top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

กระแสการค้า e-commerce ท่ามกลางวิกฤตโควิด-19



ในช่วงของวิกฤตโรคระบาดโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบให้กิจกรรมแทบจะทุกอย่างบนโลกต้องหยุดชะงักลง หลายประเทศได้ประกาศใช้มาตรการ lockdown ประเทศ เพื่อหวังที่จะลดปริมาณการแพร่กระจายของเชื้อโรค ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่ต้องเก็บตัวอยู่บ้าน หลีกเลี่ยงการออกนอกบ้านยกเว้นแต่มีความจำเป็นเท่านั้น จากสถานการณ์นี้ทำให้เราเห็นถึงปรากฏการณ์สำคัญอย่างหนึ่งที่คงไม่มีใครปฏิเสธ คือ “อินเตอร์เน็ต” ได้กลายมาเป็นปัจจัยที่ห้าของการดำรงชีวิตในยุคโควิด-19 นี้


หลายภาคส่วนได้นำนโยบาย “Work From Home” มาปรับใช้ เพื่อรับมือกับโรคระบาดโควิด-19 ที่ทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน และยังไม่มีวี่แววที่สถานการณ์จะคลี่คลายในเร็ววันนี้ ดังนั้น เพื่อให้กิจกรรมทุกอย่างยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ คนส่วนใหญ่ต้องหันมาใช้ประโยชน์ของอินเตอร์เน็ตและเทคโนโลยีทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อสื่อสารกับสมาชิกในครอบครัวและเพื่อนฝูง การประชุมกับเพื่อนร่วมงาน การเรียนการสอนหนังสือ การจับจ่ายซื้อของอุปโภคบริโภคที่จำเป็น การดูหนังฟังเพลง การปรึกษาอาการป่วยกับแพทย์ หรือแม้แต่การรายงานข่าวสถานการณ์โควิค-19 ล้วนต้องดำเนินการผ่านระบบออนไลน์ทั้งสิ้น


ในทางเศรษฐกิจการค้าก็เช่นกัน ในขณะที่ระบบห่วงโซ่อุปทานโลกต้องสะดุดไปชั่วขณะ แต่ทิศทางของการค้า e-commerce กลับเดินสวนทางกับเศรษฐกิจในยุค stay-at-home economy วันนี้ขอหยิบยกตัวอย่างสำคัญที่ทำให้เห็นว่า ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดของโลก กลับมีโอกาสของธุรกิจ e-commerce ที่ยังซ่อนตัวอยู่


  • ยอดการสั่งซื้อสินค้าผ่าน e-commerce ทะลักทั่วโลก :

จากสถิติของ Nielsen รายงานว่า ก่อนการระบาดของโควิด-19 ชาวอเมริกันมีการซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านช่องทางออนไลน์เพียงร้อยละ 4 แต่ในช่วงที่มีการระบาดฯ พบว่า มีการดาวน์โหลดแอปพลิเคชัน Walmart เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ยต่อวันถึงร้อยละ 160 โดยสินค้าที่มียอดสั่งซื้อมากที่สุด คือ สินค้าด้านสุขอนามัย (อุปกรณ์ทางการแพทย์เพิ่มขึ้นร้อยละ 85 และแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้นร้อยละ 65) ในส่วนของจีน มีการประเมินว่า ตลาดธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภคออนไลน์อย่าง Alibaba และ JD.com จะเติบโตถึงร้อยละ 62.9 ในปี 2563 เมื่อเปรียบเทียบกับร้อยละ 29.2 ในปี 2562 หรือคิดเป็นมูลค่า 264 พันล้านหยวน (ประมาณ 1.3 ล้านล้านบาท) นอกจากนี้ ร้านอาหารส่วนใหญ่ที่ต้องปิดให้บริการทั่วโลกได้ปรับกลยุทธ์ด้วยการจับมือกับธุรกิจบริการ Delivery อาหารผ่านแอปพลิเคชัน อาทิ Grab, Line Man, Uber Eats ซึ่งในส่วนของไทยมียอดการสั่งอาหารถึง 4 ล้านครั้งในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา เทียบกับปีที่แล้วที่มียอดสั่ง 3 ล้านครั้งตลอดทั้งปี


  • การจ้างงานในธุรกิจ e-commerce เพิ่มขึ้น สวนทางกับแนวโน้มโลก :

