top of page

ไทยลงนามความตกลงจัดสรรโควตาภาษี (TRQ) หลัง Brexit กับสหภาพยุโรป

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

เมื่อวันที่ 7 พฤษภาคม 2564 นางพิมพ์ชนก พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก เป็นผู้แทนรัฐบาลไทยลงนามความตกลงระหว่างไทยกับสหภาพยุโรปเกี่ยวกับการจัดสรรปริมาณสินค้าที่มีโควตาภาษีของสหภาพยุโรปภายใต้องค์การการค้าโลก (WTO) ที่เป็นผลการเจรจารองรับการออกจากสหภาพฯ ของสหราชอาณาจักร * (หรือ Brexit) ณ กรุงบรัสเซลส์ ราชอาณาจักรเบลเยียม โดยฝ่ายสหภาพยุโรปมีนาย José Fernando Costa Pereira เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรโปรตุเกสประจำคณะกรรมาธิการการเมืองและความมั่นคง สำนักงานประธานคณะมนตรีแห่งสหภาพยุโรป เป็นผู้แทน และมีนายเสข วรรณเมธี เอกอัครราชทูตหัวหน้าคณะผู้แทนไทยประจำสหภาพยุโรป เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในครั้งนี้ด้วย

ออท. พิมพ์ชนก เปิดเผยว่า ภายหลังจากการถอนตัวของสหราชอาณาจักรออกจากสมาชิกภาพของสหภาพยุโรป หรือ “Brexit” ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2564 ส่งผลให้สหภาพยุโรปต้องแก้ไขตารางข้อผูกพันภาษีภายใต้ WTO รวมถึงตารางปริมาณโควตาของสินค้าโควตาภาษีที่ไทยได้รับจากสหภาพยุโรป 27 ประเทศ (โดยไม่รวมอังกฤษ) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นสินค้าเกษตรและประมง กระทรวงพาณิชย์โดยกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศเป็นหน่วยงานหลักในการเจรจากับทั้งสองประเทศพร้อมกันมาตั้งแต่ปี 2562 โดยเป้าหมายสำคัญคือ ให้สิทธิประโยชน์โดยรวมของผู้ส่งออกไทยไม่น้อยไปกว่าที่เคยได้รับก่อนหน้าที่จะมีการถอนตัวของอังกฤษ กล่าวคือปริมาณโควตาที่ไทยได้รับจากสหภาพฯ 27 ประเทศ รวมกับปริมาณโควตาที่ไทยได้รับจากอังกฤษ จะยังคงเท่ากับปริมาณโควตาของสินค้าโควตาภาษีเดิมที่ไทยเคยได้รับจากสหภาพยุโรป 28 ประเทศ

การเจรจาทั้งสองส่วนบรรลุความสำเร็จเมื่อเดือนกันยายน 2563 โดยไทยกับอังกฤษได้ลงนามย่อในหนังสือแลกเปลี่ยนไปแล้วตั้งแต่เดือนธันวาคม 2563 เพื่อให้ทันมีผลใช้บังคับในวันที่ 1 มกราคม 2564 อันเป็นวันที่อังกฤษออกจากสหภาพฯ อย่างเป็นทางการ ส่วนผลการเจรจากับสหภาพฯ เป็นเอกสารที่ลงนามในครั้งนี้ ซึ่งสหภาพฯ จะต้องไปดำเนินกระบวนการภายในก่อนที่จะมีหนังสือแจ้งไทยเพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับต่อไป คาดว่าจะเป็นประมาณเดือนมิถุนายน ศกนี้

