top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

เครื่องหมายการค้า (TRADEMARK) สิทธิที่เจ้าของธุรกิจควรรู้


เครื่องหมายการค้า คืออะไร ทำไมถึงต้องมีการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ถ้ายื่นจดทะเบียนแล้วจะมีผลดีกับธุรกิจอย่างไร คำถามเหล่านี้มักจะเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการหน้าใหม่ที่กำลังเริ่มคิดจะทำธุรกิจ


เครื่องหมายการค้า (TRADEMARK) เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง หมายถึง เครื่องหมาย หรือสัญลักษณ์ หรือตราที่ใช้กับสินค้าหรือบริการ เพื่อแสดงว่าสินค้าหรือบริการที่ใช้กับเครื่องหมายการค้านั้นแตกต่างกับสินค้าหรือบริการที่ใช้เครื่องหมายการค้าของบุคคลอื่น


เครื่องหมายการค้าจึงมีบทบาทสำคัญในกลยุทธ์การสร้างแบรนด์และการตลาด โดยมีส่วนทำให้ผู้บริโภคจดจำภาพลักษณ์และผลิตภัณฑ์ของบริษัท ตลอดจนสร้างความไว้วางใจและความภักดีของลูกค้า ตลอดจนสร้างเสริม ความนิยมที่มีต่อบริษัทด้วย เนื่องจากผู้บริโภคมักสร้างและพัฒนาความผูกพันกับเครื่องหมายการค้าบางอย่าง นอกจากนี้เครื่องหมายการค้ายังเป็นแรงจูงใจให้บริษัทลงทุนในการรักษาคุณภาพของสินค้าหรือบริการเพื่อให้มั่นใจว่าเครื่องหมายการค้ามีชื่อเสียงในทางบวกอย่างยั่งยืน


คุณค่าของเครื่องหมายการค้า

เครื่องหมายการค้าที่ผ่านการคัดเลือกมาอย่างดีและได้รับการดูแลถือเป็นทรัพย์สินทางธุรกิจที่มีค่า และสำหรับบางบริษัท อาทิ Coca-Cola หรือ IBM อาจเป็นทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดเลยทีเดียว เนื่องจากผู้บริโภคให้ความสำคัญกับเครื่องหมายการค้า ชื่อเสียง ภาพลักษณ์ และยินดีจ่ายเพิ่มสำหรับสินค้าหรือบริการที่มีเครื่องหมายการค้าที่ตนรู้จักและตรงตามความคาดหวัง ดังนั้น การเป็นเจ้าของเครื่องหมายการค้าที่มีภาพลักษณ์และชื่อเสียงที่ดีจึงช่วยสร้าง ความได้เปรียบในการแข่งขันให้กับบริษัทได้


ด้วยเหตุผลข้างต้น ผู้ประกอบการส่วนใหญ่จึงตระหนักถึงความสำคัญของการจดทะเบียนและใช้เครื่องหมายการค้าในการสร้างความแตกต่างให้แก่สินค้าหรือบริการ ทำให้ตนมีสิทธิที่จะใช้เครื่องหมายการค้านั้นแต่เพียงผู้เดียวตามที่ได้จดทะเบียนไว้ ทั้งนี้ เจ้าของเครื่องหมายการค้าที่ได้จดทะเบียนอาจทำสัญญาอนุญาตให้บุคคลอื่นใช้เครื่องหมายการค้าของตนได้ เพื่อเป็นแหล่งรายได้เพิ่มเติม โดยอาจทำในรูปข้อตกลงแฟรนไชส์ อีกทั้งเครื่องหมายการค้ายังเป็นทรัพย์สินทางปัญญาที่นำมาใช้เป็นหลักประกันการชำระหนี้ได้ด้วย


นอกจากนี้ เครื่องหมายการค้ายังเป็นเครื่องมือสำคัญในการค้าระหว่างประเทศ เจ้าของเครื่องหมายการค้าจึงจำเป็นต้องจดทะเบียนขอรับความคุ้มครองสิทธิในประเทศต่าง ๆ ก่อนส่งออกสินค้าไปจำหน่าย เพื่อป้องกันปัญหา การละเมิดเครื่องหมายการค้า หรือมิให้ผู้ประกอบการรายอื่นนำเครื่องหมายการค้าไปจดทะเบียนในต่างประเทศโดยไม่ใช่เจ้าของแท้จริง โดยปัจจุบัน ประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีพิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol) ตั้งแต่ปี 2560 ทำให้ผู้ประกอบการไทยสามารถยื่นคำขอจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อรับความคุ้มครองในประเทศต่าง ๆ โดยยื่นคำขอจดทะเบียนต่อสำนักงานเดียวในครั้งเดียว ด้วยภาษาเดียว (อังกฤษ ฝรั่งเศส หรือสเปน) รวมทั้งเสีย ค่าธรรมเนียมเพียงครั้งเดียว


ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาของไทยให้บริการแนะนำแนวทางการจดทะเบียนในประเทศไทย และขยายการคุ้มครองไปต่างประเทศภายใต้พิธีสารกรุงมาดริด (Madrid Protocol) ที่ครอบคลุมเครือข่ายใน 126 ประเทศ ครอบคลุมการค้าคิดเป็นสัดส่วนมากกว่า 80% ของการค้าทั่วโลก (ข้อมูล ณ เดือน กุมภาพันธ์ 2564 จาก องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก)


นอกจากนี้ เครื่องหมายทางการค้ายังหนึ่งในทรัพย์สินทางปัญญาที่อยู่ภายใต้ขอบเขตของความตกลงว่าด้วยสิทธิในทางทรัพย์สินทางปัญญาเกี่ยวกับการค้า (Agreement on Trade-Related Aspects of Intellectual Property Rights หรือความตกลง TRIPS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) และเป็นความตกลงระหว่างประเทศที่มีวัตถุประสงค์เพื่อกําหนดกฏเกณฑ์ระหว่างประเทศสําหรับการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา โดยกําหนดระดับของการคุ้มครองขั้นพื้นฐานที่รัฐบาลของประเทศสมาชิก WTO จะต้องให้ความคุ้มครองต่อทรัพย์สินทางปัญญา โดยคํานึงถึงความสมดุลระหว่างผลประโยชน์ที่จะเกิดกับสังคมทั้งในระยะยาวและระยะสั้น รวมถึงระบุหลักการสําคัญว่าการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาควรจะสนับสนุน การสร้างนวัตกรรม และการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้เกิดประโยชน์กับทั้งผู้ผลิตและผู้ใช้รวมถึงเศรษฐกิจและสังคมด้วย


อ้างอิง:

19,921 views0 comments

Comments


bottom of page