top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

WTO ปรับรูปแบบการเจรจาสู้โควิด เดินหน้าพิชิตเป้าหมายห้ามอุดหนุนประมง


สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบเป็นวงกว้างทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และการใช้ชีวิตประจำวันของผู้คนทั่วโลก โดยหลายประเทศในทวีปยุโรปที่ขณะนี้เป็นศูนย์กลางของการแพร่กระจายของโรคได้ออกมาตรการปิดพรมแดน ปิดเมือง ปิดประเทศ เพื่อสกัดกั้นการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 รวมไปถึงสวิตเซอร์แลนด์ที่ได้ประกาศ “สถานการณ์พิเศษขั้นสูงสุด” (Extraordinary Situation) ให้ประชาชน “อยู่บ้าน” (stay at home) และเดินทางออกจากที่พักอาศัยเฉพาะเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

สถานการณ์ที่รุนแรงส่งผลให้องค์การค้าโลก (WTO) ที่มีสำนักงานตั้งอยู่ที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ต้องแจ้งระงับการจัดประชุมทุกระดับไปจนถึงสิ้นเดือนเมษายน 2563 ซึ่งนับเป็นเหตุการณ์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนและกระทบต่อการดำเนินงานในความรับผิดชอบของ WTO ทั้งหมด นอกจากนี้ การประกาศให้โควิด-19 เป็น “การระบาดใหญ่” ระดับโลก (Pandemic) ขององค์การอนามัยโลก ยังส่งผลให้ WTO จำเป็นต้องเลื่อนการประชุมระดับรัฐมนตรี WTO ครั้งที่ 12 (MC12) ที่จะจัดขึ้นในเดือนมิถุนายน 2563 ณ กรุงนูร์-ซุลตัน ประเทศคาซัคสถาน ออกไปเพื่อรอดูสถานการณ์ ซึ่ง MC12 นับเป็นการประชุมระดับสูงสุดของ WTO และเป็นเส้นตายที่สมาชิกทั้ง 164 ราย ต้องสรุปผลการเจรจาจัดทำความตกลงห้ามอุดหนุนประมง (Fisheries Subsidies) ให้แล้วเสร็จ

อย่างไรก็ดี แม้การประชุม MC12 ต้องเลื่อนออกไป แต่การทำงานของ WTO ก็ไม่สามารถหยุดชะงักตามไปได้ โดยเฉพาะการเจรจาจัดทำข้อตกลงเพื่อห้ามอุดหนุนประมงที่เป็นอันตรายตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals) ข้อ 14.6 ให้สัมฤทธิ์ผล ก่อนที่ทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลที่อยู่ในสภาวะวิกฤตจะไม่เหลือให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์อีกต่อไป ดังนั้น ในช่วงเวลาที่คนส่วนใหญ่ต้องปฏิบัติงานจากที่บ้านและหลีกเลี่ยงการเดินทางนั้น ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อรองรับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) จึงถูกนำมาใช้แทนที่การทำงานรูปแบบปกติของ WTO ที่เดิมคนจำนวนมากต้องมาอยู่รวมกันในห้องเจรจา ซึ่ง WTO จะนำร่องโดยให้สมาชิก 164 ราย แจ้งข้อคิดเห็นการจัดทำความตกลงห้ามอุดหนุนประมงผ่านทางไปรษณีย์อิเล็กทรอนิกส์ โดยสำนักเลขาธิการ WTO จะเป็นคนกลางในการรวบรวมและเวียนความเห็นให้สมาชิกทั้งหมดรับทราบและมีโอกาสโต้ตอบกันเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งการทำงานในช่องทางดังกล่าวจะเริ่มต้นขึ้นตั้งแต่สัปดาห์นี้ นอกจากนี้ WTO อยู่ระหว่างเร่งพัฒนาระบบการประชุมเสมือน (Virtual Meeting) เพื่อเชื่อมต่อให้สมาชิกทั่วโลกสามารถเข้าร่วมประชุมดิจิทัลแบบเห็นหน้าและเจรจาโต้ตอบได้เสมือนจริง รวมไปถึงการให้บริการล่ามแปลสดทั้ง 3 ภาษาทางการของ WTO (อังกฤษ สเปน ฝรั่งเศส) ซึ่งหากสำเร็จ ระบบดังกล่าวไม่เพียงแต่จะเป็นตัวกลางสำคัญในการขับเคลื่อนการเจรจาอุดหนุนประมงให้มีความคืบหน้าในช่วงสถานการณ์ที่ไม่ปกติเท่านั้น แต่จะช่วยอำนวยความสะดวกในระยะยาวโดยเปิดโอกาสให้สมาชิก WTO ทั่วโลกสามารถเข้าร่วมประชุมผ่านทางดิจิทัลเพื่อประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายในการเดินทางอีกด้วย

ความสำเร็จของการจัดทำความตกลงห้ามอุดหนุนประมงนับเป็นตัวชี้วัดสำคัญถึงบทบาทและความน่าเชื่อถือของ WTO ในเวทีการค้าโลกยุคปัจจุบัน โดยประธานการเจรจาอุดหนุนประมง (เอกอัครราชทูตประเทศโคลอมเบีย) อยู่ระหว่างรวบรวมความเห็นสมาชิก WTO เพื่อยกร่างความตกลง (Single Consolidated Text) ที่ครอบคลุมกฎเกณฑ์การห้ามอุดหนุนประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing: IUU Fishing) การห้ามอุดหนุนประมงที่เกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำ (Overfished) และการห้ามอุดหนุนประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด (Overcapacity and Overfishing) นอกจากนี้ ร่างความตกลงที่ประธานจัดทำขึ้นจะครอบคลุมถึงการปฏิบัติที่เป็นพิเศษและแตกต่าง (Special and Differential Treatment) สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด ซึ่งจะได้รับความยืดหยุ่นหรือความช่วยเหลือในการปฏิบัติตามความตกลงดังกล่าวเป็นกรณีพิเศษด้วย ทั้งนี้ ทันทีที่ประธานจัดทำร่างแล้วเสร็จ สมาชิก WTO ก็จะเข้าสู่กระบวนการเจรจาเนื้อหาเป็นรายข้อบท ซึ่งจะเป็นขั้นตอนที่ต้องเร่งดำเนินการอย่างเข้มข้นเพื่อสรุปผลความตกลงที่จะช่วยรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำในท้องทะเลให้ได้โดยเร็ว

ขอบคุณรูปภาพจาก Pixabay

กมลทิพย์ พสุนธรากาญจน์ จะนู

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก

และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

23 มีนาคม 2563

84 views
bottom of page