top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

WTO กำหนดจัดประชุมระดับรัฐมนตรี หวังสร้างแรงผลักดันเร่งสรุปผลการเจรจาห้ามอุดหนุนประมง



องค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) กำหนดจัดประชุมระดับรัฐมนตรีในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ โดยหวังสร้างแรงผลักดันทางการเมืองที่จะทำให้การเจรจาเดินหน้าและนำไปสู่การสรุปผลการเจรจาได้ในที่สุด ซึ่งในช่วงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา ประเทศสมาชิกได้หารือร่วมกันอย่างขะมักเขม้นโดยใช้ร่างเอกสารฉบับใหม่ที่ประธานกลุ่มเจรจาด้านกฎเกณฑ์ทางการค้าเรื่องการอุดหนุนประมง (เอกอัครราชทูตซานติเอโก วิลล์ ผู้แทนถาวรประจำ WTO จากโคลอมเบีย) นำเสนอเมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา เป็นพื้นฐานในการเจรจา โดยในร่างเอกสารฉบับนี้ ประธานวิลล์ยังได้เสนอแนวทางออกที่คาดว่าจะช่วยเชื่อมท่าทีของประเทศสมาชิก ที่ปัจจุบันยังมีความแตกต่างกันอยู่มากในบางประเด็นอีกด้วย ในการนี้ ผู้อำนวยการใหญ่ WTO นางเอ็นโกซี โอคอนโจ-อิเวียลา ได้ขอให้ประเทศสมาชิกแสดงความยืดหยุ่นและเร่งหาข้อสรุปร่วมกันอย่างประนีประนอมเพื่อทำให้บรรลุความสำเร็จสรุปผลการเจรจาได้โดยเร็ว อย่างไรก็ดี ยังคงเน้นย้ำถึงความสำคัญของการเจรจาที่มีผลลัพธ์อย่างมีความหมายและสอดคล้องกับเป้าหมายในการหยุดยั้งการอุดหนุนประมงที่สร้างความเสียหายต่อทรัพยากรสัตว์น้ำ เพื่อรักษาความยั่งยืนของมหาสมุทรโลก ตลอดจนปกป้องความเป็นอยู่ของกลุ่มชุนชนชาวประมงที่ยังชีพโดยการจับสัตว์น้ำและความมั่นคงทางด้านอาหารของประชากรโลกจำนวนมากที่พึ่งพิงอาหารจากทะเล อีกด้วย


ล่าสุด เมื่อวันที่ ๓๐ มิถุนายน ๒๕๖๔ ประธานวิลล์ได้นำเสนอร่างเอกสารฉบับปรับปรุงซึ่งพิจารณาจากผลการหารือและข้อเสนอแนะของประเทศสมาชิกในช่วงที่ผ่านมา โดยประธานวิลล์และผู้อำนวยการ WTO เอ็นโกซี ได้ชี้แจงว่า ร่างเอกสารฉบับนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อสะท้อนผลการเจรจาทั้งหมดและการปรับปรุงแก้ไขใด ๆ เป็นไปเพื่อชี้ให้ประเทศสมาชิกเห็นถึงช่องทางการหาข้อสรุปร่วมกันที่จำเป็นต่อการนำไปสู่ความสำเร็จในการสรุปผลการเจรจาในเรื่องนี้ ทั้งนี้ ร่างเอกสารฉบับปรังปรุงยังคงโครงสร้างและเนื้อหาสาระสำคัญส่วนใหญ่ของร่างเอกสารฉบับเมื่อเดือนพฤษภาคมไว้ โดยครอบคลุมกฎเกณฑ์การห้ามให้การอุดหนุนสำหรับการทำประมงประเภทต่าง ๆ ได้แก่ การทำประมงผิดกฎหมาย การทำประมงที่ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unreported and unregulated fishing : IUU) การทำประมงเกินศักยภาพและเกินขนาด (Overcapacity and Overfishing) ซึ่งแม้ประเทศสมาชิกต่างเห็นพ้องว่าการทำประมงเหล่านี้เป็นการทำประมงที่ไม่ยั่งยืนและเป็นต้นเหตุสำคัญที่นำไปสู่การขาดแคลนทรัพยากรสัตว์น้ำ แต่ประเทศสมาชิกยังคงไม่สามารถหาข้อสรุปร่วมกันได้เกี่ยวกับแนวทางการจัดทำกฎเกณฑ์การห้ามให้การอุดหนุนสำหรับการทำประมงเหล่านี้ในรายละเอียดต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่นประเทศสมาชิกยังคงโต้แย้งระหว่างกันว่า ประเทศสมาชิกผู้อุดหนุนจำเป็นต้องยกเลิกการอุดหนุนเมื่อประเทศสมาชิกอื่นตัดสินว่ามีการทำประมง IUU โดยทันทีหรือยังคงมีดุลยพินิจได้ในระดับหนึ่งหรือไม่ หรือในส่วนของการทำประมงเกินศักยภาพและเกินขนาด ประเทศสมาชิกมีการถกเถียงกันเป็นอย่างมากถึงแนวทางการให้ความยืดหยุ่นแก่ประเทศสมาชิกที่สามารถแสดงให้เห็นได้ว่ามีการดำเนินมาตรการที่รักษาทรัพยากรสัตว์น้ำในระดับที่ยั่งยืน โดยประเทศสมาชิกบางรายเห็นว่า ข้อยืดหยุ่นนี้เปิดช่องให้ประเทศสมาชิกผู้อุดหนุนรายใหญ่ยังคงให้การอุดหนุนแก่เรือประมงเช่นเดิมต่อไปได้โดยง่าย ในขณะเดียวกัน กลับเป็นการยากสำหรับประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาบางรายที่จะใช้ความยืดหยุ่นนี้เนื่องจากไม่มีศักยภาพเพียงพอที่จะดำเนินมาตรการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำตามที่กำหนดไว้


