top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

ย้อนดูกรณีพิพาทแร่โลหะหายาก ไพ่ใบสำคัญในศึกสงครามการค้าจีน-สหรัฐ



ขณะนี้ทั่วโลกกำลังจับตาการทำสงครามการค้าระหว่างจีนกับสหรัฐฯ ที่ร้อนระอุมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งล่าสุดอัตราภาษีที่สหรัฐฯ เรียกเก็บเพิ่มเติมจากสินค้านำเข้าจากจีนมูลค่า 200,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เริ่มมีผลบังคับใช้ไปแล้ว ในขณะที่จีนก็ตอบโต้กลับโดยเตรียมขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐฯ มูลค่า 60,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ มีผลในวันที่ 1 มิถุนายนที่จะถึงนี้


สมรภูมิการสู้รบทางการค้าไม่เพียงแต่จะมีการใช้อาวุธดั้งเดิมในรูปแบบการขึ้นกำแพงภาษีนำเข้าสินค้าจากฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น สหรัฐฯ ได้ออกหมัดฮุคสำคัญที่สะเทือนไปถึงบริษัทชั้นนำของจีนอย่าง Huawei ที่ถูกขึ้นบัญชีเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคง ส่งผลให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนสัญชาติอเมริกันหลายรายระงับการทำธุรกิจกับ Huawei และยังบานปลายไปถึง Google ที่ออกมาประกาศจำกัดการใช้งานสมาร์ทโฟน Huawei บนระบบปฏิบัติการแอนดรอยด์เช่นกัน สร้างความตี่นตระหนกให้กับลูกค้าสมาร์ทโฟน Huawei และเป็นข่าวหน้าหนึ่งไปทั่วโลก


สงครามการค้ายกใหม่ที่พุ่งเป้าไปที่ธุรกิจสาขาเทคโนโลยี หรือ Tech War นี้ ใช่ว่ามีแต่สหรัฐฯ ที่สามารถออกหมัดทำร้ายคู่ต่อสู้ได้เพียงฝ่ายเดียว จีนเองก็มีอําวุธสำคัญในมือที่สหรัฐฯ ประมาทไม่ได้


จีนเป็นประเทศผู้ผลิตแร่โลหะหายาก (Rare Earths) รายใหญ่อันดับหนึ่งของโลกในสัดส่วนกว่าร้อยละ 90 ซึ่งแร่ดังกล่าวเป็นวัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าไฮเทคหลายชนิด รวมถึงสมาร์ทโฟน ชิ้นส่วนคอมพิวเตอร์ รถไฮบริด ไปจนถึงเครื่องยนต์อากาศยาน และขีปนาวุธ


ในอดีตจีนเคยเรียกเก็บภาษีส่งออกกับแร่โลหะหายากที่จีนผูกขาดการผลิต และดันราคาตลาดโลกให้พุ่งสูงขึ้น ซึ่งสร้างความเสียหายให้กับบริษัทต่างชาติที่ต้องอาศัยวัตถุดิบดังกล่าวในห่วงโซ่การผลิตอย่างมากโดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ต้องพึ่งพาการนำเข้าแร่โลหะหายากจากจีนคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 80 และนำไปสู่การฟ้องร้องเป็นกรณีพิพาทระหว่างประเทศภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อปี 2555 โดยอียูและญี่ปุ่นที่เป็นประเทศแถวหน้าด้านเทคโนโลยีก็ร่วมมือกับสหรัฐฯ ยื่นฟ้องจีนในครั้งนั้นด้วย


กรณีพิพาทดังกล่าวถึงที่สุดเมื่อปี 2557 โดย WTO ตัดสินว่าจีนละเมิดกฎเกณฑ์การค้าโลกจริง ทั้งนี้ แม้ตามกติกา WTO จะไม่ได้ห้ามประเทศสมาชิกเก็บภาษีสินค้าส่งออก แต่เนื่องจากจีนเพิ่งเข้าเป็นสมาชิก WTO เมื่อปี 2544 จึงทำให้จีนต้องเสียค่าผ่านประตูสูงกว่าสมาชิกรายอื่นที่ร่วมก่อตั้ง WTO ซึ่งรวมถึงการที่จีนต้องมีข้อผูกพันเพิ่มเติมเรื่องการยกเลิกภาษีส่งออก ดังนั้น การเก็บภาษีส่งออกกับแร่โลหะหายากจึงทำให้จีนถูกตัดสินแพ้คดี และจีนก็ยอมยกเลิกการเก็บภาษีดังกล่าวแต่โดยดี


อย่างไรก็ตามเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ผู้นำจีนได้เดินทางไปยังเมืองกันโจว มณฑลเจียงซี เพื่อเยี่ยมชมเหมืองและโรงงานผลิตแร่โลหะหายาก ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเป็นการส่งสัญญาณเตือนไปยังสหรัฐฯ ให้หวนระลึกถึงไพ่สำคัญใบนี้ที่มังกรจีนถืออยู่ในมือ ซึ่งหากจีนกลับลำจากการปฏิบัติตามคำตัดสิน WTO และหันมาระงับการส่งออกแร่โลหะหายากที่จีนเป็นผู้ผูกขาดตลาดอีกครั้ง ก็น่าจะสร้างความสั่นคลอนให้กับธุรกิจเทคโนโลยีของสหรัฐฯ ไม่ใช่น้อย


ยิ่งไปกว่านั้น จีนยังเป็นผู้ผลิตแร่วัตถุดิบ (Raw Materials) สำคัญอีกหลายชนิดที่สหรัฐฯ ต้องพึ่งพาในการผลิต ซึ่งเมื่อปี 2552 และ 2559 จีนเคยถูกสหรัฐฯ ฟ้องเป็นกรณีพิพาทใน WTO อีก 2 คดี ข้อหาเก็บภาษีส่งออกกับแร่บอกไซต์โค้ก ฟลูออสปาร์ แม็กนีเซียม แมงกานีส โลหะซิลิคอน ฟอสฟอรัสเหลือง สังกะสี พลวง โคบอลต์ ทองแดง แกรไฟต์ตะกั่ว แมกนีเซีย ทัลก์ แทนทาลัม ดีบุก ซึ่งเป็นแร่วัตถุดิบสำคัญในการผลิตสินค้าไฮเทค อาทิ เซมิคอนดักเตอร์อุปกรณ์การแพทย์ ชิ้นส่วนการบินและแบตเตอรี่รถไฟฟ้า โดยสหรัฐฯ ประสบความสำเร็จในการใช้กลไกการระงับข้อพิพาท WTO กดดันจีนให้ยอมยกเลิกการเก็บภาษีส่งออกกับแร่ดังกล่าวและปฏิบัติตามกติกาการค้าโลก


แต่ด้วยสถานการณ์ Tech War ในขณะนี้ ทั่วโลกคงต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าจีนจะถูกบีบให้ใช้ไพ่สำคัญในมือโดยระงับการส่งออกวัตถุดิบที่เป็นปัจจัยในการขับเคลื่อนอุตสําหกรรมไฮเทคของสหรัฐฯ หรือไม่


ขอบคุณรูปภาพจาก www.chinadaily.com.cn


กมลทิพย์ พสุนธรํากําญจน์ จะนู

27 พฤษภาคม 2562

89 views
bottom of page