top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก เตรียมใช้มาตรการเพื่อช่วยส่งเสริมทางการค้าและเศรษฐกิจสำหรับสตรี


เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2564 รองผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (นาง Angela Ellard) ได้กล่าวในการสัมมนาผ่านเว็บ (Webinar) ในโครงการ WTO Chairs Programme ซึ่งเป็นโครงการที่มีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมกิจกรรมทางวิชาการของมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยที่เกี่ยวข้องกับการค้าในประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด หัวข้อเรื่อง “การค้าระหว่างประเทศเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเจริญเติบโตอย่างสมดุลและเสมอภาค มุมมองทางกฎหมายและเศรษฐกิจ ว่าด้วยเรื่องเพศสภาพและการจ้างงาน” (“Inclusive Trade: Legal and Economic Perspectives on Gender and Employment”) โดยแจ้งว่า เมื่อไม่นานมานี้องค์การการค้าโลกได้มีการขับเคลื่อนประเด็นเกี่ยวกับเรื่องการค้าและเพศสภาพ


ปัจจุบันเศรษฐกิจโลกมีความไม่สมดุลในด้านเพศสภาพ ดังจะเห็นได้จากจำนวนแรงงานสตรีคิดเป็นร้อยละ 38 ของแรงงานทั่วโลก แต่กลับได้รับค่าจ้างเพียงร้อยละ 77 ในขณะที่แรงงานชายได้รับค่าจ้างเต็มจำนวน สตรีจำนวน 606 ล้านคนทำงานดูแลครอบครัวโดยไม่ได้รับค่าจ้างตอบแทน ส่วนเพศชายที่ทำหน้าที่ดูแลครอบครัวมีเพียง 41 ล้านคน ด้วยความแตกต่างดังกล่าว ส่งผลให้การค้าเกิดความไม่สมดุล สตรีจะต้องเผชิญกับอุปสรรคในการเข้าถึงตลาดแรงงานมากกว่าเพศชาย รวมไปถึงโอกาสทางเศรษฐกิจด้วย นอกจากนี้ ผู้ประกอบการสตรียังมีค่าใช้จ่ายทางการค้าสูงกว่าเพศชายเป็นอย่างมาก จึงทำให้ไม่สามารถเข้าถึงการค้าระหว่างประเทศได้ ดังจะเห็นได้จาก ผู้ประกอบการสตรีที่ดำเนินธุรกิจด้านการส่งออกมีเพียง 1 ใน 5 เท่านั้น


ความไม่เท่าเทียมทางเพศปรากฏเด่นชัดขึ้นในช่วงระหว่างการแพร่ระบาดของโควิด-19 มีสตรีจำนวนมากเสียเปรียบทางด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยในปี 2563 มีแรงงานสตรีตกงานมากกว่า 64 ล้านตำแหน่ง คิดเป็นร้อยละ 5 ส่วนแรงงานชายตกงานเพียงร้อยละ 3.9 เท่านั้น อย่างไรก็ตาม ความพยายามในการบรรเทาผลกระทบจากโควิด-19 ที่ส่งผลต่อสตรีมีเพียงร้อยละ 9 ความช่วยเหลือจากรัฐบาลในหลายค รั้ง ไม่สามารถเข้าถึงผู้ประกอบการสตรีได้เนื่องจากมีเงื่อนไขที่สูงเกินไป ในความเป็นจริง ผู้ประกอบการสตรีมักจะประกอบกิจการขนาดเล็กหรือกิจการครัวเรือน ซึ่งโดยทั่วไป รัฐบาลจะจำกัดเฉพาะโรงงานหรือบริษัทที่มีพนักงานจำนวนมาก ด้วยเหตุดังกล่าว การค้าที่เป็นธรรมจะมีส่วนช่วยในการจ้างงาน การจัดหางานที่เหมาะสม และยกระดับให้สตรีและครอบครัวพ้นจากสภาพความยากจนได้