การจัดทำกฎเกณฑ์การห้ามให้การอุดหนุนในร่างเอกสารฉบับนี้ยังครอบคลุมไปถึงการทำประมงในกลุ่มสัตว์น้ำที่อยู่ในสถานะถูกจับมากเกินขนาด (Overfished Stock) ด้วย โดยแม้ประเทศสมาชิกต่างเห็นพ้องในหลักการว่า กลุ่มสัตว์น้ำเหล่านี้อยู่ในสภาวะที่แย่ที่สุดและจำเป็นต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ แต่ประเทศสมาชิกยังคงถกเถียงกันถึงความจำเป็นที่จะต้องมีกฎเกณฑ์การห้ามให้การอุดหนุนสำหรับการทำประมงประเภทดังกล่าวเป็นการเฉพาะ โดยประเทศสมาชิกบางรายเห็นว่า กฎเกณฑ์การห้ามให้การอุดหนุนสำหรับการประมงเกินศักยภาพและเกินขนาดได้ครอบคลุมประเด็นที่เกี่ยวกับการทำประมงดังกล่าวด้วยแล้ว นอกจากนี้ ประเทศสมาชิกยังให้ความสำคัญเกี่ยวกับการกำหนดนแนวทางการให้สิทธิการปฏิบัติเป็นพิเศษแก่ประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุด (Special and Differential Treatment : SDT) โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับประมงพื้นบ้าน ซึ่งประเทศสมาชิกกลุ่มหนึ่งสนับสนุนให้ยกเว้นประมงพื้นบ้านออกจากกฎเกณฑ์ห้ามการให้การอุดหนุนุเป็นการถาวร ขณะที่ประเทศสมาชิกอีกกลุ่มไม่เห็นด้วยที่จะให้มีการยกเว้นใด ๆ ซึ่งรวมถึงประมงพื้นบ้าน โดยเฉพาะในส่วนของการห้ามให้การอุดหนุนการทำประมง IUU และการทำประมงในกลุ่มสัตว์น้ำที่อยู่ในสถานะถูกจับมากเกินขนาด ดังนั้น ในร่างเอกสารฉบับปรังปรุง ประธานวิลล์ได้เสนอปรับแก้ไขจากเดิมที่ระบุให้ยกเว้นประมงพื้นบ้านออกจากกฎเกณฑ์การห้ามให้การอุดหนุนเป็นการละเว้นไม่ให้ประเทศสมาชิกดำเนินคดีฟ้องร้อง (peace clause) ได้เป็นระยะเวลา ๒ ปีภายหลังที่ความตกลงมีผลบังคับใช้แทนสำหรับการห้ามให้การอุดหนุนสำหรับการทำประมง IUU และการทำประมงในกลุ่มสัตว์น้ำที่อยู่ในสถานะถูกจับมากเกินขนาด ในขณะเดียวกัน ประธานวิลล์ยังคงกำหนดให้ยกเว้นประมงพื้นบ้านออกจากกฎเกณฑ์การห้ามให้การอุดหนุนสำหรับการทำประมงเกินศักยภาพและการทำประมงเกินขนาด แต่ได้ตัดเงื่อนไขระยะเวลาการยกเว้นออก


ดังนั้น หากพิจารณาสถานะการเจรจาห้ามอุดหนุนประมงในขณะนี้ตามที่ได้ยกตัวอย่างในข้างต้น จะเห็นได้ว่า การสรุปผลเจรจาห้ามอุดหนุนประมงยังมีความท้าทายอีกมากจากการที่ประเทศสมาชิกยังคงมีความเห็นและท่าทีที่แตกกต่างกัน ซึ่งหากจะบรรลุเป้าหมายจัดทำความตกลงห้ามการอุดหนุนประมงได้นั้น ประเทศสมาชิกจำเป็นต้องแสดงความยืดหยุ่นและเร่งหาข้อสรุปร่วมกันอย่างประนีประนอม ในการนี้ การประชุมระดับรัฐมนตรีที่จะจัดขึ้นในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๖๔ จึงเป็นที่จับตามองและคาดหวังเป็นอย่างมากว่าจะช่วยสร้างแรงผลักดันทำให้การเจรจาเดินหน้าและสามารถบรรลุข้อตกลงห้ามการอุดหนุนประมงนี้ได้โดยเร็ว เพื่อให้สามารถเป็นส่วนหนึ่งของผลลัพธ์การประชุมรัฐมนตรี WTO (Ministerial Conference: MC) ครั้งที่ ๑๒ ที่จะจัดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ (ระหว่างวันที่ ๓๐ พฤศจิกายน - ๒ ธันวาคม ๒๕๖๔) โดยประธานวิลล์และผู้อำนวยการ WTO ใหญ่ นางเอ็นโกซี หวังว่า ร่างเอกสารฉบับปรับปรุงนี้จะช่วยทำให้รัฐมนตรีสามารถมีส่วนร่วมในการประชุมวันที่ ๑๕ กรกฎาคมได้อย่างเป็นรูปธรรมและมอบแนวทางการดำเนินการในระดับนโยบายที่จำเป็นต่อการเดินหน้าการเจรจาต่อไปได้


