top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

ความคืบหน้าของข้อเสนอที่มีความชัดเจนมากขึ้นในการเจรจา E-Commerce


สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปทั่วโลก ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดการใช้ชีวิตแบบวิถีใหม่ ที่เรียกว่า New Normal และส่งผลให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ ได้ปรับเปลี่ยนรูปแบบการค้าไปตามทิศทางของเศรษฐกิจดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งองค์การการค้าโลกหรือ WTO ได้มีการหารือถึงประโยชน์ของ E-Commerce กับการรักษาขีดความสามารถทางการค้าในเวทีโลกต่อมิติด้านการพัฒนา


ที่ผ่านมา เมื่อปี 2560 สมาชิก WTO 72 ประเทศ ได้ออกแถลงการณ์ร่วมด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (Joint Statement on Electronic Commerce) เพื่อเรียกร้องให้สมาชิกเริ่มหารือและแลกเปลี่ยนข้อมูลในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับ E-commerce ร่วมกัน


และต่อมา สมาชิก WTO ได้มีการยกระดับการหารือขึ้นสู่ระดับการเจรจาภายหลังจากการออกประกาศแถลงการณ์ร่วมในการประชุม Informal Meeting of Ministers (IMM) on E-commerce เมื่อเดือนมกราคม 2562 ณ เมืองดาวอส สวิตเซอร์แลนด์ โดยมีสมาชิก WTO รวม 76 ประเทศเข้าร่วมสนับสนุนแถลงการณ์ฉบับนี้ (ปัจจุบันมี สมาชิก WTO 86 ประเทศร่วมสนับสนุน) โดยมุ่งหมายในการจัดทำความตกลง e-commerce ที่เป็นความตกลงมาตรฐานสูง มีสมาชิก WTO เข้าร่วมเป็นจำนวนมาก และการให้ความยืดหยุ่น (Flexibility) แก่ประเทศกำลังพัฒนาและ LDCs


ปัจจุบัน สมาชิก WTO เดินหน้าการเจรจาความตกลง E-commerce อย่างต่อเนื่องเป็นประจำ โดยเปิดโอกาสให้สมาชิก WTO ทั้ง 164 ประเทศสามารถเข้าร่วมการเจรจาได้ โดยการเจรจาจะเน้น 3 ประเด็นหลัก ได้แก่

  1. การจัดทำข้อบทที่เกี่ยวข้องกับกฎระเบียบระหว่างประเทศด้าน E-commerce เช่น การจัดทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ การจัดการกับข้อความที่ไม่พึงประสงค์ (spam) การรับรองผลทางกฎหมายของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์และการยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ การอำนวยความสะดวกทางพิธีการศุลกากรแก่การค้า E-commerce การยกเว้นการเก็บภาษีศุลกากรสำหรับสิ่งที่ส่งผ่านทางอิเล็กทรอนิกส์ การส่งผ่านข้อมูลข้ามพรมแดน การจำกัดการเปิดเผย “source code” การคุ้มครองผู้บริโภคออนไลน์ การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ความร่วมมือเพื่อป้องกันการคุกคามทางไซเบอร์ และการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิคระหว่างสมาชิก เป็นต้น

  2. การปรับปรุงเอกสารอ้างอิงของ WTO ว่าด้วยเรื่องโทรคมนาคมพื้นฐาน (WTO reference paper on basic telecommunications)

  3. การเปิดตลาดการค้าสินค้าและบริการในพิกัด/สาขาที่เกี่ยวเนื่องกับการค้า E-commerce

สำหรับการเจรจาที่ผ่านมา เมื่อวันที่ 22 กรกฏาคม 2564 ที่ประชุมได้หารือและได้ข้อสรุปในเนื้อหาเรื่องหัวข้อ การจัดการกับข้อความที่ไม่พึงประสงค์ (spam) การรับรองผลทางกฎหมายของลายมือชื่ออิเล็กทรอนิกส์ การยืนยันตัวตนทางอิเล็กทรอนิกส์ และการคุ้มครองผู้บริโภค เป็นต้น ส่วนเนื้อหาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมความโปร่งใส การกระจายข้อมูล การแปลเป็นภาษาท้องถิ่น พิกัดภาษีศุลกากรของการค้าแบบอีคอมเมิร์ซ นั้นยังคงต้องเจรจาต่อไป เพื่อให้ได้ทางออกหรือหาข้อสรุปที่ดีที่สุด


ทั้งนี้ ประธานการประชุมได้ย้ำว่า ในการเจรจาควรคำนึงถึงความท้าทายของประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุดด้วย ซึ่งประเทศดังกล่าวอาจมีความไม่เท่าเทียมด้านศักยภาพและโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้การเจรจาร่วมกันมีความครอบคลุมและได้รับประโยชน์ร่วมกัน


ในส่วนของประเด็นอื่น ๆ ที่เป็นประเด็น cross cutting-issues ที่คาดว่า จะมีการหารือร่วมกันในช่วงของปี 2564 ได้แก่ ประเด็นเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์และความพร้อมทางอิเล็กทรอนิกส์ของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการค้า ซึ่งในเรื่องนี้ ยังมีประเทศสมาชิกบางประเทศให้ความเห็นว่า ควรใช้แนวทางความสมัครใจและยึดการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยคุกคามด้านความปลอดภัยทางไซเบอร์ หรือแสวงหาข้อกำหนดเพิ่มเติมเพื่อจัดการกับปัญหา โดยให้เป็นส่วนหนึ่งของความตกลงในอนาคต และในส่วนของเรื่องความพร้อมทางอิเล็กทรอนิกส์ของข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการค้านั้น มีสมาชิกบางประเทศเห็นว่า ควรจะพิจารณาว่าประเด็นดังกล่าวควรได้รับการพิจารณาในคณะกรรมการการเจรจา E-Commerce หรือควรถือว่าเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการอำนวยความสะดวกทางการค้า


64 views0 comments
bottom of page