top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

WTO และ UNCTAD รายงานแนวโน้มการค้าของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs)



Image from Freepik


ระหว่างการประชุม Sub-Committee on Least-Developed Countries ครั้งที่ ๙๘ ซึ่งจัดขึ้นที่องค์การการค้าโลก (WTO) เมื่อวันที่ ๒๕ มีนาคม ๒๕๖๗ สำนักเลขาธิการ WTO ได้รายงานสถานะล่าสุดเกี่ยวกับแนวโน้มการค้าของประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) จากรายงานของ WTO ซึ่งมีแนวโน้มการปรับตัวที่ดีขึ้น และผู้แทนของ UNCTAD ได้สรุปรายงานการเงินเพื่อการพัฒนาและความยืดหยุ่นในช่วงภาวะวิกฤติของประเทศ LDCs  ซึ่งยังคงเน้นถึงความต้องการด้านแหล่งเงินทุนสำหรับประเทศ LDCs


สำนักเลขาธิการ WTO ได้จัดทำรายงานเรื่อง Market Access for Products and Services of Export Interest to Least Developed Countries (เอกสาร WT/COMTD/LDC/W/71)  ซึ่งมีสาระสำคัญครอบคลุมแนวโน้มการค้า ทั้งสินค้าและบริการล่าสุดของประเทศ LDCs ข้อมูลเกี่ยวกับการเข้าถึงตลาดสำหรับผลิตภัณฑ์สินค้าจากประเทศ LDCs และโครงการให้สิทธิพิเศษทางการค้าแก่ประเทศ LDCs ของประเทศสมาชิก WTO ในช่วงปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕


จากข้อมูลในรายงานฯ มีการระบุถึงแนวโน้มการค้าที่สำคัญของประเทศ LDCs สรุปได้ดังนี้ 

(๑) ในช่วงปี ๒๕๖๑-๒๕๖๕ การส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ LDCs มีอัตราเฉลี่ยเพิ่มขึ้นร้อยละ ๗.๑ และในปี ๒๕๖๕ การส่งออกสินค้ามีอัตราเติบโตถึงร้อยละ ๑๗.๔ ขณะที่การส่งออกสินค้าบริการมีการเติบโตสูงถึงร้อยละ ๒๗

(๒) สัดส่วนของการส่งออกสินค้าและบริการของประเทศ LDCs ในบริบทการค้าโลกเพิ่มขึ้นจากร้อยละ ๐.๙๕ ในปี ๒๕๖๔ เป็นร้อยละ ๑.๐๒ ในปี ๒๕๖๖ ซึ่งสัดส่วนที่สูงที่สุดเท่าที่เคยได้จัดทำรายงานมา

(๓) ประเทศ LDCs ยังคงขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยมีการขาดดุลการค้าโดยรวมสูงสุดถึง ๑๒๔.๑ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ เมื่อปี ๒๕๖๕

(๔) การส่งออกสินค้าของประเทศ LDCs มีมูลค่ารวมถึง ๒๗๙ พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๖๕ โดยเพิ่มขึ้นจาก ๒๐๖ พันล้านดอลลาร์สหรัฐในปี ๒๕๖๑ โดยเป็นการเพิ่มขึ้นเฉลี่ยร้อยละ ๗.๙ ต่อปี

(๕) ประเทศ LDCs ที่เป็นประเทศผู้ส่งออก ๑๐ อันดับแรกมีการส่งออกคิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ ๗๗ ของการส่งออกสินค้าของประเทศ LDCs ทั้งหมด โดยจากข้อมูลปี ๒๕๖๕ บังกลาเทศเป็นผู้ส่งออกสินค้าอันดับต้น ๆ ของกลุ่มประเทศ LDCs ครอบคลุมร้อยละ ๒๐ ของการส่งออกทั้งหมดของประเทศ LDCs รองลงมา ได้แก่ แองโกลา (ร้อยละ ๑๘) คองโก (ร้อยละ ๑๐) กัมพูชา (ร้อยละ ๘) และเมียนมาร์ (ร้อยละ ๖) โดยตลาดจีนเป็นตลาดที่สำคัญที่สุด รองลงมา ได้แก่ สหภาพยุโรป สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์  สหรัฐอเมริกา และอินเดีย และ

