top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

ฤาการระบาดของเชื้อโควิด-19 ในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงอาหาร?



การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ในเกือบทุกประเทศทั่วโลกส่งผลให้เกิดมาตรการจำกัด การเคลื่อนย้ายทั้งภายในและระหว่างประเทศ ทำให้ห่วงโซ่อุปทานหยุดชะงักและนำไปสู่ข้อกังวลต่อไปว่าอาจเกิดวิกฤตด้านอาหารขึ้นทั่วโลก เนื่องจากบางประเทศได้มีมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าเกษตรที่จำเป็นรวมทั้งมี การเพิ่มอัตราภาษีศุลกากรนำเข้าสินค้าเกษตรเพื่อปกป้องผู้ผลิตภายในประเทศ ซึ่งวิกฤตด้านอาหารดังกล่าวไม่ควรเกิดขึ้นในช่วงปี 2020 อันเป็นช่วงเวลาแห่งการผลิตอาหารได้เพียงพอทั่วโลก


ในอดีตหลายประเทศได้เพิ่มอัตราภาษีศุลกากรในอาหารส่งออกที่เป็นอาหารหลักสำหรับประชากรทั่วโลก อาทิ ข้าวและข้าวสาลี ทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารในประเทศที่พึ่งพาการนำเข้า ก่อให้เกิดความผันผวนด้านราคาและส่งผลกระทบต่อประเทศส่วนใหญ่ และเพื่อไม่ให้เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีก เมื่อปลายเดือนเมษายน 2020 รัฐมนตรีด้านการเกษตรของกลุ่ม G20 ได้แสดงพันธสัญญาร่วมกันที่จะดำเนินการให้มีการเปิดตลาดการค้าสินค้าเกษตรและอาหารในช่วงการแพร่ระบาด โดยประเทศผู้ผลิตเนื้อโค เนื้อสุกรและสัตว์ปีกได้เข้าร่วมเป็นภาคีในแถลงการณ์ร่วมภายใต้ WTO นอกจากนี้ Mr.Alan Wolff รองผู้อำนวยการใหญ่ WTO ได้ออกแถลงการณ์เพื่อสร้างความตระหนักถึงคุณค่าของการค้าระหว่างประเทศที่มีต่อความมั่นคงอาหารโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงการระบาด และจะต้องมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมเพื่อที่จะปกป้องห่วงโซ่อุปทานอาหารของโลกไม่ให้หยุดชะงักลง


ประเทศทั่วโลกต่างต้องเผชิญกับความท้าทายที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้ออย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสหรัฐฯ และแคนาดาซึ่งเป็นประเทศที่มีการติดเชื้อในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกสูงมากกว่า 30 แห่ง ในคนงานมากกว่า 3,000 คน ทำให้ไม่สามารถดำเนินการผลิตได้ ส่งผลกระทบต่อกระบวนการแปรรูปเนื้อสัตว์ ในแคนาดามากกว่า 70% และ ในสหรัฐฯ อีก 25% ส่งผลให้ปริมาณเนื้อสัตว์แปรรูปและสัตว์ปีกที่มีอยู่ในตลาดภายในประเทศและปริมาณการส่งออกลดลง รวมถึงมีปริมาณเนื้อสัตว์เหลือทิ้งที่ไม่ได้ถูกนำไปแปรรูปต่อเป็นจำนวนมาก เนื่องจากความไม่คุ้มทุน ในระยะสั้นการลดการผลิตลงอย่างกะทันหันอาจนำไปสู่ความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานในสินค้าเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกส่งผลให้ราคาสูงขึ้น โดยมีความเป็นไปได้ที่จะมีการดำเนินการทางการเมืองภายในเพื่อตอบสนองความต้องการของตลาดภายในประเทศ และอาจนำไปสู่มาตรการจำกัดการส่งออก อันจะนำมาซึ่งความกังวลในเรื่องความมั่นคงอาหารในประเทศผู้นำเข้าทั่วโลก จากประเด็นที่กล่าวมาข้างต้นทำให้ผู้เชี่ยวชาญ ทั่วโลกต่างเป็นกังวลว่าความมั่นคงด้านอาหารจะนำมาซึ่งมาตรการจำกัดการส่งออกในผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์รวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่นหรือไม่ โดยได้แต่หวังว่าโลกจะไม่ต้องรับมือกับการระบาดของเชื้อโควิด-19 และความมั่นคงอาหารไปพร้อมกัน*