ทั้งนี้ การเจรจาจัดทำกฎกติการะหว่างประเทศด้านการอุดหนุนประมงในเวที WTO เริ่มขึ้นตั้งแต่การเจรจาการค้าโลกรอบโดฮาเมื่อปี ๒๕๔๔ โดยกำหนดให้ประเทศสมาชิกมุ่งปรับปรุงกฎเกณฑ์ WTO เกี่ยวกับการอุดหนุนประมงโดยคำนึงถึงความสำคัญของภาคส่วนนี้ต่อประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาด้วย และต่อมา ผู้นำโลกได้ตกลงเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนแห่งสหประชาชาติ (Sustainable Development Goal: SDG) ข้อ ๑๔.๖ เมื่อปี ๒๕๕๘ ซึ่งห้ามให้การอุดหนุนการทำประมง IUU และการทำประมงที่นำไปสู่การจับสัตว์น้ำเกินศักยภาพและประมงเกินขนาด รวมทั้งระบุการปฏิบัติเป็นพิเศษสำหรับประเทศสมาชิกกำลังพัฒนาและพัฒนาน้อยที่สุดให้เป็นส่วนหนึ่งของการเจรจาห้ามอุดหนุนการทำประมงภายใต้ WTO ด้วย และเมื่อปี ๒๕๖๐ ที่ประชุม MC ครั้งที่ ๑๑ ได้กำหนดให้ WTO เจรจาจัดทำความตกลงในเรื่องนี้ต่อไป โดยทั้งเป้าหมาย SDG ข้อ ๑๔.๖ และมติ MC ครั้งที่ ๑๑ ต่างตั้งเป้าที่จะสรุปผลการเจรจาให้ได้ภายในปี ๒๕๖๓ อย่างไรก็ดี จนถึงปัจจุบัน ประเทศสมาชิกยังไม่สามารถสรุปผลการเจรจาร่วมกันได้ ดังนั้น การเจรจาห้ามอุดหนุนประมงในครั้งนี้ซึ่งเหลือไม่อีกกี่เดือนก่อนการประชุม MC ครั้งที่ ๑๒ จึงได้รับความมุ่งหวังเป็นอย่างมากที่จะมีข้อสรุปได้โดยเร็วเพื่อแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของ WTO ในการมีผลลัพธ์ออกมาได้อย่างเป็นรูปธรรม การเจรจาในช่วงนี้จึงเป็นเรื่องที่น่าติดตามอย่างใกล้ชิดว่าจะเป็นไปในทิศทางใด


อ้างอิง

1. WTO | 2021 News items - Fishing subsidies negotiations chair introduces new text in run-up to July ministerial, https://www.wto.org/english/news_e/news21_e/fish_11may21_e.htm

4. WTO | 2021 News items - WTO members urged to hasten towards fisheries subsidies compromise in stocktaking meeting, https://www.wto.org/english/news_e/news21_e/fish_14jun21_e.htm

5. Fisheries Subsidies Draft Consolidated Chair Text (TN/RL/W/276 as of 11 May 2021), https://docs.wto.org/dol2fe/Pages/SS/directdoc.aspx?filename=q:/TN/RL/W276.pdf&Open=True

6. Chair’s Explanatory Note accompanying Chair Text (TN/RL/W/276/Add.1 as of 11 May 2021), https://docs.wto.org/dol2fe/Pages/SS/directdoc.aspx?filename=q:/TN/RL/W276A1.pdf&Open=True

7. Revised Draft Consolidated Chair Text (TN/RL/W/27/Rev.1 as of 30 June 2021), https://docs.wto.org/dol2fe/Pages/SS/directdoc.aspx?filename=q:/TN/RL/W276R1.pdf&Open=True

8. Chair’s Explanatory Note accompanying Revised Draft Consolidated Chair Text (TN/RL/W/276/Rev.1/Add. 1 as of 30 June 2021), https://docs.wto.org/dol2fe/Pages/SS/directdoc.aspx?filename=q:/TN/RL/W276R1A1.pdf&Open=True

106 views0 comments
bottom of page