แรงงานสตรีทั่วโลกที่ทำงานในบริษัทส่งออกคิดเป็นร้อยละ 33 ขณะที่แรงงานสตรีที่อยู่ในบริษัทที่ไม่มีบริษัทส่งออกมีเพียงร้อยละ 24 นอกจากนี้ แรงงานสตรีในห่วงโซ่คุณค่าทั่วโลก (Global Value Chains) คิดเป็นร้อยละ 36 สำหรับประเทศต่าง ๆ เช่น โมร็อกโก โรมาเนีย และเวียดนาม มีจำนวนแรงงานสตรีกึ่งหนึ่งของแรงงานในบริษัทส่งออก รัฐบาลจึงได้มีการจัดหางานให้กับสตรีจำนวนมากกว่า 5 ล้านคน ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 15 ของแรงงานสตรีในประเทศเหล่านี้ นอกจากนี้การค้ายังช่วยให้สตรีรอดพ้นจากความเสี่ยงในการเป็นแรงงานนอกระบบ ตัวอย่างเช่น ร้อยละ 96 ของธุรกิจที่สตรีเป็นเจ้าของในประเทศอัฟกานิสถานไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการ การทำงานนอกระบบไม่ได้รับความคุ้มครองด้านแรงงานและสวัสดิการสังคม กล่าวคือจะได้รับค่าจ้างและมีความปลอดภัยต่ำ แต่การค้าจะช่วยให้สามารถทำงานได้อย่างปลอดภัยและดำเนินธุรกิจได้อย่างเป็นระบบมากยิ่งขึ้น จากการศึกษาร่วมกันขององค์การการค้าโลกและธนาคารโลกพบว่า สตรีที่อยู่ในภาคการส่งออกที่มีระดับการส่งออกต่ำมีแนวโน้มที่จะทำงานนอกระบบมากถึงร้อยละ 20 และสตรีที่อยู่ในภาคการส่งออกที่มีการระดับการส่งออกสูงมีแนวโน้มที่จะทำงานนอกระบบเพียงร้อยละ 13


จากที่กล่าวมาข้างต้น การค้าจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการจ้างงานและปรับปรุงสภาพการทำงานของสตรีให้ดีขึ้นได้ โดยนโยบายการค้าสามารถสร้างโอกาสให้สตรีเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ ในทศวรรษที่ผ่านมา สมาชิกองค์การการค้าโลกส่วนใหญ่มีนโยบายดังกล่าว โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะส่งเสริมการเจริญเติบโตและพัฒนาทางเศรษฐกิจ หรือแม้แต่ การตอบสนองความขาดแคลนแรงงานในภาคส่วนที่เน้นการส่งออกโดยการจ้างแรงงานสตรี ซึ่งจะทำให้การขับเคลื่อนเศรษฐกิจเป็นไปได้อย่างต่อเนื่อง ดังเช่นประเทศไนจีเรียที่ได้สนับสนุนให้สตรีทำงานในอุตสาหกรรมการก่อสร้างซึ่งเป็นภาคที่ขาดแคลนแรงงาน และคล้ายกับประเทศแซมเบียที่สตรีได้รับการส่งเสริมให้ทำงานในอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีเพศชายเป็นส่วนใหญ่ หลายประเทศได้นำเอาเรื่องการเพิ่มศักยภาพทางเศรษฐกิจและการรวมกลุ่มของสตรีในเรื่องดังกล่าวไว้ในตลาดแรงงานให้เป็นวาระสำคัญในยุทธศาสตร์การค้าและการลงทุนของประเทศ โดยรัฐบาลใช้การกระตุ้นนโยบายทางการเงินเพื่อให้บรรลุเป้าหมายดังกล่าว นโยบายการค้าบางนโยบายได้สนับสนุนงบประมาณให้กับภาคการส่งออกเพื่อให้เกิดการจ้างงานในสตรี บางนโยบายได้มุ่งเน้นที่จะจ้างแรงงานสตรีที่ถูกระงับการจ้างงานชั่วคราวหรือสตรีที่ถูกออกจากงานเนื่องจากการคลอดบุตร บางนโยบายก่อให้เกิดกฎเกณฑ์การยอมรับการจ้างงานในสตรี นอกจากนี้ สมาชิกองค์การการค้าโลกได้ช่วยสนับสนุนการจ้างงานสตรีผ่านผู้ประกอบการที่เป็นสตรีด้วย ตัวอย่างเช่น นโยบายที่ใช้มาตรการทางภาษีเพื่อกระตุ้นให้กับผู้ประกอบการขนาดเล็กที่จ้างแรงงานสตรีที่เคยถูกเลิกจ้างให้กลับมาทำงานใหม่ โดยธุรกิจดังกล่าวจะได้รับสิทธิทางภาษีจากรัฐบาล ซึ่งรัฐบาลอาจช่วยเหลือการจ้างแรงงานสตรีในกลุ่มผู้ประกอบการเป็นสตรี โดยที่ผ่านมาผู้ประกอบการสตรีได้จ้างแรงงานสตรีจำนวนเพิ่มมากขึ้น จากข้อมูลขององค์การการค้าโลกที่ได้มีการสำรวจภูมิภาคเอเชียใต้ แอฟริกาตะวันออก และละตินอเมริกา พบว่า บริษัทที่มีเจ้าของเป็นสตรีและมีแรงงานลูกจ้างน้อยกว่า 10 คน จะมีแรงงานที่เป็นสตรี ถึงร้อยละ 57


