top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

การปรับตัวของการค้าบริการบนโลกออนไลน์ช่วงโควิด-19


เมื่อเดือนพฤษภาคม 2564 สำนักเลขาธิการขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ได้เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับผลกระทบของการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งมีผลต่อการค้าบริการภาคธุรกิจต่าง ๆ ตั้งแต่ภาคการท่องเที่ยว การขนส่ง ขายปลีก ไปยังบริการด้านสาธารณสุข


รายงานดังกล่าวระบุว่า ภาคการค้าบริการได้รับผลกระทบอย่างหนักจากการระบาดของโรคโควิด-19 ในหลายภาคส่วน และวิกฤตดังกล่าวได้นำไปสู่การพัฒนาการให้บริการด้านออนไลน์ในหลายสาขา เนื่องจากผู้บริโภคได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ เนื่องจากการออกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ไขปัญหา การแพร่ระบาดของโรค


นอกจากนี้ รายงานยังระบุถึง ความสำคัญของภาคบริการที่มีต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจและบทบาทในการเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานและการอำนวยความสะดวกการค้าสินค้าด้วย และโดยที่ภาคบริการเป็นภาคธุรกิจที่มีการจ้างงานสตรีมากที่สุดและมีกิจกรรมที่เกี่ยวโยงกับวิสาหกิจรายย่อย และวิสาหกิจขนาดกลางและ ขนาดย่อม (MSMEs) ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงหรือพลิกผันที่เกิดขึ้นกับภาคบริการจะส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อการเข้ามามีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจและสังคมของกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในภาคธุรกิจ


รายงานของ WTO ยังชี้ว่า การค้าสินค้าบริการเป็นกุญแจที่สำคัญสู่การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของโลก และภาคบริการ อย่างเช่น สาขาโทรคมนาคม และคอมพิวเตอร์เป็นปัจจัยสำคัญต่ออุปทานด้านการค้าแบบออนไลน์ รวมถึงสาขาการบริการขนส่ง การกระจายสินค้า และโลจิสติกส์ ต่างมีความสำคัญต่อการอำนวยความสะดวกต่อการค้าสินค้าและมีส่วนช่วยพยุงเศรษฐกิจในภาพรวม

ในส่วนของประเภทและผลกระทบของการค้าสินค้าบริการในสาขาต่าง ๆ นั้น รายงานระบุว่า สาขาของการค้าบริการที่ต้องอาศัยความใกล้ชิดระหว่างผู้บริโภคกับผู้ให้บริการนั้น ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง โดยเฉพาะการค้าสินค้าบริการ ในรูปแบบที่ 2 การบริโภคในต่างประเทศ (Consumption Abroad) ซึ่งเป็นการให้บริการที่เกิดขึ้นในพรมแดนของประเทศผู้ให้บริการ โดยอาศัยการเคลื่อนย้ายของผู้บริโภคเป็นเงื่อนไขสำคัญ เช่น บริการด้านการท่องเที่ยว และในรูปแบบที่ 4 การให้บริการโดยบุคคลธรรมดา (Presence of Natural Person) ซึ่งเป็นการเข้าไปทำงานประกอบอาชีพในสาขาบริการด้านต่าง ๆ เป็นการชั่วคราวในประเทศลูกค้า


นอกจากนี้ วิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ยังส่งผลให้สาขาธุรกิจ เช่น ค้าปลีก สุขภาพ การศึกษา โทรคมนาคม และสื่อโสตทัศน์ (Audiovisual) มีความสำคัญเพิ่มขึ้น โดยผู้ประกอบการได้เร่งขยายการให้บริการทางออนไลน์ และผู้บริโภคเอง ก็มีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมมาใช้บริการทางระบบออนไลน์มากขึ้น ซึ่งในอนาคต การขยายตัวของอุปทานสินค้าบริการดังกล่าวอาจส่งผลให้การค้าสินค้าบริการในรูปแบบที่ 1 การบริการ ข้ามพรมแดน (Cross-border Supply) ซึ่งเป็นการให้บริการจากพรมแดนของประเทศหนึ่งไปสู่พรมแดนของประเทศอื่นที่เป็นลูกค้ามีเพิ่มขึ้น


การเพิ่มขึ้นของการใช้สินค้าบริการออนไลน์ในช่วงการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบให้เกิดความเหลื่อมล้ำด้านเทคโนโลยีและความเชื่อมโยงด้วย เช่น การเรียนออนไลน์จะไม่สามารถกระทำได้หากนักเรียนไม่มีเครื่องคอมพิวเตอร์ และการทำงานแบบ telework จะเป็นไปไม่ได้ หากพนักงานไม่มีระบบอินเตอร์เน็ตแบบ broadband อย่างไรก็ดี มีหลายประเทศ ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาได้ขยายกำลังการส่งดาต้าในระบบ และเพิ่มการจดทะเบียนให้คลื่นความถี่ในการส่งดาต้าเพิ่มขึ้นด้วย


กล่าวโดยสรุป วิกฤตการณ์ครั้งนี้ WTO ได้ย้ำถึงความสำคัญของการให้บริการแบบออนไลน์ เช่น บริการโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ ตลอดจนการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในวงกว้างในสาขาการค้าบริการ ทั้งในส่วนของการขนส่ง บริการทางการเงิน การกระจายสินค้า และระบบโลจิสติกส์ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้าและ การเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยปริมาณสินค้าออนไลน์ที่เพิ่มขึ้นถือเป็นความก้าวหน้าทางดิจิทัล และความท้าทายของการค้าบริการทางออนไลน์ในรูปแบบที่แตกต่างกัน ซึ่งจะเป็นกุญแจสำคัญต่อการฟื้นตัวจากการชะลอตัวทางเศรษฐกิจ



78 views0 comments
bottom of page