top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

คุ้มครองผู้บริโภคจากสินค้านำเข้าที่อาจมีความเสี่ยงด้วยมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช



การค้าระหว่างประเทศได้ขยายตัวอย่างมากในช่วง 50 ปีที่ผ่านมา ขณะเดียวกันมีสินค้าบางประเภทที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงต่อสุขภาพและโรค เพื่อเป็นการป้องกันความเสี่ยงที่เกิดขึ้นด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นที่จะต้องมีมาตรการคุ้มครองสุขอนามัยของมนุษย์ สัตว์ และพืช เพื่อลดความเสี่ยงของโรคจากการนำเข้าสินค้าให้น้อยที่สุด เป็นที่มาของความตกลงว่าด้วยการใช้บังคับมาตรการสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช (Agreement on the Application of Sanitary and Phytosanitary Measures : SPS)


ความตกลง SPS คือ ความตกลงภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) กำหนดขึ้นเพื่อควบคุมสินค้าเกษตรและอาหารนำเข้าจากต่างประเทศ ที่อาจมีความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของแมลง พาหะโรค หรือสารพิษเจือปนที่ก่อให้เกิดโรคในอาหาร เครื่องดื่ม หรืออาหารสัตว์ ที่ส่งผลให้เกิดโทษต่อสุขภาพของมนุษย์ พืช และสัตว์ โดย SPS มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อความปลอดภัยและการคุ้มครองสุขภาพบนหลักการทางวิทยาศาสตร์ โดยไม่ก่อให้เกิดอุปสรรคทางการค้าและเป็นมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี กล่าวอีกนัยหนึ่งคือ มาตรการ SPS เป็นมาตรการที่ใช้จำกัดการนำเข้าเป็นสำคัญ


สำหรับบทบาทที่สำคัญของความตกลง SPS คือการให้สิทธิกับประเทศสมาชิกในการกำหนดมาตรการ

เพื่อเป็นหลักประกันความปลอดภัยของสินค้าอาหาร และสร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภคว่าจะไม่มีการแพร่ระบาดในประเทศของตัวเอง ทั้งนี้ เพื่อคุ้มครองชีวิตและสุขภาพของมนุษย์และสัตว์จากสารปนเปื้อน สารพิษ หรือเชื้อโรคในอาหาร ศัตรูพืชและสัตว์ และการแพร่ระบาดของโรคแมลง โดยมาตรการ SPS ที่ประเทศสมาชิกกำหนดต้องสอดคล้องกับมาตรฐานสากล ต้องใช้มาตรการระหว่างประเทศในการนำเข้าและส่งออกสินค้าอย่างเท่าเทียมกัน (equivalence) มีระดับของการคุ้มครองที่เหมาะสม มีการประเมินความเสี่ยงบนหลักเหตุผลทางวิทยาศาสตร์

และต้องมีความโปร่งใส โดยสมาชิกต้องเปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการ SPS ของประเทศตนเอง และต้องแจ้งเตือนระดับประเทศหากมีการเปลี่ยนแปลง กล่าวโดยสรุปคือ ความตกลง SPS มีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการค้าอย่างเสรีและเป็นธรรม ทำให้ประเทศสมาชิกองค์การการค้าโลกต่างได้รับผลประโยชน์ร่วมกัน


ในขณะที่ประเทศไทยที่เปรียบเสมือนครัวของโลก (Kitchen of the World) กลุ่มสินค้าอาหารจึงเป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญอย่างมาก ทำให้มาตรการ SPS ส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าอาหารอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยมีทั้งประโยชน์ คือ ไทยได้รับความคุ้มครองการนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นว่าต้องปลอดภัยและมีมาตรฐานระดับสากล

แต่ก็ส่งผลกระทบเชิงลบจากการที่บางประเทศจำกัดการนําเข้าสินค้าอาหารจากไทย เช่น ประเทศออสเตรเลียจำกัดการนำเข้ากุ้งจากไทย เนื่องจากความกังวลด้านสุขอนามัยสัตว์ เป็นต้น ซึ่งปัญหาจากมาตรการ SPS ทำให้เกิดการประชุมเพื่อเจรจาทางการค้า และพัฒนาสินค้าให้สอดคล้องกับมาตรฐานมากขึ้น


ในช่วงเดือนพฤศจิกายน 2020 ที่ผ่านมา WTO ได้มีการจัดประชุมออนไลน์ในโอกาสครบรอบ 25 ปีความตกลง SPS ซึ่งมีคณะกรรมการและตัวแทนสมาชิกองค์การการค้าโลกเข้าร่วมกว่า 200 คน โดยมีการทบทวนมาตรการในอดีตตลอด 25 ปีที่ผ่านมาที่ได้มีการนำมาตรการ SPS มาใช้เป็นจำนวนมาก โดยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538-2563 ได้มีประกาศแจ้งเวียนมาตรการ SPS รวมทั้งหมด 27,641 ฉบับ ในปี 2561 มีการแจ้งเวียนจำนวน 1,812 ฉบับ และปี 2562 มีการแจ้งเวียนจำนวน 1,927 ฉบับ ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 3-5 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ข้อกังวลดังกล่าวได้รับความร่วมมือจากประเทศสมาชิกภายใต้กลไกของคณะกรรมการ SPS จึงทำให้สามารถแก้ไขปัญหาอย่างเป็นรูปธรรมมากกว่าร้อยละ 50 นอกจากนี้ ยังมีเรื่องที่น่าสนใจที่จะแนวทางที่สำคัญในอนาคต เช่น สหภาพยุโรปเสนอการลดการใช้สารเคมีปราบศัตรูพืชลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2030 เป็นต้น และเชื่อว่าประเด็นความปลอดภัยของอาหารเป็นที่น่าจับตามองภายหลังวิกฤติโควิด-19 ที่ทำให้ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญกับมาตรการ SPS มากยิ่งขึ้น



2,027 views0 comments
bottom of page