top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

E-Commerce กับบทบาทของ WTO เจาะลึกประเด็นข้อมูลช่วงการระบาดของโควิด-19


การระบาดของโควิด-19 ในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกออกมาตรการเว้นระยะห่างทางสังคม มาตรการ Lockdown และมาตรการอื่น ๆ ซึ่งส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงต่อพฤติกรรมของผู้บริโภค เช่น การซื้อของออนไลน์เพิ่มขึ้น การใช้ Social Media การใช้โทรศัพท์ทางอินเทอร์เน็ต การใช้รูปแบบการประชุมแบบ Teleconference รวมถึงการรับชมภาพยนต์และวีดิทัศน์ผ่านการ Streaming ผ่านเครือข่ายระบบอินเทอร์เน็ต

ปรากฏการณ์ดังกล่าว ส่งผลให้รูปแบบการดำเนินธุรกิจแบบ B2C (Business-to-Consumer) หรือธุรกิจที่ขายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นผู้บริโภคทั่วไป และธุรกิจแบบ B2B (Business-to-Business) หรือธุรกิจที่จำหน่ายสินค้าหรือบริการให้กับลูกค้าที่เป็นลูกค้าองค์กร ในธุรกิจ E-Commerce (ทั้งในส่วนของการผลิต การกระจายสินค้า การตลาด การจำหน่าย การส่งสินค้าและบริการโดยใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์) เพิ่มสูงขึ้น


การปรับตัวและปริมาณการค้าที่เพิ่มขึ้นนี้ ทำให้อุปสงค์ที่มีต่อการบริการระบบอินเทอร์เน็ตและการส่งข้อมูลทางมือถือเพิ่มสูงขึ้นตาม และมีความจำเป็นที่ต้องมีการพัฒนาการเครือข่ายและคลื่นความถี่ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ซึ่งทางผู้ประกอบการและภาครัฐจะต้องปรับตัวให้ทันต่อสถานการณ์ดังกล่าว


อย่างไรก็ดี ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 การมีการหยุดชะงักของการค้าบางส่วน ทั้งในส่วนของ อุปสงค์และอุปทานโดยรวมได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ E-Commerce ทั้งในส่วนของสินค้าและบริการ ไม่ว่าจะเป็นการส่งมอบสินค้าล่าช้า การยกเลิกคำสั่งซื้อสินค้า เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีความท้าทายใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้น เช่น การเพิ่มขึ้นของราคาสินค้าไปสู่ระดับที่ขาดความสมเหตุสมผล ความกังวลเรื่องความปลอดภัยของสินค้า ความกังวลเรื่อง ความปลอดภัยด้านไซเบอร์ ความต้องการการขยายคลื่นความถี่ และความกังวลที่เกี่ยวข้องกับ การพัฒนา ในด้านต่าง ๆ เป็นต้น


การแพร่ระบาดของโควิด-19 ยังส่งผลให้เห็นชัดเจนว่า จำเป็นที่จะต้องลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล เนื่องจากความแตกต่างทางด้านเศรษฐกิจและสังคม (Digital Divide)ทั้งในระดับประเทศไปจนถึงระหว่างประเทศ เพราะความแตกต่างดังกล่าวเป็นอุปสรรคสำคัญในการที่จะนำพาผู้ประกอบการรายเล็ก ซึ่งเป็นผู้ผลิต ผู้จำหน่ายและ ผู้บริโภคจากประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะจากประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) ไม่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมในการกิจกรรมทางการค้าและบริการในธุรกิจ E-Commerce ได้ ซึ่งในเรื่องดังกล่าว สะท้อนให้เห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องพัฒนาการบริการด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (Information and Communications Technology) ที่สามารถเข้าถึงได้และราคาสมเหตุสมผล โดยเฉพาะการให้บริการด้านโทรคมนาคม คอมพิวเตอร์ ไอที และเทคโนโลยีใหม่ ๆ


