top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

WTO วางเป้าหมายสรุปผลเจรจาอุดหนุนประมงให้สำเร็จในเดือนมิ.ย. 2563


ในการเจรจาอุดหนุนประมง (Fisheries Subsidies) รอบสุดท้ายของปีนี้ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 2-6 ธันวาคม 2562 สมาชิก WTO ได้ร่วมกันกำหนดแผนการเจรจา (Work Programme) ที่จะจัดขึ้นในเดือนมกราคม ถึง พฤษภาคม 2563 เพื่อเร่งสรุปผลการจัดทำความตกลงห้ามอุดหนุนประมงที่ยังไม่สามารถดำเนินการให้แล้วเสร็จได้ภายในสิ้นปีนี้ตามแผนเดิม และต้องกำหนดเป้าหมายใหม่เป็นภายในการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 12 ซึ่งจะจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-11 มิถุนายน 2563 ณ กรุงนูร์-ซุลตัน ประเทศคาซัคสถาน โดยทั่วโลกต่างจับตาและคาดหวังกับความสำเร็จของการจัดทำความตกลงห้ามอุดหนุนประมงภายใต้ WTO ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมการประมงอย่างยั่งยืน และรักษาทรัพยากรทางทะเลให้มนุษย์ได้ใช้ประโยชน์ต่อไปในอนาคต


การเจรจาเพื่อจัดทำความตกลงห้ามอุดหนุนประมงเป็นไปอย่างเข้มข้นตลอดทั้งปี 2562 ซึ่งมีทั้งการเจรจารอบปกติรวมทั้งสิ้น 10 รอบ ที่นำโดยผู้แทนจากเมืองหลวงของแต่ละประเทศ (Regular Cluster) และยังมีการเจรจาระหว่างรอบปกติโดยผู้แทนที่ประจำนครเจนีวา (Intersessional Work) เพื่อให้การเจรจาเป็นไปอย่างต่อเนื่องและไม่หยุดชะงัก ซึ่งคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกฯ ได้เข้าร่วมในนามของประเทศไทย ทั้งนี้ การขับเคลื่อนการเจรจาให้มีความคืบหน้านั้นต้องดำเนินการผ่านรูปแบบที่หลากหลาย ทั้งการเจรจาทวิภาคีสองฝ่าย การเจรจากลุ่มเล็ก และการเจรจากลุ่มใหญ่ที่ประกอบด้วยสมาชิก WTO ทั้ง 164 ราย ซึ่งขณะนี้เรื่องอุดหนุนประมงนับว่าเป็นการเจรจาที่มีความเคลื่อนไหวมากที่สุดในกรอบ WTO และเป็นเรื่องเดียวที่เป็นการเจรจาจัดทำความตกลงในระดับพหุภาคี เมื่อแล้วเสร็จ ความตกลงห้ามอุดหนุนประมงจะเป็นความตกลงฉบับใหม่ฉบับที่ 2 นับตั้งแต่มีการก่อตั้ง WTO เมื่อปี 2538 หลังจากที่สมาชิกเคยประสบความสำเร็จในการสรุปผลความตกลงฉบับแรกในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้าเมื่อปี 2556

ปัจจุบันการเจรจาเพื่อห้ามอุดหนุนประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated Fishing: IUU) และการห้ามอุดหนุนการประมงที่มากเกินกำลังผลิตของสัตว์น้ำ (Overfished) เป็นหัวข้อที่มีความคืบหน้ามากที่สุด เนื่องจากสมาชิก WTO ต่างเห็นพ้องถึงภัยอันตรายจากการประมง IUU และการจับปลาที่อยู่ในสภาวะ Overfished และเห็นว่าภาครัฐไม่ควรให้การสนับสนุนการประมงในลักษณะดังกล่าว ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายและการดำเนินงานของรัฐบาลไทยในการป้องกัน ยับยั้ง และขจัดการทำประมงผิดกฎหมาย รวมถึงการมีระบบบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำที่ช่วยให้การประมงของไทยไม่เกินระดับความยั่งยืนทางชีวภาพ โดยล่าสุด การเจรจาในหัวข้อนี้ได้พัฒนาเป็นร่างข้อบท (Draft Texts) ที่สมาชิกอยู่ระหว่างหารือในรายละเอียด และมีโอกาสที่จะบรรลุข้อสรุปได้สำเร็จตามเป้าหมายใหม่ที่กำหนด

ในขณะเดียวกัน การหาข้อสรุปที่ทุกฝ่ายสามารถยอมรับร่วมกันได้ในประเด็นที่แต่ะละประเทศยังมีท่าทีที่แตกต่างกันนับเป็นความท้าทายที่ WTO ต้องหาทางรับมือ โดยเฉพาะการกำหนดกฎเกณฑ์การห้ามอุดหนุนประมงที่เกินศักยภาพและเกินขนาด (Overcapacity and Overfishing) ซึ่งจะกระทบต่อการอุดหนุนส่วนใหญ่ที่รัฐให้ความช่วยเหลือกับภาคประมง รวมถึงการอุดหนุนน้ำมัน จึงทำให้ที่ผ่านมา หลายประเทศมีท่าทีการเจรจาโดยมุ่งหวังให้ผลลัพธ์ความตกลงยังเปิดโอกาสให้รัฐสามารถอุดหนุนอุตสาหกรรมประมงในประเทศของตนได้ต่อไป ในขณะที่สมาชิก WTO อีกจำนวนไม่น้อย ต้องการให้ยกเลิก หรือ ให้มีการกำหนดเพดาน (capping) เพื่อจำกัดการอุดหนุนที่นำไปสู่การประมงที่เป็นอันตรายต่อสัตว์น้ำที่เป็นทรัพยากรส่วนรวม เพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ (Sustainable Development Goals: SDGs) ข้อ 14.6 ที่ห้ามอุดหนุนประมงดังกล่าว ซึ่งการหาข้อสรุปในเรื่องนี้จะเป็นตัวชี้วัดสำคัญว่า ท้ายที่สุดความตกลงห้ามอุดหนุนประมงของ WTO จะประสบความสำเร็จ และมีบทบาทในการช่วยรักษาความยั่งยืนของทรัพยากรสัตว์น้ำได้มากน้อยเพียงใด

กมลทิพย์ พสุนธรากาญจน์ จะนู

คณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลก

และองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก

13 ธันวาคม 2562

115 views0 comments

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page