top of page

เอกอัครราชทูต คผท. พบหารือกับผู้อำนวยการใหญ่ของ WIPO เน้นร่วมมือส่งเสริมความเชื่อมโยงกับกลุ่ม SMEs กลุ่ม Start-ups และผู้ประกอบการรุ่นใหม่

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2564 นางพิมพ์ชนก วอนขอพร พิตต์ฟีลด์ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทย ประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ได้เข้าเยี่ยมคารวะนาย Daren Tang ผู้อำนวยการใหญ่องค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World Intellectual Property Organization: WIPO) เพื่อยื่นสาส์นตราตั้งจากรัฐบาลไทย

ในโอกาสดังกล่าว ทั้งสองฝ่ายได้หารือร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับแนวทางการดำเนินงานของ WIPO การส่งเสริมความร่วมมือระหว่างไทยกับ WIPO การสร้างความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการกลุ่ม SMEs กลุ่ม Start-ups และกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจรุ่นใหม่ รวมถึงการส่งเสริมให้ผู้ประกอบการในแต่ละสาขาให้สามารถใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินทางปัญญาในเชิงพาณิชย์ได้มากขึ้น

เอกอัครราชทูตฯ ได้แจ้งให้ผู้อำนวยการใหญ่ของ WIPO ทราบว่า ฝ่ายไทยยินดีสนับสนุนการดำเนินงานของ WIPO อย่างเต็มที่ โดยมองว่า ทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) มีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของโลกและของประเทศกำลังพัฒนา โดยที่ผ่านมา กระทรวงพาณิชย์ได้ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองและใช้ประโยชน์จากการขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) เพื่อเป็นเครื่องมือทางการตลาด และการส่งเสริมงานด้านการคุ้มครองลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรสำหรับกลุ่มธุรกิจ SMEs และ start-ups โดยได้มีการพัฒนา platform ในเรื่องดังกล่าว รวมถึงการให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักแก่สาธารณชนในเรื่องการใช้ประโยชน์จาก IP โดยเฉพาะการแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ในเรื่องการคุ้มครองลิขสิทธิ์และสิทธิบัตรสำหรับผู้ประกอบการในสาขาต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจ ที่จะต้องไปเปิดตลาดหรือทำธุรกิจในตลาดต่างประเทศด้วย

ขณะที่ผู้อำนวยการใหญ่ของ WIPO แจ้งว่า WIPO ให้ความสำคัญกับการเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ โดยเฉพาะจากประเทศกำลังพัฒนาให้สามารถใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิขย์จาก IP ซึ่งในท้ายที่สุดจะมีส่วนช่วยส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจในภาพรวม โดยที่ผ่านมา ในช่วงการจัดกิจกรรมวันทรัพย์สินทางปัญญาโลก (World IP Day) WIPO ได้กำหนดหัวข้อหลัก (theme) ของการจัดกิจกรรม ซึ่งเน้นให้กลุ่ม SMEs สามารถนำความรู้เกี่ยวกับ IP ไปเป็นเครื่องมือในการพัฒนาธุรกิจและการเข้าสู่ตลาดได้ นอกจากนี้ WIPO ยังให้ความสำคัญกับการปรับบทบาทขององค์กรให้มีความทันสมัยและสอดคล้องกับบริบทที่โครงสร้างเศรษฐกิจของโลกที่เปลี่ยนแปลง โดยเฉพาะการเน้นสร้างความเชื่อมโยงกับผู้ประกอบการ SMEs และผู้ประกอบการรุ่นใหม่ รวมถึงการส่งเสริมความร่วมมือในการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างประเทศด้วย

WIPO มองว่า ไทยเป็นประเทศที่มีศักยภาพในการคิดสร้างสรรค์นวัตกรรมในสาขาต่าง ๆ ทั้งจากภาครัฐและเอกชน และโดยที่โครงสร้างทางเศรษฐกิจของไทยประกอบด้วยกลุ่มธุรกิจ SMEs จำนวนมาก จึงเห็นว่า ผู้ประกอบการ SMEs จำเป็นที่จะต้องได้รับการส่งเสริมให้ได้รับความรู้ด้านการพัฒนาตราสินค้า การคุ้มครองเครื่องหมายการค้า ลิขสิทธิ์ งานออกแบบ และการขึ้นทะเบียน GI ทั้งนี้ WIPO มีโครงการการฝีกอบรม (training) ระยะสั้นสำหรับผู้ประกอบการจากประเทศสมาชิก รวมทั้งไทย ซึ่งเปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการที่สนใจสามารถเข้าร่วมกิจกรรมการฝึกอบรมดังกล่าวได้

อนึ่ง ความร่วมมือระหว่าง WIPO และไทยเป็นไปอย่างใกล้ชิด นับตั้งแต่ไทยได้เข้าร่วมเป็นประเทศสมาชิกของ WIPO ตั้งแต่ปี 2532 โดย WIPO ได้ให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและวิชาการในการพัฒนาระบบ IP และการเข้าเป็นภาคีความตกลงต่าง ๆ ของไทยมาโดยตลอด ทั้งนี้ คณะผู้แทนถาวรฯ จะได้ประสานกับทาง WIPO เพื่อติดตามกำหนดการจัดกิจกรรม การฝึกอบรมระยะสั้นของ WIPO ซึ่งเชื่อว่า จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาโอกาสทางธุรกิจและการสร้างองค์ความรู้แก่ผู้ประกอบการของไทย โดยจะประชาสัมพันธ์ให้กับผู้ประกอบการ และผู้ที่สนใจได้รับทราบต่อไป

bottom of page