top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

WTO ชี้การค้าโลกฟื้นตัวแบบไม่ราบรื่นหลังโควิด-19


ท่ามกลางความปั่นป่วนทั่วโลกจากการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่ปี 2563 ต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน ทำให้ระบบสุขอนามัยของคนทั่วโลกอยู่ในสภาพพังทลาย ขณะเดียวกันระบบเศรษฐกิจการค้าและการลงทุนของทั่วโลกก็ล้มระเนระนาดแบบที่ต้องรีบฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน การฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจทั่วโลกดังกล่าว จะดำเนินการอย่างไร แต่ละประเทศต่างฟื้นฟูกันเองหรือร่วมมือให้ความช่วยเหลือกัน เพราะโรคระบาดครั้งนี้ทำให้เกิดวิถีใหม่ ที่เรียกว่า New Normal หรือบางคนเรียกว่า Never Normal ซึ่งถือเป็นการเปลี่ยนแปลงที่กำลังเป็นความท้าทายใหม่ของโลกและของเศรษฐกิจการค้าโลกนับจากนี้ไป


คาดการค้าโลกปี 2564 โตที่ร้อยละ 8

องค์การการค้าโลก หรือ WTO คาดการณ์แนวโน้มปริมาณการค้าโลกจะฟื้นตัวขึ้นจากการถดถอยอันเนื่องมา จากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 โดยประเมินว่าอัตราการขยายตัวจะอยู่ที่ร้อยละ 8 หลังจากลดลงไปที่ร้อยละ 5.3 เมื่อปี 2563 และจะลดลงไปอยู่ที่ร้อยละ 4 ในปี 2565 โดยปริมาณการค้าโลกโดยรวมยังคงต่ำกว่าแนวโน้มก่อนการระบาดโควิด-19


แนวโน้มการค้าโลกในระยะสั้นที่ค่อนข้างเป็นบวกนั้นจะได้รับผลกระทบจากความไม่เท่าเทียมกันในระดับภูมิภาค ประกอบกับการค้าภาคบริการถดถอยอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการฉีดวัคซีนที่ล่าช้า โดยเฉพาะในประเทศที่ยากจน จึงทำให้ไวรัสโควิด-19 ยังคงเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อการขยายตัวของการค้าโลก เพราะการแพร่ระบาดระลอกใหม่ได้ทำลายความหวังในการฟื้นตัวของการค้าลงอย่างง่ายดาย เพราะอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจโลก หรือ จีดีพี ควรจะขยายตัวได้ร้อยละ 5.1 ในปี 2564 และร้อยละ 3.8 ในปี 2565 หลังจากหดตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 3.8 เมื่อปี 2563 เพียงแต่การหดตัวเมื่อปี 2563 ไม่ได้รุนแรงมากเท่าที่เคยคาดการณ์ไว้ก่อนหน้านั้นเพราะหลังจากหดตัวลงอย่างหนักในครึ่งปีแรกก็กลับมาฟื้นตัวได้อย่างรวดเร็วในครึ่งปีหลังของปี 2563 และต่อเนื่องจนทำให้ตัวเลขคาดการณ์การค้าโลกปี 2564 นี้ออกมาค่อนข้างสูง


สอดคล้องกับคำกล่าวของ ดร.เอ็นโกซี โอคอนโจ-ไอวีเอลา ผู้อำนวยการใหญ่ WTO ที่ออกมาระบุว่าการรักษาตลาดการค้าระหว่างประเทศไว้ต่อเนื่อง โดยไม่ให้หยุดชะงัก หรือไม่มีข้อจำกัดการกีดกันการเข้าสู่ตลาด ถือเป็นสิ่งจำเป็นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจากวิกฤติใหญ่ครั้งนี้ รวมถึงการผลิตวัคซีนอย่างรวดเร็วและกระจายไปให้เท่าเทียมกันทั่วโลก ถือเป็นเงื่อนไขเบื้องต้นสำหรับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอย่างแข็งแกร่งและยั่งยืน เพราะการผลิตวัคซีนเพิ่มมากขึ้นเจะช่วยให้ธุรกิจและสถานศึกษาสามารถกลับมาเปิดดำเนินการได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาเติบโตได้อีกครั้ง แต่ตราบใดที่ประชาชนและประเทศอีกหลายแห่งยังถูกกีดกันไม่ให้เข้าถึงวัคซีนได้อย่างเพียงพอ ก็จะยิ่งเป็นปัจจัยชะลอการเติบโตและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกให้กลับคืนมาเหมือนเดิมได้ ขณะเดียวกันก็จะเกิดความเสี่ยงเกิดขึ้นจากสุขอนามัยของคนทั่วโลก ซึ่งเธอยังมองว่าข้อจำกัดทางการค้าทำให้เพิ่มการลิตได้ยากขึ้น องค์การการค้าโลกจึงได้พยายามช่วยให้การค้าราบรื่นในช่วงวิกฤต และประชาคมระหว่างประเทศอาจต้องใช้อำนาจและบทบาททางการค้าเพื่อขยายช่องทางการเข้าถึงวัคซีนช่วยชีวิต เพราะการผลิตและการจำหน่ายวัคซีนที่ไม่เพียงพอ หรือการเกิดขึ้นของสายพันธุ์ใหม่ๆที่ดื้อต่อวัคซีนโควิด-19 ในอนาคต ซี่งจะส่งผลต่อสัดส่วนหนี้สาธารณะและการขาดดุลการค้า ทำให้มีผลต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่มีหนี้จำนวนมาก


