top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

วิสัยทัศน์ สถาปัตยกรรมการบูรณาการภูมิภาค และอนาคตการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย


การเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทยยึดหลักการเพิ่มและรักษาผลประโยชน์ของชาติเสมอมา ในปัจจุบัน ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรี (FTA) 14 ฉบับกับ 18 ประเทศ อย่างไรก็ตาม แนวโน้มการเจรจาการค้า FTA ในยุคปัจจุบัน จะเป็นในลักษณะที่มีมาตรฐานสูง คือเป็นการเปิดเสรีในด้านต่างๆที่เกินกว่ากฎหมายของไทยจะอนุญาต และจะมีการเจรจาประเด็นใหม่ ๆ ด้วย อาทิ พาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ แรงงาน สิ่งแวดล้อม การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ การแข่งขันทางการค้า การพัฒนาวิสาหกิจขนาดย่อม การต่อต้านการคอรัปชั่น และทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น เพราะฉะนั้น สำหรับไทย แรงกดดันสำหรับไทยในการทำ FTA ในอนาคต คือการที่จะต้องหาทางจัดการและ หาจุดร่วมระหว่างผู้ที่เสียและได้ประโยชน์ให้ได้


สำหรับองค์การการค้าโลก ถือว่ามีบทบาทน้อยลงไปมาก เนื่องจากมีจำนวนสมาชิกมากถึง 164 ประเทศ ซึ่งมีระดับการพัฒนาที่ต่างกันมาก ทำให้ความต้องการและผลประโยชน์ไม่ตรงกัน จึงเป็นการยากมากที่จะทำให้ประเทศสมาชิกทั้งหมดเห็นพ้องต้องกัน ดังนั้น บทบาทขององค์การการค้าโลกในด้านการเปิดเสรีทางการค้ากำลัง ลดน้อยลงเรื่อย ๆ ในขณะที่บทบาทสำคัญที่ยังคงเหลืออยู่คือการระงับข้อพิพาทและข้อกังวลทางการค้า ซึ่งถ้าข้อจำกัดนี้ดำรงต่อไปเรื่อย ๆ ข้อตกลงการค้าเสรีก็จะมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างมากมายในอนาคต

นอกจากนี้ อนาคตของการค้าไทยคงไม่สามารถฝากไว้กับข้อตกลงการค้าฝ่ายเดียว อาทิ โครงการ Generalized Scheme of Preferences (GSP) ได้ เนื่องจาก GSP ไม่ได้อยู่กับไทยอย่างถาวร และอาจจะ ถูกยกเลิกเมื่อไหร่ก็ได้ เนื่องจากเป็นการให้ฝ่ายเดียว ที่จริงแล้ว การโดนตัดการโดนตัดจีเอสพีอาจจะเป็นสัญญาณที่ดี ดังตัวอย่างที่ชัดเจนคืออุตสาหกรรมอัญมณีของไทยที่โดนตัด GSP แต่ก็ยังสามารถพัฒนาจนเป็นประเทศผู้นำ ด้านอัญมณีของโลกได้


สำหรับตัวอย่างของประเด็นการค้าใหม่ ๆ ที่มีความสำคัญในปัจจุบัน เช่น มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Measure) ของสหภาพยุโรป ที่เก็บภาษีนำเข้าจากสินค้าที่ก่อให้เกิดการปล่อย CO2 และการกีดกันการนำเข้าสินค้าที่ใช้พลาสติกที่ใช้ครั้งเดียว ที่มีการบังคับใช้แล้ว ในสหราชอาณาจักร สหภาพยุโรป เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ นอกจากนี้ สหรัฐอเมริกาได้มีการออกยุทธศาสตร์เอเซียแปซิฟิก (Asia-Pacific Economic Framework) ที่เน้นการผลักดันประเด็นหลายด้าน ได้แก่ การอำนวยความสะดวกทางการค้า การพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และความร่วมมือในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกหรือการพัฒนาพลังงานสะอาด และการต่อต้านคอรัปชั่น ที่ไทยต้องติดตามการนำยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ


สำหรับประเด็นสำคัญของการเจรจาในกรอบพหุภาคี ขณะนี้ ได้แก่

  1. การตอบสนองต่อการระบาดของโรคโควิด-19 (WTO response to the Covid-19 Pandemic) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้การค้าสินค้าที่จำเป็นต่อการจัดการกับโรคโควิด-19 เป็นไปได้อย่างราบรื่นที่สุด และ ไม่ควรใช้นโยบายควบคุมการส่งออก หรือถ้าจำเป็นต้องใช้ ก็ต้องใช้แบบโปร่งใส และอย่าใช้เป็นระยะเวลานานเกินไป นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องทรัพย์สินทางปัญญาหรือ (Trips waiver) ที่ประเทศกำลังพัฒนาบางส่วน นำโดยอินเดียและแอฟริกาใต้ ต้องการให้มีการยกเว้นการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาหลายประเภทในสินค้าที่เกี่ยวข้องกับโรคโควิด-19 แต่ประเทศพัฒนาแล้ว นำโดยสหภาพยุโรป แย้งว่าทรัพย์สินทางปัญญาไม่ได้เป็นอุปสรรคต่อการผลิตและการกระจายสินค้าเหล่านั้น หากแต่อยู่ที่ปัญหาการบริหารจัดการภายในประเทศเอง

