top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

การค้าบริการและทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ ในห่วงโซ่คุณค่าโลกยุคใหม่ ไทยควรทำอย่างไร


1. การค้าทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้ (Intangible assets) รวมถึงทรัพย์สินทางปัญญาต่าง ๆ เพิ่มมากขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าโลก เนื่องจากบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่มีบทบาทมากขึ้นในห่วงโซ่คุณค่าโลก โดยสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้นี้ รวมถึงชื่อแบรนด์ การออกแบบ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า วิธีทางการตลาด เครือข่ายค้าปลีก เป็นต้น ซึ่งทั้งหมดนี้คือมูลค่าเพิ่มที่บริษัทเหล่านี้สร้างจากการดำเนินกิจกรรมต้นน้ำและปลายน้ำบน Smile curve ของบริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ จากการประมาณการ พบว่าประมาณร้อยละ 90 ของมูลค่าหลักทรัพย์ ตามราคาตลาด (Market capitalization) ของบริษัทใน S&P 500 มาจากทรัพย์สินทางปัญญา


2. การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็นปัจจัยหนึ่งเดียวที่สำคัญที่สุดสำหรับการส่งเสริมการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าโลกของประเทศกำลังพัฒนา เนื่องจากบริษัทข้ามชาติต่าง ๆ ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา ต้องการเก็บทรัพย์สินทางปัญญาของตนไว้ภายในบริษัท จึงเน้นการลงทุนในประเทศที่มีการคุ้มครองทรัพย์ทางปัญญาที่มีประสิทธิภาพ จากผลการสำรวจของ OECD ในปี 2015 ดังรูป 1 สำหรับไทย จากรายงาน International Property Rights Index 2021[1]ไทยมีคะแนนด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาเป็น รองมาเลเซียและจีนอย่างเห็นได้ชัด และอยู่ในกลุ่มเดียวกับอินโดนีเซียและเวียดนาม ดังรูป 2


3. มูลค่าการค้าทรัพย์สินที่จับต้องไม่ได้นี้ไม่ได้ถูกรวมอยู่ในสถิติมูลค่าการค้าทั่วไป แต่หากคือส่วนต่างระหว่างยอดขายรวมและต้นทุนการผลิตของสินค้าหนึ่ง ๆ ยกตัวอย่างเช่น ร้อยละ 59 ของราคาขายปลีกของ iPhone 10 เป็นผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ของแอปเปิ้ล ที่เกิดจากที่แอปเปิ้ลดำเนินการออกแบบ วิจัยพัฒนา รวมทั้งทำการตลาดและการบริหารหลังการขายเอง สิ่งที่แอปเปิ้ลไม่ได้ทำคือการผลิตชิ้นส่วนและการประกอบโทรศัพท์เท่านั้น ซึ่งแอปเปิ้ลจ้างเหมาบริษัทต่าง ๆ ทั่วโลกทำการผลิตส่วนประกอบและจ้างบริษัทในจีน ในการประกอบโทรศัพท์ เสมือนแอปเปิ้ลส่งออกสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้ของตน มายังประเทศจีนที่เป็นแหล่งประกอบ iPhone 10 ก่อนที่จะนำ iPhone 10 ไปขายในจีนหรือผ่านเครือข่ายค้าปลีกทั่วโลกของแอปเปิ้ล แอปเปื้ลจึงเปรียบเสมือน “ผู้ผลิตที่ไม่มีโรงงานเป็นของตนเอง” หรือ “Factoryless manufacturer”


4. อุตสาหกรรมยา เครื่องจักร และอิเล็กทรอนิกส์ เป็นกลุ่มอุตสาหกรรมที่มีห่วงโซ่คุณค่าที่ทรัพย์สินทางปัญญามีบทบาทสำคัญมาก ทำให้การคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญามีความจำเป็นสำหรับการเกาะเกี่ยวเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่คุณค่าโลกของอุตสาหกรรมเหล่านี้ ดังรูป 3


5. การเพิ่มขึ้นของการผลิตและการค้าสินทรัพย์ที่จับต้องไม่ได้นี้เกิดขึ้นพร้อมกับการเพิ่มขึ้นของการค้าบริการในห่วงโซ่คุณค่าโลก ในปี 2017 การค้าบริการมีมูลค่า 5.1 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ น้อยกว่ามูลค่าการค้าสินค้าที่ 17.3 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ อย่างไรก็ตาม การค้าบริการขยายตัวเร็วกว่าการค้าสินค้าถึงร้อยละ 60 ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา (McKinsey 2019)[2] ดังรูป 4 โดยขยายตัวร้อยละ 3.9 โดยเฉลี่ยต่อปี ในขณะที่การค้าสินค้าขยายตัวร้อยละ 2.4 ธุรกิจบริการที่มีการค้าเพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด ได้แก่ โทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ บริการธุรกิจ และการค้าทรัพย์สินทางปัญญา การมีส่วนร่วมในห่วงโซ่คุณค่าโลกในภาคบริการจึงควรมุ่นเน้นการส่งเสริมบริการในสาขาข้างต้นนี้


รูป 1 ผลการสำรวจของ OECD เรื่อง Participation of Developing Countries in Global Value Chains

Implications for Trade and Trade-Related Policies


รูป 2 คะแนนการจัดอันดับ International Property Rights Index 2021 ด้านการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ที่มา: Property Rights Alliance


รูป 3: ความเข้มข้นขององค์ความรู้ในห่วงโซ่คุณค่าโลก - การเปลี่ยนแปลงของสัดส่วนของรายจ่ายในสินทรัพย์ ที่จับต้องไม่ได้ในรายได้รวม 2000–2016


รูป 4: การขยายตัวของการค้าโลก รายสาขาการผลิต 2007-2017 ที่มา: McKinsey (2019)



ที่มา: Global Value Chain Report 2021


 

[1] https://www.internationalpropertyrightsindex.org/full-report [2] https://www.mckinsey.com/featured-insights/innovation-and-growth/globalization-in-transition-the-future-of-trade-and-value-chains


1,290 views
bottom of page