อย่างไรก็ตาม หากวิเคราะห์ถึงข้อมูลการฟื้นตัวและการเติบโตของการค้าในครึ่งหลังปี 2563 พบว่ามีแรงสนับสนุนจากนโยบายที่สำคัญของรัฐบาลในประเทศต่าง ๆ ทั้งอเมริกา และยุโรป รวมถึงมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสำคัญๆของสหรัฐอเมริกา ซึ่งมาตรการเหล่านี้ช่วยสนับสนุนรายได้และกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือนทั้งหมดอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันผู้ประกอบการธุรกิจและครัวเรือนจำนวนมากยังมีการปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป โดยค้นหาวิธีใหม่ๆในการรักษากิจกรรมทางเศรษฐกิจท่ามกลางการเผชิญกับข้อจำกัดในการเดินทาง การเฝ้าระวังการระบาดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อจำกัดขอบเขตภาวะตกต่ำของเศรษฐกิจจากประเทศจีน และประเทศอื่น ๆในภูมิภาคเอเชีย ทำให้ยังคงมีการนำเข้าสินค้าต่อไป ซึ่งมาตรการเหล่านี้ช่วยเอื้อให้มีการผลิตอในที่ทั่วโลกอยู่บ้าง และเป็นการป้องกันไม่ทำให้การค้าโลกตกต่ำมากยิ่งขึ้นไปอีก


เพราะถ้ารัฐบาลต่าง ๆ ไม่ออกมาตรการและนโยบายใหม่ ๆ เชื่อว่าการค้าโลกจะถดถอยอย่างหนัก เห็นได้จากตัวเลขการค้าในสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่ลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะปริมาณการค้าในปี 2563 มูลค่าส่งออกสินค้าโลกลดลงถึง ร้อยละ 8 เมื่อเทียบกับปีก่อน ขณะที่รายได้จากการบริการร่วงลงมากถึงร้อยละ 20 เพราะการค้าภาคบริการได้รับผลกระทบอย่างมากจากการจำกัดการเดินทางระหว่างประเทศ ทำให้ไม่สามารถให้บริการที่ต้องแสดงตัวหรือมีปฏิสัมพันธ์แบบเห็นหน้ากัน นอกจากนั้นผลกระทบของการระบาดใหญ่ต่อปริมาณการค้าในปี 2563 ยังแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค โดยส่วนใหญ่นั้นทั้งการส่งออกและนำเข้าลดลงอย่างมาก ยกเว้นเอเชีย ที่ส่งออกเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.3 แต่การนำเข้าลดลงร้อยละ 1.3 ขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ อาทิ แอฟริกาติดลบร้อยละ 8.8 อเมริกาใต้ ติดลบร้อยละ 9.3 และตะวันออกกลาง ติดลบ ร้อยละ11.3


อย่างไรก็ตาม ในปี 2564 นี้ความต้องการซื้อขายสินค้าจะได้แรงกระตุ้นจากภูมิภาคอเมริกาเหนือ เนื่องมาจากการอัดฉีดด้านการเงินจากมาตรการคิวอี (Quantitative Easing: QE) หรือมาตราการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการอัดฉีดเม็ดเงินของสหรัฐ ซึ่งน่าจะเป็นแรงส่งเศรษฐกิจอื่น ๆ ผ่านช่องทางการค้าด้วย รวมถึงยุโรปและอเมริกาใต้จะเริ่มมีการนำเข้าสูงขึ้นราวร้อยละ 8 เช่นเดียวกับภูมิภาคอื่นๆ เช่น เอชีย ที่สามารถตอบสนองความต้องการนำเข้าสินค้าจากทั่วโลกได้ และคาดว่าการส่งออกจะเติบโตร้อยละ 8.4 .ในปีนี้ ขณะที่การส่งออกของยุโรปจะเติบโตราวร้อยละ 8.3 เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว และ อเมริกาเหนือ เติบโตร้อยละ 7.7 ส่วนแอฟริกา เติบโตร้อยละ 8.1 และตะวันออกกลางร้อยละ 12.4 ขึ้นอยู่กับต้นทุนการเดินทางที่เพิ่มขึ้นทั้งปี ซึ่งจะทำให้ความต้องการใช้น้ำมันสูงขึ้น


ทั้งนี้ปัจจัยใหญ่ที่สุดที่ทำให้การค้าโลกกลับมาฟื้นตัวได้อย่างแข็งแกร่งเริ่มจากครึ่งหลังของปี 2563 มาจากการใช้นโยบายการเงินและการคลังของหลายประเทศในจำนวนที่มากกว่าเมื่อครั้งวิกฤตการเงินโลก (แฮมเบอร์เกอร์) เมื่อปี 2551-2552 โดยนโยบายเหล่านี้ได้ช่วยป้องกันการลดลงของความต้องการสินค้า และไม่ทำให้การค้าโลกลดลงไปมากกว่านี้ โดยเฉพาะนโยบายการคลังที่ช่วยเพิ่มรายได้คนในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทำให้บางครัวเรือนสามารถรักษาการบริโภคค่อนข้างสูงไว้ จนส่งผลต่อการส่งออก ตลอดจนการล็อกดาวน์และจำกัดการเดินทาง ทำให้ผู้บริโภคเปลี่ยนการใช้จ่ายจากบริการที่ไม่ใช่การค้าหันไปหาสินค้านวัตกรรมและการปรับตัวของภาคธุรกิจ รวมถึวครัวเรือนทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจไม่ตกต่ำมากขึ้นไปอีก และห่วงโซ่การผลิตสามารถกลับมาดำเนินการได้อีกครั้ง



1,376 views0 comments

Commentaires


bottom of page