top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

การดำเนินนโยบายการค้าโลกเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน


"การค้าไม่ใช่ส่วนหนึ่งของปัญหาที่โลกกำลังเผชิญอยู่ในขณะนี้ แต่เป็นคำตอบในการแก้ปัญหาดังกล่าว" คงจะเป็นใจความสำคัญที่ ดร. เอ็นโกซี โอคอนโจ-อีเวลา ผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ต้องการสื่อให้ผู้รับฟังเข้าใจ ในการกล่าวคำปราศรัยของตนในการประชุม For a M ore Sustainable and Responsible Trade เมื่อวันที่ 28 มกราคมที่ผ่านมา โดย ดร. เอ็นโกซี เห็นว่า การค้าสีเขียวจะเป็นการค้าในอนาคต และประเทศสมาชิกควรนำการค้าและเวทีองค์การการค้าโลก (WTO) มาใช้ให้เป็นประโยชน์เพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ร่วมกัน

เพื่อชี้ให้เห็นถึงความเชื่อมโยงระหว่างการค้าและการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ดร. เอ็นโกซี ยอมรับว่า หลายครั้งที่การค้าโลกถูกพาดพิงว่าเป็นตัวการสำคัญของปัญหาต่าง ๆ ที่โลกต้องเผชิญอยู่ในขณะนี้ เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนจากการขนส่งสินค้า วิกฤติพลาสติกล้นโลก ความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยากจน เป็นต้น อย่างไรก็ดี ดร.เอ็นโกซี ยังคงเชื่อมั่นว่า ทางออกสำคัญในการแก้ไขปัญหาเหล่านี้ไม่ได้อยู่ที่การปฏิเสธหรือจำกัดทางการค้า แต่หากจะต้องปรับปรุงแนวทางการดำเนินการค้าให้ดีขึ้นโดยตระหนักถึงการนำกลุ่มคนชายขอบเข้ามาอยู่ในกระแส การค้าหลักและการแยกผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมกับชีวิตความเป็นอยู่ออกจากกัน และได้ยกตัวอย่างกรณีที่การค้าสามารถเป็นกลไกสำคัญในการแก้ไขปัญหาโลกได้ เช่น

  1. การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ โดยงานวิจัยที่ตีพิมพ์ในนิตยสาร Nature Climate Change ได้เคยประมาณการว่า ภัยพิบัติทางธรรมชาติและการเก็บเกี่ยวภายในประเทศที่ลดลง อันสืบเนื่องมาจาก การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ จะทำให้ประชากรโลกกว่า 55 ล้านคนต้องเผชิญกับความหิวโหยภายในปี 2573 แต่การยกระดับการค้าด้วยการลดภาษีและการอำนวยความสะดวกทางการค้าจะช่วยลดจำนวนประชากรดังกล่าวลงถึงร้อยละ 64 หรือลดลงถึง 35 ล้านคน ในทางตรงกันข้าม การจำกัดการค้าสินค้าเกษตรกลับจะยิ่งส่งผลทำให้จำนวนประชากรที่หิวโหยมีมากขึ้นในหลายสิบปีข้างหน้านี้

  2. การส่งเสริมการผลิตพลังงานหมุนเวียน ซึ่งการลดอุปสรรคทางการค้าช่วยทำให้สามารถหาแหล่งวัตถุดิบ บริการ และเทคโนโลยี ที่ช่วยลดต้นทุนการผลิตพลังงานหมุนเวียนหรือโครงสร้างพื้นฐานที่รับรองต่อ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศได้ เป็นต้น


สำหรับบทบาทของ WTO ดร. เอ็นโกซี ได้เน้นย้ำว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนเป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่ การค้าและ WTO จะสามารถนำมาใช้เพื่อยกระดับชีวิตความเป็นอยู่ของผู้คนได้ และยังถูกระบุไว้ในอารัมภบทของความตกลงว่าด้วยการก่อตั้ง WTO ตั้งแต่ปี 2537 ดังนั้น WTO จึงควรมีการดำเนินการเชิงรุกในเรื่องนี้ เช่น

