เคยสงสัยไหมว่า อะไรคือ ชาดาร์จีลิง พาม่าแฮม หรือ นาฬิกาสวิส ทำไมเราต้องพูดถึงสิ่งเหล่านี้ โดยมีแหล่งสถานที่ประกอบไปพร้อมกับสิ่งของ ก็เพราะสิ่งเหล่านี้มีเอกลักษณ์และคุณค่าในตัวของมันเอง ไม่ว่าจะเป็น รสชาติ คุณภาพ ความสวยงาม และชื่อเสียง ซึ่งล้วนเชื่อมโยงกับ ‘สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์’ (Geographical Indications หรือ GI) อันเป็นมรดกตกทอดจากรุ่นสู่รุ่น ถูกสรรค์สร้าง หรือผลิตขึ้นท่ามกลางสิ่งแวดล้อมจำเพาะในแหล่งกำเนิดเฉพาะที่ใดที่หนึ่ง ซึ่งในทางกฎหมายแล้ว สิ่งเหล่านี้จะได้รับความคุ้มครองในการเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์
โดยองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO ได้มีการทำให้การคุ้มครองสิ่งเหล่านี้ง่ายขึ้นในฐานะ
หนึ่งในทรัพย์สินทางปัญญาภายใต้ความตกลงกรุงลิสบอน (Lisbon System) ซึ่งไม่เพียงแต่จะเป็นผลดีต่อเจ้าของสินค้าเอง แต่รวมไปถึงเกษตรกรรายย่อย ชาวบ้านชุมชนในท้องถิ่นนั้น ๆ ช่างฝีมือ เจ้าของธุรกิจ หรือแม้แต่ผู้บริโภคเองก็จะได้สินค้าที่มีคุณภาพ ดั้งเดิม และสามารถตรวจสอบสินค้าย้อนกลับได้ เนื่องจากข้อดีของการเป็นสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ ส่งผลดีต่อทั้งเกษตรกร ผู้ผลิต และผู้บริโภค เราจึงควรรู้จักสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือ GI ให้มากขึ้น เพราะอาจสร้างโอกาสทางธุรกิจ หรือต่อยอดให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจได้
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์คืออะไร
สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication: GI) คือ ชื่อหรือสัญลักษณ์ที่ใช้เรียกสินค้า
ที่มาจากแหล่งผลิตที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งคุณภาพหรือชื่อเสียงของสินค้านั้น ๆ เป็นผลมาจากการผลิตในพื้นที่ดังกล่าว GI จึงเปรียบเสมือนเป็นสัญลักษณ์ของท้องถิ่นที่บ่งบอกถึงคุณภาพและแหล่งที่มาของสินค้า ซึ่งองค์การทรัพย์สินทางปัญญาแห่งโลก หรือ WIPO กำหนดให้สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่ง
เป็นสิ่งที่ใช้กับผลิตภัณฑ์ที่มีแหล่งกำเนิดทางภูมิศาสตร์เฉพาะ และมีคุณสมบัติหรือชื่อเสียงที่เกิดจากแหล่งกำเนิดนั้น นอกจากนี้ยังเป็นสิ่งที่บ่งบอก คุณภาพ ลักษณะ หรือชื่อเสียงของผลิตภัณฑ์ตามแหล่งกำเนิด เนื่องจากคุณภาพ
ขึ้นอยู่กับสถานที่ผลิต จึงมีการเชื่อมโยงที่ชัดเจนระหว่างผลิตภัณฑ์กับสถานที่ต้นทางนั้น ๆ
ผลิตภัณฑ์ประเภทใดบ้างที่สามารถขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ได้
โดยทั่วไปแล้วสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์จะใช้สำหรับผลิตภัณฑ์ทางการเกษตร อาหาร ไวน์ เครื่องดื่ม
ที่มีแอลกอฮอล์งานฝีมือ และผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม
กฎหมายที่เกี่ยวข้อง เงื่อนไขในการคุ้มครอง และความแตกต่างจากทรัพย์สินทางปัญญาอื่น
สนธิสัญญาระหว่างประเทศจำนวนหนึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการคุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ หรือแหล่งกำเนิดบางส่วน หรือทั้งหมด อาทิ อนุสัญญากรุงปารีสว่าด้วยการคุ้มครองทรัพย์สินอุตสาหกรรม (Paris Convention for the Protection of Industrial Property) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า Paris Convention ความตกลงมาดริด (Madrid Agreement for the Repression of False or Deceptive Indications of Source on Goods) และ ความตกลงลิสบอน (Lisbon Agreement for the Protection of Appellation of Origin and Their International Registration) โดยเราสามารถค้นหาสนธิสัญญาที่เกี่ยวข้องภายใต้องค์การทรัพย์สินทางปัญหาโลก รวมถึงข้อตกลงอื่น ๆ ภายใต้องค์กรการค้าโลกว่าด้วยประเด็นที่เกี่ยวข้องกับข้อตกลงว่าด้วยสิทธิ
ในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) ซึ่งได้กำหนดมาตรฐานขั้นต่ำที่สมาชิกองค์การการค้าโลก
หรือ WTO ต้องให้ความคุ้มครองสินค้า GI ในระดับที่แตกต่างกัน
ทั้งนี้ มีสามวิธีหลักในการปกป้องสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์:
ระบบที่เรียกว่า sui generis (เช่น ระบบการป้องกันพิเศษ);
การใช้เครื่องหมายรวมหรือเครื่องหมายรับรอง และ
วิธีการที่เน้นการดำเนินธุรกิจ รวมถึงแผนการบริหารผลิตภัณฑ์
วิธีการปกป้องสิทธิ์ GI มีความแตกต่างกันตามขอบเขตของการคุ้มครองของลักษณะของ GI นั้น ๆ
อาทิ การคุ้มครองแบบพิเศษ หรือ การคุ้มครองภายใต้ระบบ sui generis ซึ่งเป็นการออกกฏหมายเฉพาะของแต่ละประเทศเพื่อใช้คุ้มครองสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ โดยมีการคุ้มครองที่พิเศษมากกว่าผลิตภัณฑ์อื่น ๆ เนื่องจากผลิตภัณฑ์นั้นมีความพิเศษในเรื่องของสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์มากกว่าผลิตภัณฑ์ทั่ว ๆ ไป การคุ้มครองนี้ถือเป็นการคุ้มครองขั้นสูงสุด ลำดับต่อไปของการคุ้มครองคือ การคุ้มครองตามระบบเครื่องหมายรวม ซึ่งขึ้นอยู่กับการตั้งค่าสิทธิ์
สำหรับการใช้งานร่วมกันตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยทั่วไปจะมีการคุ้มครองการใช้เครื่องหมายรวม หรือเครื่องหมายรับรองเพราะถือเป็นสินค้าของชุมชนหรือพื้นที่นั้น ๆ โดยเฉพาะ นอกจากนี้
ยังมีการคุ้มครองเฉพาะสำหรับสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์บางประเภท โดยเน้นไปในการคุ้มครองด้านวิธีการที่เน้น
การดำเนินธุรกิจ รวมถึงแผนการบริหารผลิตภัณฑ์ เช่น วอชิงตันแอปเปิ้ล ที่ได้รับการดูแลโดยคณะกรรมการวอชิงตันแอปเปิ้ล เป็นต้น
อย่างไรก็ตามสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์โดยทั่วไปได้รับการคุ้มครองในประเทศต่าง ๆ และตามระบบ และ ระดับผ่านแนวทางที่หลากหลาย และมักใช้วิธีการสองวิธีหรือมากกว่าเพื่อคุ้มครองร่วมกัน วิธีการเหล่านี้ได้รับการพัฒนา
ให้สอดคล้องภายใต้กฎหมายที่แตกต่างกัน และเงื่อนไขทางประวัติศาสตร์และเศรษฐกิจที่แตกต่างกัน
การจดทะเบียนคุ้มครอง GI ภายใต้ความตกลงกรุงลิสบอน (Lisbon System)
ความตกลงกรุงลิสบอนเป็นช่องทางในการขอรับการคุ้มครอง GI ในหลายประเทศ ซึ่งสามารถทำได้โดยยื่นคำขอหนึ่งฉบับต่อสำนักงานระหว่างประเทศของ WIPO ในภาษาเดียว โดยมีค่าธรรมเนียมครั้งเดียว และใช้เงินสกุลเดียว
ประโยชน์ของ GI กับธุรกิจ
GI เป็นทรัพย์สินทางปัญญาประเภทหนึ่งที่จะคุ้มครองชื่อสินค้าให้เป็นสิทธิของชุมชน ส่งผลให้สามารถใช้เป็นส่วนหนึ่งในอุปกรณ์ทางการตลาดมที่สามารถยืนยันได้ถึงคุณภาพสินค้า และคุ้มครองไม่ให้พื้นที่อื่นนำชื่อไปใช้
โดยข้อมูลอ้างอิงจากกรมทรพัย์สินทางปัญญาของไทย ณ เดือน เมษายน 2564 มีสินค้าไทยได้รับการยอมรับจากต่างประเทศ และขึ้นทะเบียนในต่างประเทศแล้ว 6 สินค้า รวม 5 ประเทศ ได้แก่ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ กาแฟดอยตุง กาแฟดอยช้าง และข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ที่สหภาพยุโรป, เส้นไหมไทยพื้นบ้านอีสาน ที่เวียดนาม, กาแฟดอยตุง ที่กัมพูชา, ผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่อินโดนีเซีย และผ้าไหมยกดอกลำพูน ที่อินเดีย โดยสินค้าสิ่งบ่งชี้
ทางภูมิศาสตร์ของไทยที่ได้ขึ้นทะเบียนในประเทศไทยแล้ว มีทั้งสิ้น 137 รายการ ใน 76 จังหวัด
ซึ่งกรมทรัพย์สินทางปัญญา ประเมินว่าสินค้า GI เหล่านี้สามารถสร้างมูลค่าการตลาดให้สินค้าท้องถิ่นรวมมูลค่ากว่า 5 พันล้านบาท
ดังนั้นประโยชน์ของ GI หรือสินค้าที่มีศักยภาพ และเชื่อว่าจะนำมาต่อยอดสร้างมูลค่าทางธุรกิจ
รวมทั้งเศรษฐกิจชุมชนและท้องถิ่นได้อีกด้วย
แหล่งที่มาอ้างอิง:
Komentarze