ที่ผ่านมา ทั้งรัฐบาลและผู้ประกอบการด้านต่าง ๆ ต่างพยายามที่จะปรับตัวเพื่อตอบสนองต่อความท้าทายดังกล่าว ทั้งในส่วนของความพยายามที่จะขยายเครือข่ายด้าน ICT การขยายการให้บริการด้านดาต้า การลดต้นทุนค่าใช้จ่ายในการชำระเงินผ่านระบบดิจิทัลและการโอนเงินผ่านมือถือ การเพิ่มบริการด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ รวมถึงการใช้เครื่องมือทางดิจิทัลในการบังคับใช้มาตรการบางอย่าง การเผยแพร่ข้อมูลที่จำเป็น การส่งเสริม การบริการด้านสาธารณสุขทางไกล และการเตือนภัย เป็นต้น

จากรายงานของ WTO ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคม 2563 ระบุว่า ความท้าทายในช่วงการระบาดของโรคโควิด 19 ที่มีต่อการค้าในระบบ E-Commerce ที่สำคัญ คือ การคุ้มครองผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าออนไลน์ เนื่องจากมีรายงานการโกงและหลอกลวงจากผู้ค้า เช่น มีส่งมอบสินค้าน้ำยาทำความสะอาดมือหรือหน้ากากอนามัยปลอมหรือไม่ปลอดภัย มีการจำหน่ายสินค้าราคาสูงเกินไปโดยผู้ประกอบการหรือผู้ค้าปลีกในช่วงที่มีความต้องการสินค้าอย่างมาก

นอกจากนี้ WTO ยังรายงานว่า การปฏิบัติตามกฎด้านสาธารณสุขและความปลอดภัยถือเป็นอีกหนึ่งประเด็นของความท้าทายต่อการค้าระบบ E-Commerce เนื่องจากเจ้าหน้าที่ในประเทศผู้นำเข้า อาจมิสามารถตรวจสอบสินค้าที่จัดส่งขนาดเล็กโดยผ่านการให้บริการไปรษณีย์ได้ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องให้ทางเจ้าหน้าของรัฐมิสามารถประเมินความเสี่ยงในภาพรวมของการส่งสินค้า รวมถึงการตรวจสอบด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และมาตรการ ด้านอุปสรรคทางเทคนิคต่อการค้าได้ครอบคลุมทั้งหมด


สิ่งที่ WTO กำลังดำเนินการในขณะนี้ ในการตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการทำธุรกิจไปสู่ E-Commerce และการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่สำคัญ ได้แก่ (1) การเจรจากันในเรื่อง E-Commerce ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2560 ในรูปแบบของการจัดทำ Joint Initiative และการจัดทำ Work Program ซึ่งประเทศสมาชิกได้หารือร่วมกันในส่วนของการให้ความสำคัญกับ E-Commerce การขยายโอกาสในการเปิดตลาด การเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้บริโภค การพัฒนาระบบ E-Commerce ในภาพรวม ขณะที่ก็ให้ควาสำคัญกับความท้าทายและอุปสรรคต่าง ๆ ที่เกิดจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (2) การส่งเสริมการดำเนินการตามความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (Trade Facilitation Agreement) ซึ่งมีผลบังคับใช้เมื่อ ปี 2560 และ (3) การหารือร่วมกันในเรื่องการตรวจสอบ ควบคุม และเตือนภัยในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการค้า ทั้งในส่วนของความกังวลทางการค้าในสินค้าและบริการประเภทต่าง ๆ และการจัดทำมาตรฐานใหม่ ภายใต้คณะกรรมการด้านสุขอนามัยและสุขอนามัยพืช และมาตรการด้านอุปสรรคทางเทคนิค


จะเห็นได้ว่า การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี ได้ส่งผลต่อการแนวโน้มการเติบโตของธุรกิจ E-Commerce และความท้าทายใหม่ ๆ ซึ่งในส่วนของ WTO ซึ่งเป็นองค์การระหว่างประเทศที่สำคัญได้เล็งเห็นความสำคัญของธุรกิจ E-Commerce และพยายามที่จะมีบทบาทในการสนับสนุนความร่วมมือและอำนวยความสะดวกในด้านดังกล่าว พร้อมๆ ไปกับการกำหนดกติกาที่เป็นธรรมร่วมกันระหว่างประเทศสมาชิก

303 views0 comments

Commentaires


bottom of page