ในขณะที่องค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) คาดการณ์ผลกระทบของโควิค-19 ต่อตลาดแรงงานโลกว่า จะทำให้คนต้องตกงานถึง 24.7 ล้านตำแหน่ง แต่ไม่กี่วันมานี้ Walmart และ Amazon แพลตฟอร์ม e-commerce ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ได้ออกมาประกาศว่า มีแผนที่จะเพิ่มการจ้างงานใหม่ 150,000 และ 100,000 ตำแหน่งตามลำดับ เพื่อรองรับยอดการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ที่ทะลักเข้ามาในช่วงโควิด-19 ถึงแม้ว่าจะเป็นการจ้างงานแบบชั่วคราวแต่บริษัทเหล่านี้เผยว่า อาจพิจารณาจ้างงานในระยะยาว หากยอดการสั่งซื้อยังคงมีเข้ามาอย่างต่อเนื่อง


  • ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์และ Streaming Service มีปริมาณการใช้งานพุ่งสูงทั่วโลก :

ในขณะที่ธุรกิจบริการต่าง ๆ ทั่วโลก อาทิ ธุรกิจท่องเที่ยว โรงแรม และการบิน ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แต่ธุรกิจดิจิทัลคอนเทนต์และ Streaming Service ที่ให้บริการด้านความบันเทิงออนไลน์กลับมีทิศทางการเติบโตสวนทางกับธุรกิจอื่นอย่างชัดเจน โดยปริมาณการบริโภคดิจิทัลคอนเทนต์เพิ่มขึ้นทั่วโลกถึงร้อยละ 50 และการบริโภค Streaming Service เพิ่มขึ้นร้อยละ 12 โดยล่าสุด Netflix, YouTube และ Disney ผู้ให้บริการ TV Streaming ระดับโลกได้ประกาศที่จะลดคุณภาพความคมชัดของภาพจากความคมชัดระดับสูง (HD) เป็นความคมชัดระดับมาตรฐาน (SD) ในพื้นที่ยุโรป เนื่องจากในช่วงโควิด-19 ที่ผู้คนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตอยู่ในบ้าน ได้มีปริมาณการใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นอย่างหนาแน่น ซึ่งบริษัทฯ ต้องดำเนินการดังกล่าวเพื่อให้ระบบการใช้งานเป็นไปอย่างราบรื่น


จากข้อมูลที่ไฮไลท์มาข้างต้น แสดงให้เห็นว่า วิกฤตโควิด-19 ถือเป็นสถานการณ์ที่ทำให้ผู้คนหันมาเรียนรู้และตระหนักถึงความสำคัญของการใช้ช่องทางการค้าออนไลน์มากขึ้น ทั้งนี้ เชื่อว่าสถานการณ์โควิด-19 จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้บริโภค” ในระยะยาว โดยจะกระตุ้นให้ผู้คนทั่วโลกในทุกเพศทุกวัยหันมาใช้ชีวิตแบบดิจิทัลอย่างสมบูรณ์ ส่งผลให้ธุรกิจด้าน e-commerce มีโอกาสที่จะเติบโตอย่างก้าวกระโดดในอนาคต ซึ่งภาคเอกชนของไทยควรมีการเตรียมความพร้อมเพื่อแสวงหาประโยชน์จากแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ e-commerce ดังกล่าว

ในส่วนของ WTO ขณะนี้กลุ่มสมาชิกฯ 83 ประเทศ รวมทั้งไทย ต่างตระหนักถึงการเปลี่ยนแปลงและความสำคัญของรูปแบบการค้าในยุคดิจิทัล จึงได้พยายามเร่งเจรจาจัดทำความตกลง e-commerce เพื่อมุ่งเน้นยกระดับการอำนวยความสะดวกทางการค้าออนไลน์ โดยเฉพาะผู้ประกอบการ MSMEs และคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึง สอดรับกับแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจดังกล่าวในอนาคต โดยทันทีที่สถานการณ์โรคระบาดคลี่คลายลง สมาชิกฯ จะเร่งเดินหน้าให้การเจรจาสามารถสรุปผลได้ในปี 2564


ไวนิกา อานามนารถ

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

25 มีนาคม 2563


ขอบคุณภาพจาก www.mercadoeconsumo.com.br

289 views
bottom of page