4 มีนาคม 2563.


[5] “Investment Trends Monitor – Impact of the COVID-19 Pandemic on Global FDI and GVCs,” UNCTAD, มีนาคม 2563.


[6] “COVID-19 and the world of work: Impact and policy responses,” ILO, 18 มีนาคม 2563.


[7] “Virus to reduce world trade by a fifth in 2020,” Capital Economics, 25 มีนาคม 2563.



ดร. ดวงกมล คาร์พินสกี

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

2 เมษายน 2563


Image: REUTERS/Aly Song

392 views
bottom of page