“การลงนามความตกลง TRQ กับสหภาพยุโรปในวันนี้ เป็นการสรุปการแบ่งโควต้าภาษีสินค้าเกษตรและประมงของไทยที่ส่งออกไปอียูและอังกฤษ โดยไทยจะได้โควต้าเท่าเดิมในภาพรวม แต่ผู้ส่งออกจะต้องเช็คว่าโควต้าไปอียูเป็นจำนวนเท่าไหร่ ไปอังกฤษเป็นจำนวนเท่าไหร่ เช่น โควต้าไก่บางรายการอาจแบ่งไปให้อังกฤษมากกว่าอียู ส่วนโควต้าข้าวบางรายการอาจจะอยู่ที่อียูมากกว่าอังกฤษ เป็นต้น ส่วนอัตราภาษีจะยังเป็นอัตราเดิม ซึ่งเมื่อความตกลงมีผลใช้บังคับแล้วจะช่วยให้การส่งออกสินค้าไทยหลายรายการที่สำคัญไปทั้งสองประเทศเป็นไปได้อย่างราบรื่น โดยสินค้าในรายการที่ลงนามวันนี้ ส่วนใหญ่เป็นสินค้าข้าว สัตว์ปีก และสินค้าประมง โดยไทยยังคงรักษาสิทธิประโยชน์ที่เคยได้รับก่อนที่จะมี Brexit ได้ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งปริมาณโควตาเดิมที่สหภาพยุโรปจัดสรรให้ไทยเป็นการเฉพาะ (Country Specific Quota) อาทิ ข้าว มันสำปะหลัง ผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (เป็ดและไก่) และปลา ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าจากไทยภายใต้ปริมาณโควตานี้จะเสียภาษีในอัตราที่ต่ำ ส่วนรายการอื่น ๆ จะมีที่เป็นโควตารวมให้ทุกประเทศ (global quota) ซึ่งไทยต้องไปยื่นขอโควตาแข่งกับประเทศอื่นต่อไป โดยรายละเอียดปริมาณและอัตราภาษีสินค้าภายใต้โควตาภาษีที่มีการเจรจากันนั้น คผท. ได้รวบรวมไว้ในตารางให้เกษตรกรและผู้ส่งออกที่สนใจทุกท่านตรวจสอบเรียบร้อยแล้วค่ะ” ออท. พิมพ์ชนกกล่าว

ทั้งนี้ ผลการเจรจากับทั้งสหภาพฯ และอังกฤษในกรอบของ WTO นั้น เป็นการเจรจาเฉพาะการแบ่งปริมาณอย่างเดียว ไม่รวมการลดภาษี ซึ่งกระทรวงพาณิชย์โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์
นายจุรินทร์ ลักษณวิศิฏฐ์ มีนโยบายให้มีการเจรจาจัดทำความตกลง FTA ระหว่างไทย-สหภาพฯ และไทย-อังกฤษในเร็ว ๆ นี้ ซึ่งคงจะมีการเจรจาทั้งขอเพิ่มโควตาและลดภาษีสินค้าเกษตรและประมงต่อไป เพื่อให้เกษตรกรและผู้ส่งออกไทยได้รับประโยชน์จาก FTA ให้มากที่สุด

ในช่วงปี 2560 – 2563 การค้าระหว่างไทยและสหภาพยุโรปมีมูลค่าเฉลี่ย 1,400,178 ล้านบาทต่อปี โดยไทยนำเข้าจากสหภาพยุโรปเฉลี่ย 656,084 ล้านบาทต่อปี และส่งออกไปยังสหภาพยุโรปเฉลี่ย 744,094 ล้านบาทต่อปี โดยเป็นการส่งออกสินค้าโควตาภาษีมูลค่าเฉลี่ย 50,453 ล้านบาทต่อปี สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปยังสหภาพยุโรป อาทิ สินค้าผลิตภัณฑ์สัตว์ปีก (ไก่และเป็ด) ข้าว มันสำปะหลังและผลิตภัณฑ์ และปลาปรุงแต่ง เป็นต้น

* “Agreement between the Kingdom of Thailand and the European Union pursuant to Article XXVIII of the General Agreement on Tariffs and Trade (GATT) 1994 relating to the modification of concessions on all the tariff-rate quotas included in the EU Schedule CLXXV as a consequence of the United Kingdom’s withdrawal from the European Union”

ดูตารางสินค้าโควต้า UK-EU ภายหลัง Brexit
https://www.pmtw.moc.go.th/brexit

bottom of page