  1. เมื่อปี 2562 WTO ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดในการสร้างโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม การขนส่ง และพลังงาน ภายใต้โครงการ Aid-for-Trade กว่า 25 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีแผนดำเนินการที่จะช่วยเหลือเพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่รับรองการเปลี่ยนแปลงทางสภาพ ภูมิอากาศต่อไป

  2. WTO อยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำความตกลงเพื่อลดการอุดหนุนการทำประมงภายใต้วัตถุประสงค์การอนุรักษ์ความหลากหลายทางทรัพยากรสัตว์น้ำ

  3. ประเทศสมาชิก WTO ใช้เวทีคณะกรรมการว่าด้วยการค้าและสิ่งแวดล้อมในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และหารือเกี่ยวกับมาตรการสิ่งแวดล้อมที่ประเทศสมาชิกนำมาใช้และอาจส่งผลกระทบต่อการค้าได้ เป็นต้น


นอกจากนี้ ประเทศสมาชิก WTO กว่า 80 ประเทศ (รวมถึงสหภาพยุโรป จีน และสหรัฐฯ) ยังได้รวมกลุ่มกันจัดทำข้อริเริ่มต่าง ๆ เพื่อหารือเกี่ยวกับการดำเนินการด้านสิ่งแวดล้อมภายใต้เวที WTO ได้แก่

  1. การหารือร่วมกันด้านการค้าและสิ่งแวดล้อมที่ยั่งยืน (Structured Discussions on Trade and Environmental Sustainability) โดยมีประเทศสมาชิก WTO เข้าร่วมแล้ว 71 ประเทศ เพื่อหารือ ในประเด็นต่าง ๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การค้าสินค้าและบริการสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น

  2. การหารืออย่างไม่เป็นทางการเรื่องการลดมลภาวะจากขยะพลาสติกและการค้าพลาสติกอย่างยั่งยืนและ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Informal Dialogue on Plastics Pollution and Environmentally Sustainable Plastic Trade) โดยมีประเทศสมาชิก WTO เข้าร่วมแล้ว 68 ประเทศ

  3. การปฏิรูปการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิล (Fossil Fuel Subsidy Reform) ) โดยมีประเทศสมาชิก WTO เข้าร่วมแล้ว 45 ประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับทางเลือกอื่นเพื่อนำไปสู่การยกเลิกการอุดหนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลในที่สุด


จากคำปราศรัยของ ดร. เอ็นโกซีดังข้างต้นนี้ คงจะเลี่ยงไม่ยอมรับไม่ได้ว่า การค้าในอนาคตจะมีความเชื่อมโยงอย่างแน่นแฟ้นกับการดำเนินการเพื่อนำไปสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งแนวทางดังกล่าวสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์การขับเคลื่อนประเทศไทยด้วยโมเดลเศรษฐกิจชีวิภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Model) ประจำปี 2564-2569 ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาเศรษฐกิจที่ไม่ได้มุ่งเน้นเพียงการพัฒนาเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องพัฒนาควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและการรักษาสิ่งแวดล้อมได้อย่างสมดุลให้เกิดความมั่นคงและยั่งยืนไปพร้อมกัน โดยเปลี่ยนข้อได้เปรียบที่ไทยมีจากความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม ให้เป็นความสามารถในการแข่งขันด้วยนวัตกรรม เพื่อให้เกิดเศรษฐกิจ BCG ที่เติบโต แข่งขันได้ใน ระดับโลก เกิดการกระจายรายได้ลงสู่ชุมชน ลดความเหลื่อมล้ำ ชุมชนเข้มแข็ง มีความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและ การพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งนี้ ในฐานะเจ้าภาพการประชุมกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ประจำปี 2565 ไทยยังได้ผลักดันให้โมเดลเศรษฐกิจ BCG เป็นหนึ่งในวาระหารือหลักในการประชุมร่วมกับประเทศสมาชิก APEC ด้วย


แหล่งข้อมูล

174 views
bottom of page