เป็นที่ทราบกันดีอยู่ว่า ในปัจจุบัน ร้อยละ 95 ของกิจการธุรกิจของทั่วโลกจัดอยู่ในกลุ่ม MSMEs วิสาหกิจขนาดกลาง ขนาดย่อมและขนาดย่อย หรือ MSMEs (Micro, Small and Medium Enterprise) หรือคิดเป็นร้อยละ 60 ของการจ้างงานทั้งหมดทั่วโลก อย่างไรก็ดี MSMEs ส่วนใหญ่ยังประสบปัญหาและอุปสรรคในการเข้ามามีส่วนร่วมในการค้าระหว่างประเทศ
จากปัญหาดังกล่าว ทำให้สมาชิกองค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) รวม 80 ประเทศ ได้ร่วมกันประกาศความตั้งใจที่จะจัดตั้งคณะทำงานอย่างไม่เป็นทางการเกี่ยวกับ MSMEs (Informal Working Group on Micro, Small and Medium-sized Enterprises (MSMEs) ขึ้น ในช่วงการประชุมรัฐมนตรีองค์การการค้าโลก ครั้งที่ 11 เมื่อเดือนธันวาคม 2560 โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อสนับสนุน MSMEs ให้มีส่วนร่วมในการค้าระหว่างประเทศให้มากขึ้น
ปัจจุบัน ประเทศสมาชิกที่เข้าร่วมอยู่ในคณะทำงานฯ มีรวมกว่า 98 ประเทศ โดยมีกิจกรรมการส่งเสริม MSMEs อย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุด เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2566 คณะทำงานฯ ได้เปิดตัว Trade4MSMEs Network ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างองค์การระหว่างประเทศในการจัดทำเครื่องมือ (tool) ที่จะช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกแก่ MSMEs ในการทำธุรกิจ โดยจะดำเนินโครงการร่วมกันในรูปแบบเครือข่าย และจะมีการจัดประชุมร่วมกันทุกปี เพื่อหารือในเรื่องการดำเนินงานและความร่วมมือต่าง ๆ ร่วมกัน
ทั้งนี้ นอกจาก WTO แล้ว ยังมีอีก 17 หน่วยงานองค์การระหว่างประเทศที่เข้ามาอยู่ในเครือข่าย Trade4MSMEs Network ซึ่งหน่วยงานดังกล่าว ประกอบด้วย
(1) Asian Development Bank
(2) European Bank for Reconstruction and Development
(3) Inter-American Development Bank
(4) International Labour Organization
(5) International Telecommunication Union
(6) International Trade Centre
(7) Organization for Economic Co-operation and Development
(8) United Nations Economic Commission for Africa
(9) United Nations Economic Commission for Europe
(10) United Nations Economic Commission for Latin America and the Caribbean
(11) United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific
(12) United Nations Economic and Social Commission for Western Asia
(13) United Nations Industrial Development Organization
(14) United Nations Commission on International Trade Law
(15) World Customs Organization
(16) World Intellectual Property Organization
และ (17) World Bank
จากการประชุมประจำปีครั้งที่สองของ Trade4MSMEs Network ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 2566 ที่ประชุมได้จัดให้มีการหารือร่วมกันระหว่างเครือข่ายองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้มี การปรับปรุงและพัฒนาเว็บไซต์ Trade4MSMEs ให้มีความทันสมัย และเพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างเครือข่ายให้มากขึ้น นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้ร่วมกันแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นในประเด็นคำถามที่สำคัญ เช่น อะไรคือประเด็นสำคัญที่หน่วยงานองค์การระหว่างประเทศในเครือข่ายให้ความสำคัญในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ MSMEs และอะไรคือแนวทางแก้ไขปัญหาที่หน่วยงานระหว่างประเทศกำลังดำเนินการอยู่หรือมีแผนจะแก้ไขปัญหาให้ MSMEs
ในส่วนของคำถามแรกนั้น มีหลายองค์การระหว่างประเทศ เช่น (1) Asian Development Bank (ADB) (2) UN Economic Commission for Latin America and the Caribbean (UNECLAC) (3) UN Conference on Trade and Development (UNCTAD) (4) International Trade Centre (ITC) และ (5) Enhanced Integrated Framework (EIF) ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบว่า มีหลายประเด็นที่สำคัญ เช่น (1) เรื่องการเข้าถึงเงินแหล่งเงินทุน/สินเชื่อ (access to finance) ซึ่งรวมถึงสินเชื่อการค้าต่างประเทศ (Trade Finance) สินเชื่อเพื่อการพัฒนาห่วงโซ่อุปทาน และสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการสตรี โดยพบว่า MSMEs ยังคงมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุน (2) การดำเนินการด้านความยั่งยืนในด้าน ESG หรือสิ่งแวดล้อม (Environmental) สังคม (Social) และบรรษัทภิบาล (Governance) โดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรม ซึ่งพบว่า แม้ MSMEs จะสามารถปฏิบัติตามได้ แต่อาจพบกับภาระเพิ่มเติมในการตรวจสอบและรับรองการปฏิบัติตามเงื่อนไข ซึ่งรวมถึงค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียน (3) การทำธุรกรรมด้าน e-commerce ข้ามพรมแดนและการใช้ Platform สำหรับ MSMEs ซึ่งจำเป็นต้องเชื่อมโยงระหว่างตลาดและ MSMEs เพื่อให้ได้ Platform เหมาะสมสำหรับการจำหน่ายสินค้าของ MSMEs เป็นต้น