นอกจากนี้ นโยบายการค้าสามารถทำให้เกิดความสมดุลมากขึ้นโดยการลดการเลือกปฏิบัติทางเพศและปรับปรุงสภาพการทำงานที่เหมาะสม นโยบายการค้าบางนโยบายก่อให้เกิดอำนาจทางสังคมแก่สตรีได้มากขึ้น และนโยบายการค้าสามารถปรับเปลี่ยนทำให้การทำงานภายในประเทศที่ไม่ได้รับค่าจ้างแรงงานกลับไปสู่การได้รับค่าจ้างแรงงาน ตัวอย่างเช่น ญี่ปุ่นเปิดภาคบริการให้กับอาชีพแม่บ้านที่เป็นชาวต่างประเทศ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมในสังคมในการสนองความต้องการสำหรับงานบ้าน ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ และสร้างงานสำหรับสตรี


นโยบายการค้าช่วยลดช่องว่างด้านค่าจ้างแรงงานระหว่างเพศชายกับเพศหญิง ตัวอย่างเช่น นโยบายการจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐของประเทศสวิตเซอร์แลนด์มีเงื่อนไขในการจัดสรรบริษัทที่ทำสัญญาให้มีนโยบายการให้ค่าจ้างแรงงานระหว่างเพศอย่างเสมอภาค นโยบายการค้าบางนโยบาย ซึ่งตอนแรกไม่ได้มุ่งเป้าไปที่การให้อำนาจในการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจแก่สตรี แต่ส่งผลให้สภาพการทำงานของลูกจ้างสตรีดีขึ้น รวมทั้งในเรื่องกฎหมายด้านความเท่าเทียมทางเพศด้วย กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งรัฐบาลได้นำมาตรการต่าง ๆ มาส่งเสริมการจ้างงานจากภายนอก (outsource) ในช่วงแรกเริ่ม แต่กลับมีจำนวนแรงงานสตรีมากกว่าร้อยละ 55 ที่ได้รับประโยชน์มากขึ้น มาตรการเหล่านี้ได้ช่วยกระตุ้นให้ภาคส่วนนี้ได้รับผลกระทบด้านความเท่าเทียมทางเพศในเชิงบวกไปด้วย


ในหลายประเทศ สตรีถูกกีดกันจากงานที่มีข้อจำกัดทางร่างกายหรืองานที่เสี่ยงภัย ซึ่งทำให้ไม่ได้รับค่าจ้างที่สูงขึ้น ต่อมากระแสได้เปลี่ยนแปลงไป ดังเช่น ในปี 2018 ยูเครนได้ยกเลิก 458 อาชีพที่สตรีไม่ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพได้โดยถูกกฎหมาย และคาซัคสถานซึ่งเป็นประเทศที่สตรีมีรายได้น้อยกว่าผู้ชายถึงร้อยละ 32 ก็ได้ดำเนินการในลักษณะเดียวกัน โดยมีอาชีพมากกว่า 200 อาชีพซึ่งไม่อนุญาตให้สตรีเข้าถึงได้ แต่ปัจจุบันสามารถจ้างแรงงานสตรีได้แล้ว ซึ่งได้แก่ งานก่อสร้าง การขุดเจาะเหมือง และขุดเจาะน้ำมัน สิ่งเหล่านี้เป็นก้าวสำคัญที่ทำให้สตรีกลับมามีรายได้มากกว่าผู้ชายถึงสามเท่าทั้งที่ก่อนหน้าเป็นงานของเพศชายส่วนใหญ่


ความตกลงทางการค้าระดับภูมิภาคบางฉบับ โดยเฉพาะความตกลงล่าสุด ได้กล่าวถึงการบรรจุบทบัญญัติเรื่องเพศสภาพเอาไว้ด้วย โดยตระหนักถึงการส่งเสริมบทบาทของสตรีที่มีต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจการพัฒนาที่ยั่งยืน และการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม ความตกลงบางฉบับได้กล่าวถึงความเท่าเทียมกันทางเพศสภาพ เช่น การเพิ่มขีดความสามารถและเพิ่มทักษะของสตรีในที่ทำงาน โครงการส่งเสริมความเท่าเทียมทางเพศภายในบริษัท การรวบรวมและการใช้สถิติแรงงานโดยแยกตามเพศ หรือการประกันความมั่นคงในการทำงาน และ ความก้าวหน้าทางอาชีพสำหรับลูกจ้างสตรีโดยใช้เทคโนโลยี นอกจากนี้ ความตกลงทางการค้าบางฉบับได้กล่าวถึงสภาพการทำงานของสตรีโดยครอบคลุมถึงการดูแลเด็กการพยาบาลมารดา การป้องกันความรุนแรงและ การล่วงละเมิดทางเพศในที่ทำงาน และการกำจัดการเลือกปฏิบัติทางเพศในที่ทำงานด้วย