สำหรับการคาดการณ์การผลิตเนื้อโคทั่วโลกในปี 2020 ได้ถูกปรับลดลงจาก 2% เป็น 8% เนื่องมาจากการหยุดชะงักของเศรษฐกิจโลกจากการแพร่ระบาดทำให้ปริมาณความต้องการบริโภคเนื้อโคลดลงและประเทศผู้ผลิตสำคัญได้ปรับเปลี่ยนแผนการผลิต ส่วนการคาดการณ์การผลิตเนื้อสุกรทั่วโลกได้ถูกปรับลดลงจาก 2% ที่คาดการณ์เดิมที่ปริมาณ 94.3 ล้านตัน เป็น 7% เนื่องจากจีน เวียดนาม และฟิลิปปินส์ได้รับผลกระทบจากโรคอหิวาต์แอฟริกาในสุกร ในส่วนของจีนมีความต้องการนำเข้าเพิ่มขึ้นเป็น 3.9 ล้านตันคิดเป็น 40% ของการนำเข้าจากทั่วโลก และจากความต้องการบริโภคสินค้าเนื้อสุกรจากจีนดังกล่าวได้กระตุ้นให้ผู้ผลิตขยายการผลิต มีการส่งออกเนื้อสุกรทั่วโลกเพิ่มถึง 10.5 ล้านตัน โดยการเติบโตของการผลิตในสหรัฐฯ บราซิล และสหภาพยุโรปได้เข้ามาทดแทนส่วนที่ลดลงของเอเชีย สำหรับการคาดการณ์การผลิตเนื้อไก่ทั่วโลกลดลง 2% ที่ปริมาณ 100.5 ล้านตัน เนื่องจากจีนไม่สามารถทดแทนการผลิตที่ลดลงของผู้ผลิตรายใหญ่ทั้งหมดได้ อย่างไรก็ตามการคาดการณ์การผลิตเนื้อไก่ทั่วโลกในปี 2020 ยังคงสูงขึ้นที่ 1% เมื่อเทียบกับปีก่อน เนื่องจากการเพิ่มขึ้นในการผลิตของบราซิล จีน และสหรัฐฯ ที่เข้ามาทดแทนสูงกว่าปริมาณการผลิตที่ลดลงของสหภาพยุโรป อินเดีย ไทย และตุรกี หากเปรียบเทียบความต้องการบริโภคเนื้อแดงทั้งหมดพบว่าความต้องการบริโภคเนื้อไก่มีความยืดหยุ่นมากขึ้นเมื่อต้องเผชิญกับวิกฤตทางเศรษฐกิจเนื่องจากมีต้นทุนต่ำกว่า การคาดการณ์การค้าเนื้อไก่โลกปรับลดลง 4% ที่ปริมาณ 11.7 ล้านตันจากการปรับลดฐานลงสำหรับผู้ส่งออกรายใหญ่ (ยกเว้นบราซิล) ส่งผลให้การค้าเนื้อไก่โลกลดลง 1% ในปี 2020 เมื่อเทียบกับปีก่อน


ในส่วนของประเทศไทย ในปี 2020 มีปริมาณการผลิตเนื้อไก่ประมาณ 2.88 ล้านตัน โดยมี การบริโภคภายในประเทศ 63% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด สามารถรองรับความต้องการบริโภคได้อย่างเพียงพอและสามารถเพิ่มกำลังการผลิตให้ออกสู่ตลาดได้หากมีความต้องการสินค้าเพิ่มขึ้น ส่วนสินค้าสุกรคาดว่า จะมีปริมาณการผลิต 1.68 ล้านตัน โดยการผลิตส่วนใหญ่ใช้สำหรับบริโภคภายในประเทศ คิดเป็น 93% ของปริมาณการผลิตทั้งหมด ที่ผ่านมาสินค้าปศุสัตว์ของไทยถือว่าเป็นสินค้าที่มีศักยภาพโดยมีการส่งออกเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน สำหรับสินค้าสัตว์ปีกของไทยมีศักยภาพในการส่งออกเป็นอันดับ 4 ของโลก รองจากบราซิล สหภาพยุโรป และสหรัฐฯ ตามลำดับ สำหรับการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจการเกษตรไตรมาส 1 ในปี 2020 สาขาปศุสัตว์ ของไทยมีแนวโน้มขยายตัว 3.8% โดยมีผลผลิตไก่เนื้อเพิ่มขึ้น 6.98% ผลผลิตสุกรเพิ่มขึ้น 0.51% โดยคาดว่า ปี 2020 ภาคปศุสัตว์ของไทยจะมีแนวโน้มขยายตัวที่ 3.5-4.5% เนื่องจากมีความต้องการบริโภคทั้งใน และต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น รวมถึงมีการเฝ้าระวังควบคุมการระบาดอย่างเข้มงวด


*อ้างอิงจากบทความ แนวคิดปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการค้า (Current Thoughts on Trade) เรื่อง “โควิด-19 ในโรงงานแปรรูปเนื้อสัตว์และสัตว์ปีกจะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงอาหารหรือไม่” ที่เขียนโดย Mr.Terence Stewart นักกฎหมายชาวอเมริกัน ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการค้าระหว่างประเทศและองค์การการค้าโลก


จารุวรรณ สุขรมย์

4 มิถุนายน 2563

130 views
bottom of page