สำหรับคำถามที่สองนั้น หลายหน่วยงาน อาทิ (1) Asian Development Bank (ADB) (2) International Telecommunication Union (ITU) (3) International Trade Centre (ITC) (4) UN Economic Commission for Latin America and the Caribbean (UNECLAC) (5) UN Conference on Trade and Development (UNCTAD) และ (6) Enhanced Integrated Framework (EIF) ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบเกี่ยวกับการดำเนินงานขององค์กรของตนโดยเฉพาะในเรื่องการนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้เพื่อปรับเปลี่ยรูปแบบกระบวนการทำงาน (Digitalization) และการค้าในระบบดิจิทัล โดย ADB แจ้งว่า ได้ให้ทุนสนับสนุนการจัดตั้ง Digital Standards Initiative (DSI) ร่วมกับหอการค้าและรัฐบาลสิงคโปร์ เพื่อปรับแก้ให้มีการใช้เอกสารแบบดิจิทัลมากกว่า 30-40 รายการ ขณะที่ UNCTAD ได้พยายามสร้างสิ่งแวดล้อมที่จะช่วยให้ MSMEs ได้เข้าถึงระบบการค้าแบบ E-Commerce และการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ และ UNECLAC ได้พัฒนาโปรแกรมสำรวจตลาดแคริบเบียนและละตินอเมริการ่วมกับ ITC เพื่อค้นหา platform ที่ดีสำหรับ MSMEs นอกจากนี้ ITU ยังได้ออกคู่มือเกี่ยวกับการให้ความสำคัญเรื่องสถานะทางเพศในนโยบายดิจิทัล (Handbook on Mainstreaming Gender in Digital Policies) โดยเน้นไปที่สตรีกับการค้าดิจิทัลด้วย
นอกจากนี้ ในเรื่องการค้าดิจิทัล ที่ประชุมยังได้หารือกันเรื่องของ Generative AI หรือระบบ AI หรือปัญญาประดิษฐ์ประเภทหนึ่งที่ออกแบบมาให้สามารสร้างเนื้อหาใหม่ ๆ ที่คล้ายกับที่มนุษย์ได้สร้างขึ้น ว่าจะมีผลต่อการค้าของ MSMEs อย่างไร ทั้งนี้ UNECLAC แจ้งว่า กำลังพิจารณาจัดทำเครื่องมือการทำงานของ Generative AI สำหรับ MSMEs โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายหรือมีค่าใช้จ่ายต่ำ และ ITU กับ Global Trade Helpdesk กำลังเตรียมที่จะพัฒนา Chatbot รุ่นใหม่เพื่อช่วยในการนำทางหาเว็บไซต์และการเข้าถึงข้อมูลสำหรับ MSMEs
สำหรับการเข้าถึงแหล่งเงินทุนหรือสินเชื่อนั้น ได้มีการหารือร่วมกันโดยผ่านมุมมองของ gender lens ผ่านโครงการทางการเงินต่าง ๆ ที่รัฐให้การสนับสนุน โดยประเด็นเรื่องการให้สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้รับความสนใจอย่างมาก โดย ITC แจ้งว่า ได้ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ โดยผ่านโครงการ SheTrades และ ADB มีการดำเนินโครงการหลายโครงการด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ ESG ขณะที่ EIF แจ้งว่า ได้ร่วมงานกับภาคธุรกิจของแกมเบียในการติดตามเรื่องการให้สินเชื่อที่เกี่ยวข้องกับสภาพภูมิอากาศ และ UNECLAC มีการดำเนินงานเพื่อช่วยผู้ผลิตกาแฟและโกโก้ในละตินอเมริกาโดยใช้ภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อพิสูจน์ว่า กลุ่มผู้ผลิตกาแฟและโกโก้ไม่ได้มีการทำลายป่า และ EIF ได้สนับสนุน MSMEs จากรวันดาในการเข้าถึงตลาดต่างประเทศ โดยการเชื่อมโยงการบริการไปรษณีย์กับการแก้ไขปัญหาศุลกากรเพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคด้านการค้า
จะเห็นได้ว่า WTO กับเครือข่ายองค์การระหว่างประเทศได้แสดงถึงความพยายามร่วมกันในอันที่จะสนับสนุน MSMEs ในประเทศต่าง ๆ ในเรื่องที่สำคัญและเป็นพื้นฐานเพื่อส่งเสริมให้ MSMEs ได้มีโอกาสได้เข้าถึงตลาดการค้า โดยเฉพาะตลาดดิจิทัลให้มากขึ้น ซึ่ง Trade4MSMEs Network เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างของการเริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรม โดยคณะผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลกจะได้ติดตามผลการดำเนินงานและรายงานให้สาธารณชน โดยเฉพาะ MSMEs ของไทยทราบความเคลื่อนไหวและข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์ต่อไป
Comments