  2. การอุดหนุนภาคประมง ที่ใช้เวลาในการเจรจามาประมาณ 20 ปีแล้ว แต่ก็มีความคืบหน้าเป็นอย่างมาก ในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งยังมีประเด็นคงค้างสำคัญอยู่บ้างอย่างเช่นเรื่องแรงงาน ซึ่งที่จริงแล้ว ใน WTO ไม่ได้มี ข้อตกลงในการคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างชัดเจน แต่สหรัฐอเมริกาเป็นผู้นำในการนำเรื่องสิทธิแรงงานเข้ามาใน WTO ซึ่งบางประเทศสมาชิกยังไม่ได้เห็นชอบด้วย เนื่องจากเห็นว่าไม่อยู่ในขอบเขตอำนาจของ WTO และมีหน่วยงานอื่นดูแลเป็นการเฉพาะอยู่แล้ว และในส่วนของไทย ก็มีการคุ้มครองแรงงานตามมาตรฐานสากล แต่อาจจะไม่ใช่มาตรฐานของสหรัฐเมริกา

  3. การเจรจาสินค้าเกษตร ที่ไม่คืบหน้าเลย นอกจากการเจรจาเรื่องการอุดหนุนภายในประเทศแล้ว และ หลายชาติขนาดใหญ่ เช่น อินเดีย ต้องการให้มีข้อบทที่เกี่ยวกับการคงคลังสินค้าเกษตรของรัฐบาลเพื่อ ความมั่นคงทางอาหาร (Public Stockholding for Food Security Purposes) อย่างไรก็ตาม หลายชาติสมาชิก รวมทั้งไทย แสดงความกังวลว่าสินค้าที่ถูกคงคลัง หากมีจำนวนมากเกินไป ก็จะถูกเอามาส่งออก ทำให้ราคาสินค้าเกษตรผันผวน ส่งผลเสียต่อไทย ซึ่งเป็นผู้ส่งออกสินค้าเกษตรรายสำคัญ

  4. กระบวนการบังคับข้อพิพาท โดยองค์กรอุทธรณ์ ที่ถูกสหรัฐอเมริกาอ้างว่าทำภารกิจเกินบทบาทของตนเอง อีกประเด็นสำคัญใน WTO ขณะนี้คือ การเจรจาความตกลงแบบ Plurilateral ที่ไม่รวมประเทศสมาชิก ทุกประเทศ โดยประเทศสมาชิก WTO หันมาใช้วิธีการเจรจาในลักษณะนี้มากขึ้น เพื่อหลีกเลี่ยงปัญหา การไม่สามารถหาฉันทามติระหว่างประเทศสมาชิกได้ อย่างไรก็ตาม การเจรจาแนวนี้จะมีประเด็นเรื่อง free rider ที่ประเทศที่ไม่ได้เข้าร่วมเจรจากลับได้ประโยชน์จากการเจรจาไปด้วย


กล่าวโดยสรุป อนาคตของการเจรจาทางการค้าของไทยจะอยู่ที่การเจรจาการค้ากับประเทศที่มีมาตรฐานสูง ซึ่งแน่นอนว่าจะต้องเผชิญกับเงื่อนไขอะไรต่างๆ อีกมาก โดยกระทรวงพาณิชย์สนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคเอกชนและสังคมอย่างเต็มที่ และกระทรวงพาณิชย์เองมีเครื่องมือในการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบการข้อตกลงการค้าเสรี เช่น มาตรการการตอบโต้การทุ่มตลาด มาตรการปกป้อง รวมทั้งกองทุนเอฟทีเอ แบบถาวรที่ไม่ต้องของบประมาณเป็นรายปี ซึ่งตอนนี้กำลังดำเนินการอยู่


 

ที่มา: จัดการสัมมนาเรื่อง “วิสัยทัศน์ สถาปัตยกรรมการบูรณาการภูมิภาค และอนาคตการเจรจาการค้าระหว่างประเทศของไทย” เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 ภายใต้หลักสูตรไนซ์ (New International Commerce Course for Executives : NIC2E) หรือ “การค้าระหว่างประเทศสำหรับผู้บริหารยุคใหม่” รุ่นที่ 1 จัดโดยกระทรวงพาณิชย์ร่วมกับศูนย์อาเซียนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยนางพิมพ์ชนก พิตต์ฟิลด์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เข้าร่วมเป็นวิทยากรด้วย

372 views
bottom of page