(๖) การส่งออกสินค้าบริการของประเทศ LDCs ยังคงเติบโต แต่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ภายหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-๑๙  โดยในปี ๒๕๖๕ การส่งออกสินค้าบริการของกลุ่มประเทศ LDCs มีมูลค่ารวม ๓๗ พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยเอธิโอเปีย เป็นประเทศที่ส่งออกสินค้าบริการสูงสุด ตามด้วยบังกลาเทศ และแทนซาเนีย


นอกจากนี้ จากรายงาน 2023 The Least Developed Countries Report ของ UNCTAD ผู้แทนจาก UNCTAD ได้บรรยายสรุปเกี่ยวกับสาระของรายงานฯ ซึ่งเน้นเรื่องการเงินเพื่อการพัฒนาและความยืดหยุ่นในช่วงภาวะวิกฤติ (Crisis Resilient Development Finance) โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

(๑) ประเทศ LDCs ต้องเผชิญกับความต้องการทางการเงินที่สำคัญ โดยเฉพาะเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) และหากประเทศ LDCs ต้องการเพิ่มส่วนแบ่งของอุตสาหกรรมใน GDP เป็นสองเท่าภายในปี ๒๕๗๓ (SDG 9.2) ประเทศ LDCs จำเป็นต้องมีการลงทุนต่อปีราว ๑ ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าความสามารถทางการเงินในปัจจุบันอย่างมาก นอกจากนี้ ประเทศ LDCs ยังต้องพึ่งพาเงินทุนจากภายนอกเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ

(๒) ระบบสถาปัตยกรรมทางการเงินระหว่างประเทศที่มีอยู่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการทางการเงินของประเทศ LDCs อีกทั้งความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (ODA) จากประเทศผู้บริจาคยังมีมูลค่าน้อยกว่าพันธกรณี และมักจะเปลี่ยนรูปแบบจากการให้ทุนเป็นการกู้ยืม และยังขึ้นอยู่กับสภาวะทางเศรษฐกิจและการเมือง และประเทศ LDCs ยังคงเผชิญกับความท้าทายในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนภาคเอกชน ซึ่งมีแนวโน้มว่า จะมีต้นทุนสูงและเป็นการให้กู้ระยะสั้น นอกจากนี้ การเงินเพื่อการปรับตัวจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Finance) ยังมีความสำคัญอย่างมากต่อประเทศ LDCs แต่ยังไม่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ

(๓) รายงานของ UNCTAD เสนอให้มีการแก้ไขข้อบกพร่องดังกล่าว โดยเน้นหลักการของ "Triple A - Amount, Appropriateness, and Access” เพื่อการพัฒนาและการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ พร้อมเสนอข้อเสนอแนะที่สำคัญ ได้แก่ การเพิ่มการจัดหาเงินทุนระยะยาวจากแหล่งทุนสาธารณะ เช่น ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนา (Official Development Assistance:ODA) และธนาคารเพื่อการพัฒนาระหว่างประเทศ การปรับปรุงกลไกการจัดการหนี้ การเพิ่มการตัดสินใจในเวทีต่าง ๆ ของประเทศ LDCs  และการเพิ่มความโปร่งใสและความเพียงพอของการเงิน การจัดทำเป้าหมายการเงินเพื่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสำหรับประเทศ LDCs และย้ำถึงความสำคัญของกองทุนชดเชยความสูญเสียและเสียหาย (Loss and Damage Fund) ในการสนับสนุนการฟื้นตัวของประเทศ LDCs ที่ได้รับผลกระทบจากสภาพภูมิอากาศ

225 views0 comments

Comments


bottom of page