top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

อุปสรรคทางภาษีและไม่ใช่ภาษีของการค้าวัคซีน และสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19


1. อากรนำเข้าสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตวัคซีนโควิดของประเทศผู้ผลิตวัคซีนทั่วโลก รวมทั้งไทย ยังอยู่ในระดับสูงมาก[1] นอกจากปัญหาด้านกฎระเบียบต่าง ๆ แล้ว สินค้าที่เกี่ยวกับโควิด โดยเฉพาะวัตถุดิบที่จำเป็น ยังคงมีอากรนำเข้า (Average applied MFN tariff) ในระดับที่สูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง อิหร่าน (11.9%) คิวบา (10.3%) อาร์เจนตินา (9.6%) คาซัคสถาน (8.9%) และอินเดีย (8.5%) โดยไทยมีอัตราภาษีเฉลี่ยอยู่ที่ 6.4% สูงเป็นอันดับที่ 7 ในบรรดา 27 ประเทศผู้ผลิตวัคซีน ซึ่งถือว่าอยู่ในระดับที่สูงอย่างมีนัยสำคัญและไม่ควร

เพิกเฉย (Consequential and non-negligible)[2] (รูปที่ 3) สินค้าปัจจัยการผลิตวัคซีนโควิดที่ไทยมีอัตราภาษีนำเข้าสูง รวมทั้งมีสัดส่วนในการนำเข้าสูง ได้แก่ ถุงเครื่องปฏิกรณ์ชีวภาพ (Bioreactor bags) มีอัตราภาษีร้อยละ 8.4 และสัดส่วนการนำเข้าร้อยละ 30.4 อุปกรณ์การผลิตวัคซีน (Manufacturing equipment) อัตราภาษีร้อยละ 5.9 สัดส่วนร้อยละ 23.4 และสารวัตถุดิบสำหรับวัคซีน (Vaccine ingredients) อัตราภาษีร้อยละ 6.6 สัดส่วนร้อยละ 14.7 นอกจากนี้ ไทยยังเก็บภาษีนำเข้าสินค้า อุปกรณ์ควบคุมกำกับอุณหภูมิ (Heatmaker vaccine vial monitor) ขวดใสปลอดเชื้อ (Sterile bottle) อุปกรณ์เชื่อมต่อแบบปลอดเชื้อ (Sterile connector) และ ขวดใสขนาดเล็กสำหรับบรรจุวัคซีน (Vial) แต่ละชนิดสูงถึงร้อยละ 10 โดยเฉลี่ย ถึงแม้ผลิตภัณฑ์ทั้ง 4 ประเภทข้างต้นจะมีสัดส่วนในการนำเข้าไม่สูง และไทยยังเก็บภาษีซูโครสบริสุทธิ์ในรูปของแข็ง (Chemically pure sucrose, in solid form) ซึ่งถือเป็น inactive ingredient ของการผลิตวัคซีนโควิดสูงถึงร้อยละ 94 สูงรองเพียงแค่อินเดียที่เก็บอากรนำเข้าสินค้าชนิดนี้ที่ร้อยละ 100[3]


รูป 1: อัตราอากรขาเข้าของไทยที่เรียกเก็บกับสินค้าที่เป็นปัจจัยการผลิตวัคซีนโควิด-19


2. การขยายการผลิตและกระจายวัคซีนโควิดยังคงมีปัญหาคอขวด (Bottleneck) สำคัญหลายประการ ส่งผลให้การฟื้นตัวของการค้าแตกต่างกันตามภูมิภาค ซึ่งแสดงให้เห็นว่าปัจจัยเสี่ยงในการขยายตัวของการค้าโลกยังคงมีอยู่ในระดับสูง และความร่วมมือระหว่างประเทศยังมีความจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้การค้าสินค้าและปัจจัยการผลิตที่จำเป็นต่อการผลิตวัคซีนโควิดเป็นไปอย่างลื่นไหลและมีประสิทธิภาพที่สุด ได้แก่


2.1. การใช้มาตรการจำกัดการส่งออกวัคซีนและวัตถุดิบ (Export restrictions) รวมทั้งกระบวนการทางศุลกากรที่ยังคงเป็นอุปสรรคต่อวัตถุดิบวัคซีนบางชนิด อาทิ บางประเทศไม่อนุญาตให้วัตถุดิบในการผลิตวัคซีนผ่าน green channel หรือตัวอย่างวัคซีนที่ถูกส่งไปทดสอบที่ต่างประเทศต้องผ่านพิธีการทางศุลกากรเสมือนเป็นสินค้าทั่วไป ประเทศสมาชิกควรเน้นการปฏิบัติตามความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้า และการใช้ระบบดิจิทัลในการตรวจปล่อยสินค้า รวมทั้งระบุพิกัดศุลกากรของสินค้าที่เกี่ยวข้องให้ชัดเจน


2.2. การขึ้นทะเบียน (Application/Registration) การขออนุญาตจำหน่าย (Authorization) การตรวจปล่อย (Release) กระบวนการ Post-approval changes รวมทั้งขั้นตอนการขยายการผลิต (Scaling up) และการบริจาควัคซีน ใช้เวลายาวนานมาก เปลี่ยนแปลงบ่อย และไม่สอดคล้องกันระหว่างประเทศ ทั้ง ๆ ที่ผลิตภัณฑ์หลายประเภทผ่านการรับรองจาก WHO Emergency Use Listing (EUL/PQ) แล้ว ประเทศสมาชิกอาจใช้ประโยชน์จากการเปิดเผยเอกสารทางกฎหมายและผลการตรวจสอบจากหน่วยงานรับรองของประเทศอื่น ๆ (National Regulatory Agency) ที่ WHO รับรอง หรือเครือข่ายหน่วยงานรับรองระหว่างประเทศ[4]เป็นฐานในการพิจารณาได้ รวมทั้งการส่งเสริมการแบ่งปันข้อมูลระหว่างประเทศ ยกตัวอย่างเช่น ACCESS Consortium ที่ประกอบด้วยหน่วยงานรับรองแห่งชาติจากสหราชอาณาจักร แคนาดา ออสเตรเลีย สิงคโปร์ และสวิตเซอร์แลนด์


2.3. ปัญหาทางด้านโลจิสติกส์ในการขนย้ายวัคซีนและอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง เช่น การขาด Syringe และ

ห้องเย็น


ที่มา:


 

[1] COVID-19 vaccine production and tariffs on vaccine inputs [2] การเจรจา NAMA negotiation กำหนดให้อากรนำเข้าที่ต่ำกว่าร้อยละ 5 เป็น Nuisance tariff level ดังนั้นระดับอากรขาเข้าที่สูงกว่าร้อยละ 5 จึงถือว่ามีนัยสำคัญ [3] รายชื่อปัจจัยการผลิตวัคซีนโควิด 83 พิกัดศุลกากร พร้อมรหัส HS 2017 ที่ใกล้เคียงที่สุดถูกรวบรวมไว้ใน Joint Indicative List of Critical COVID-19 Vaccine Inputs for Consultation [4] เช่น African Medicines Regulatory Harmonization (AMRH) initiative หรือ Harmonized requirements for drug registration of the ASEAN

234 views
bottom of page