ตั้งแต่ปี 2017 สองในสามของสมาชิกองค์การการค้าโลก ได้ตรวจสอบว่าการค้าสามารถส่งเสริมอำนาจทางเศรษฐกิจของสตรีได้อย่างไรในปีที่ผ่านมา สมาชิกเหล่านี้ใช้เวลาหนึ่งปีในการจัดทำปฏิญญาอย่างเป็นทางการฉบับแรกขององค์การการค้าโลกว่าด้วยการค้าและความเสมอภาคทางเพศ ซึ่งมีสมาชิกฯ จำนวน 121 ประเทศ ได้สนับสนุนปฏิญญานี้ ซึ่งจะได้ให้มีการรับรองในการประชุมระดับรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 สมาชิกฯ เหล่านี้กำลังดำเนินการผ่านปฏิญญานี้เพื่อที่จะทำให้เกิดอำนาจกับสตรีโดยผ่านการค้าในด้านต่าง ๆ เช่น การรวบรวมข้อมูลโดยแยกตามเพศ การกำหนดนโยบายทางการค้าความช่วยเหลือทางการค้า และภาวะผู้นำของสตรี ปฏิญญานี้กำหนดให้องค์การการค้าโลกมีอำนาจที่จะดำเนินการในด้านการค้าและเพศสภาพ การพัฒนาทางด้านบวก อีกประการหนึ่งคือการรวมบทบัญญัติที่ไม่มีการแบ่งแยกทางเพศสภาพไปสู่ความตกลงพหุภาคี ซึ่งเพิ่งจะได้ข้อสรุปเมื่อไม่นานมานี้จากประเทศสมาชิกฯ จำนวน 67 ประเทศ บทบัญญัตินี้ได้ห้ามการเลือกปฏิบัติทางเพศในบริษัทที่เกี่ยวกับกระบวนการอนุญาตของผู้ให้บริการ และยังเป็นข้อบทเรื่องความเท่าเทียมทางเพศข้อแรกจากผลลัพธ์ การเจรจาภายใต้องค์การการค้าโลก การพัฒนาเหล่านี้ จะทำให้มีการออกประกาศเกี่ยวกับเรื่องทางเพศภายใต้องค์การการค้าโลกมากขึ้น ซึ่งจะไปเปลี่ยนแปลงองค์การจากที่ไม่สนใจเรื่องเพศสภาพมาตอบสนองเรื่องความเสมอภาคทางเพศมากขึ้น กล่าวโดยสรุปแล้ว คุณค่าของการวิจัยเกี่ยวกับการค้าและเพศที่ได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการนี้มีคุณค่ามหาศาล และองค์การการค้าโลกกำลังขับเคลื่อนเพื่อทำให้การค้าเป็นไปในทิศทางที่ดีขึ้นสำหรับสตรีและเพื่อสังคมโลกในอนาคต


บทบาทของประเทศไทยต่อการขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโลก

รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้ประกาศนโยบาย การสนับสนุน และเพิ่มบทบาทผู้ประกอบการ MSMEs และสตรีเพื่อช่วยขับเคลื่อนและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ พร้อมสนับสนุนและผลักดันให้เป็นไปตามนโยบายดังกล่าว เนื่องจากในปัจจุบันทั้งในระดับประเทศและกลุ่มความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) มีจำนวน MSMEs ที่มีผู้ประกอบการเป็นสตรีจำนวนมาก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของสตรีในการขับเคลื่อนประเทศ และเป็นกลไกขับเคลื่อนการเติบโตที่สำคัญในเอเปค แต่ในภาคการส่งออกพบว่า ผู้ประกอบการ MSMEs และผู้ประกอบการสตรีไม่ได้รับการเข้าถึงประโยชน์จากความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ อีกทั้งผลกระทบจากโควิด-19 ยังทำให้เกิดการสูญเสียรายได้และยุติกิจการ จึงถือเป็นความท้าทายของนานาประเทศ รวมถึงประเทศไทยที่จำเป็นต้องช่วยเหลือและสนับสนุนผู้ประกอบการดังกล่าวเพื่อช่วยพลิกฟื้นและ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายใต้การค้าโลก


เอเปคได้ให้ความสำคัญกับ MSMEs และสตรีมาโดยตลอดในการพัฒนาและสร้างขีดความสามารถด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งในปี 2565 ประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในการจัดการประชุมเอเปค การส่งเสริมและช่วยเหลือ ผู้ประกอบการ MSMEs และผู้ประกอบการสตรี เป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงบทบาทสำคัญในการผลักดันและส่งเสริมศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการสตรีเพื่อเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจการค้าไทยต่อไป


Source:

99 views
bottom of page