top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

วิกฤต WTO เกี่ยวกับการระงับข้อพิพาท


นับถอยหลังอีกไม่ถึง 12 สัปดาห์ กลไกการระงับข้อพิพาททางการค้าภายใต้ WTO อาจต้องหยุดชะงักลง เนื่องจากมีสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ไม่เพียงพอที่จะตัดสินคดีใด ๆ ได้อีก เปรียบเสมือนมีศาลแต่มีผู้พิพากษาไม่เพียงพอที่จะเป็นองค์คณะในการตัดสินคดีได้


วิกฤตครั้งนี้ เกิดจากการคัดค้านการแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ของสหรัฐฯ ทำให้องค์การการค้าโลกไม่สามารถแต่งตั้งสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ได้ เนื่องจากการแต่งตั้งต้องอาศัยฉันทามติจากสมาชิก สาเหตุสำคัญที่สหรัฐฯ คัดค้านเนื่องจากมองว่า การดำเนินงานของสมาชิกองค์กรอุทธรณ์เป็นการดำเนินงานไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ของ WTO อาทิ การพิจารณาคดีอุทธรณ์เกินกรอบระยะเวลา 90 วัน สมาชิกองค์กรอุทธรณ์ที่หมดวาระแล้วยังสามารถตัดสินคดีได้ มีคำวินิจฉัยที่ไม่จำเป็นต่อการระงับข้อพิพาท และการให้สถานะกับคำตัดสินในคดีก่อนเป็นบรรทัดฐานทางกฎหมาย เป็นต้น


ไทยในฐานะประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO ได้ผลักดันการหารือภายใต้กระบวนการหารืออย่างไม่เป็นทางการระหว่างสมาชิก เพื่อให้เกิดทางออกร่วมกัน และไทยในฐานะสมาชิก WTO เห็นว่า การแก้ไขปัญหานี้เป็นปัญหาระบบเชิงโครงสร้าง ทุกประเทศต้องเข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการหารืออย่างสร้างสรรค์ ประเทศไทยจึงได้จัดทำข้อเสนออย่างเป็นทางการเพื่อปรับปรุงกลไกระงับข้อพิพาทของ WTO และยื่นต่อที่ประชุมใหญ่คณะมนตรีใหญ่เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2562 (WT/GC/W/769) ทั้งนี้ นาย Peter Van Den Bossche อดีตสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ ได้กล่าวชื่นชมความพยายามของไทยในการนำเสนอทางออกการแก้ไขปัญหาอย่างครอบคลุมและเป็นรูปธรรม[1] นอกจากนี้ ไทยยังได้สนับสนุน (co-sponsor) ข้อเสนอของเม็กซิโกให้เริ่มกระบวนการคัดเลือกสมาชิกองค์กรอุทธรณ์ ร่วมกับสมาชิก WTO รวมทั้งสิ้น 116 ประเทศ (WT/DSB/W/609/Rev13) เพื่อผลักดันให้กระบวนการระงับข้อพิพาทของ WTO ดำเนิน ต่อไปได้

อย่างไรก็ดี ดูเหมือนว่า การดำเนินการในกรอบพหุภาคีเพื่อรักษาระบบการระงับ ข้อพิพาทจะมีความหวังที่ลดน้อยลงไปเรื่อยๆ มีสมาชิก WTO เริ่มกล่าวถึง “Plan B” ภายใต้กรอบ ทวิภาคี เพื่อหาทางออกสำหรับการระงับข้อพิพาท ดังเช่น แถลงการณ์ร่วมระหว่างสหภาพยุโรปกับแคนาดาเกี่ยวกับการใช้อนุญาโตตุลาการตามมาตรา 25 ของ DSU เป็นการชั่วคราวแทนการอุทธรณ์ต่อองค์กรอุทธรณ์ ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเลือกของสมาชิกที่จะพยายามสร้างกลไกเกี่ยวกับการอุทธรณ์ทดแทนกระบวนการระงับข้อพิพาทภายใต้องค์กรอุทธรณ์ที่กำลังจะหยุดชะงักลง

อาจกล่าวได้ว่า กลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO เป็นหัวใจของระบบการค้าของโลก ความสำคัญและบทบาทของกลไกระงับข้อพิพาทภายใต้ WTO เป็นหลักประกันให้เชื่อมั่นว่า จะมีการตัดสินข้อพิพาททางการค้าอย่างเป็นธรรม และการอนุญาตให้มีมาตรการตอบโต้สมาชิกที่ไม่ปฏิบัติตามคำตัดสินได้ การที่มีองค์กรอุทธรณ์แต่ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ จะทำให้คดีคงค้างในชั้นอุทธรณ์และ ทำให้คดีไม่ถึงที่สุด ซึ่งจะส่งผลต่อความเชื่อมั่นของการค้าระหว่างประเทศโดยรวม


ความพยายามในการรักษาระบบระงับข้อพิพาทของ WTO จึงเป็นความท้าทายที่ทุกประเทศต้องร่วมกันแก้ไข ก่อนที่จะเกิดการชะงักงันของระบบการระงับข้อพิพาท

กาจฐิติ วิวัธวานนท์

17 กันยายน 2562

............................................................

[1] Second, to the extent that the concerns addressed in the reform proposals are legitimate, and some of them certainly are, these concerns can be addressed without undermining the essential features of the current system. The proposal made by Thailand on 25 April 2019 (WT/GC/W/769) shows the way forward in this regard.


733 views
bottom of page