top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

จับตาการเจรจาอุดหนุนประมงภายใต้ WTO ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ


การประชุมรัฐมนตรีเรื่องการอุดหนุนประมงทางออนไลน์เมื่อวันที่ 15 กรกฎาคม 2564 (ภาพจาก WTO)


เมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 หรืออีกเพียง 3 วันก่อนการประชุมรัฐมนตรี สมัยสามัญ ครั้งที่ 12 (MC12) จะเริ่มขึ้น ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก หรือ WTO (ดร. เอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา) ได้ประกาศเลื่อน การประชุมออกไปอย่างไม่มีกำหนดสืบเนื่องจากสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนที่ทวีความรุนแรง และหลายประเทศ รวมทั้งสมาพันธรัฐสวิส ได้ออกมาตรการจำกัดการเดินทางและการกักตัวที่เข้มงวดขึ้น ส่งผลทำให้รัฐมนตรีหลายประเทศไม่สามารถเดินทางเข้าร่วมประชุมที่เจนีวาได้ ทั้งนี้ การเลื่อนประชุม MC12 ใน ครั้งนี้ถือเป็นครั้งที่ 2 หลังจากที่ WTO ได้เคยประกาศเลื่อนออกไปเมื่อปี 2563 เนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เช่นเดียวกัน


ประเทศสมาชิก WTO ได้แสดงความเข้าใจถึงเหตุผลในการตัดสินใจประกาศเลื่อนการประชุม MC12 อย่างฉุกละหุกในครั้งนี้ แต่ในขณะเดียวกัน ก็กังวลถึงผลกระทบต่อสถานะการเจรจาต่าง ๆ ที่ดำเนินการอยู่ภายใต้ WTO โดยเฉพาะการเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมงที่มีความยืดเยื้อมาเป็นเวลากว่า 20 ปี แต่ในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาก่อนการประชุม MC12 ได้มีความคืบหน้าเป็นอย่างมากอันเป็นผลจากความพยายามของประเทศสมาชิกที่จะเร่งสรุปผลการเจรจาให้ทันก่อนการประชุม MC12 ตามเป้าหมายที่ที่ประชุมรัฐมนตรีเมื่อเดือนกรกฎาคม 2564 ตั้งไว้ อย่างไรก็ดี แม้จะมีการเจรจาอย่างเข้มข้นและหนักหน่วง ประเทศสมาชิกก็ยังไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้ โดยมีประเด็นติดขัดที่อาจต้องได้รับการปลดล็อกในระดับทางการเมืองก่อนที่จะเดินหน้าหารือทางเทคนิคร่วมกันต่อไปได้ ดังนั้น เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 ประธานกลุ่มเจรจา (เอกอัครราชทูตซานติเอโก วิลล์) ได้ตัดสินใจปรับปรุงแก้ไขร่างความตกลงเรื่องการอุดหนุนเพื่อสะท้อนความคืบหน้าล่าสุดของการเจรจา และเวียนให้ประเทศสมาชิก รับทราบเพื่อเตรียมนำเสนอให้รัฐมนตรีพิจารณาและใช้เป็นฐานในการตัดสินใจเพื่อสรุปผลการเจรจาร่วมกันใน การประชุม MC12 ในที่สุด


ด้วยสถานการณ์การเจรจาที่ถือว่ามาถึงช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อแล้วก็ว่าได้นั้น ประเทศสมาชิกบางรายจึงกังวลว่า การเลื่อนการประชุม MC12 ออกไปในครั้งนี้อาจเป็นการพลาดโอกาสที่จะผลักดันให้สามารถสรุปผลการเจรจาได้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกยังคงมุ่งมั่นที่จะเดินหน้าเจรจาร่วมกันต่อไป โดยใช้ช่วงเวลานี้ที่ยังรอเคาะวันประชุม MC12 ใหม่อย่างแน่ชัด เร่งหารือเพื่อหาทางออกตรงกลางร่วมกันให้ได้มากที่สุดและจำกัดประเด็นติดขัดให้เหลือน้อยที่สุด พร้อมทางเลือกที่เป็นไปได้ เพื่อให้รัฐมนตรีพิจารณาตัดสินใจสรุปผลการเจรจาที่รอคอยกันมาอย่างยาวนานให้ได้ในท้ายที่สุด ทั้งนี้ ประเด็นติดขัดสำคัญที่ประเทศสมาชิกจะต้องเร่งหารือร่วมกัน เช่น การขยายขอบเขต ความตกลงให้ครอบคลุมการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ประเทศสมาชิกให้เป็นการทั่วไปโดยไม่ได้เจาะจงเฉพาะ ภาคส่วนประมงเท่านั้น การระบุถ้อยคำที่ป้องกันไม่ให้นำข้อตัดสินหรือการดำเนินการภายใต้ความตกลงไปอ้างอิงในการเรียกร้องสิทธิอาณาเขตในพื้นที่ที่ประเทศสมาชิกยังคงถกเถียงระหว่างกันอยู่ การให้สิทธิยกเว้นการปฏิบัติตามข้อห้ามการอุดหนุนประมงสำหรับประเทศกำลังพัฒนาทั้งในแง่งขอบเขตและระยะเวลาการยกเว้นที่เหมาะสม เป็นต้น


การเจรจาเรื่องการอุดหนุนประมงภายใต้ WTO เริ่มขึ้นเมื่อปี 2544 และเมื่อปี 2560 ในการประชุม MC11 รัฐมนตรีได้มีมติผลักดันเร่งสรุปผลการเจรจาตามเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (SDG) ข้อ 14.6 ที่ห้ามการอุดหนุนการทำประมง IUU และการทำประมงที่นำไปสู่การจับสัตว์น้ำเกินศักยภาพและเกินขนาด ทั้งนี้ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ หรือ FAO ได้จัดทำรายงานเกี่ยวกับสถานะทรัพยากรสัตว์น้ำ โดยระบุว่า การจับสัตว์น้ำทะเลทั่วโลกในปี 2018 มีปริมาณอยู่ที่ 84.4 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าร้อยละ 3.9 และมีการจับสัตว์น้ำที่สูงเกินกว่าระดับยั่งยืน (overfished) คิดเป็นร้อยละ 34.2 จากการสัตว์น้ำทะเลทั้งหมด


แหล่งข้อมูลอ้างอิง

88 views
bottom of page