top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

ไทยเข้าร่วมเจรจา Domestic Regulation รายแรกของอาเซียน ดันการค้าบริการ ยกระดับ Ease of Doing Business



การเจรจาจัดทำวินัยเพื่อกำกับดูแลการใช้กฎระเบียบภายในประเทศ (Joint Statement on Services Domestic Regulation) ภายใต้กรอบ WTO มีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อสนับสนุนธรรมาภิบาลที่ดีของภาครัฐ ในการใช้มาตรการที่อาจส่งผลกระทบต่อการค้าบริการ ซึ่งรวมถึงมาตรการที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการขอรับใบอนุญาต การกำหนดคุณสมบัติของผู้ให้บริการ และการใช้มาตรฐานทางเทคนิคสำหรับการให้บริการ ที่จะต้องเป็นไปโดยโปร่งใส คาดการณ์ได้ ไม่เลือกปฏิบัติ และไม่สร้างอุปสรรคทางการค้าบริการโดยไม่จําเป็น โดยเฉพาะในสาขาบริการที่มีการเปิดตลาดให้ทำการค้าระหว่างประเทศในกรอบ WTO


ประเทศไทยนับเป็นสมาชิก WTO รายล่าสุด ที่เข้าร่วมการเจรจา Domestic Regulation และเป็นสมาชิกรายแรกของอาเซียนที่เข้าร่วมกลุ่มการเจรจาดังกล่าว ส่งผลให้ขณะนี้มีสมาชิก WTO ในกลุ่มนี้รวมทั้งหมด 63 ราย มีมูลค่าการค้าบริการรวมกันกว่า 73% ของการค้าบริการโลก โดยมีประเทศสำคัญ อาทิ จีน เกาหลี ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ออสเตรเลีย บราซิล เม็กซิโก ไนจีเรีย เป็นต้น นอกจากนี้ สหรัฐฯ ก็เป็นอีกประเทศที่มีบทบาทเชิงรุกและสนับสนุนการเจรจา Domestic Regulation นี้ด้วย


ปัจจุบันสมาชิก WTO มีเป้าหมายเร่งสรุปผลการเจรจา Domestic Regulation ให้แล้วเสร็จภายใน การประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ครั้งที่ 12 ที่มีกำหนดจะจัดขึ้นในปี 2564 ซึ่งเลื่อนจากเดิมที่กำหนดไว้ในปี 2563 เนื่องด้วยปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด โดยผลการเจรจาเรื่องดังกล่าว จะอยู่ใน รูปแบบการจัดทำเอกสาร Reference Paper ที่กำหนดวินัยที่สมาชิกต้องปฏิบัติตามในเรื่อง Domestic Regulation ซึ่งจะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของข้อผูกพันภายใต้ความตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) ในกรอบ WTO ต่อไป


การเข้าร่วมการเจรจา Domestic Regulation นับเป็นการส่งสัญญาณเชิงบวกในเวทีการค้าโลก ว่าประเทศไทยส่งเสริมการมีธรรมาภิบาลที่ดีของภาครัฐในการทำหน้าที่กำกับดูแลภาคบริการ ซึ่งเป็น ภาคส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คิดเป็นสัดส่วนกว่า 60% ของ GDP รวมถึงสอดคล้องกับความพยายามของรัฐบาลไทย ในการส่งเสริมความง่ายในการทำธุรกิจ (Ease of Doing Business) ทั้งนี้ วินัยเรื่อง Domestic Regulation ที่สมาชิก WTO อยู่ระหว่างเจรจา อาทิ การเผยแพร่กฎระเบียบล่วงหน้า การกำหนดกรอบเวลาสำหรับภาครัฐในการพิจารณาคำขออนุญาต การรับคำร้องทางอิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น จะช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจของภาคบริการ สร้างความเชื่อมั่นให้กับ ผู้ประกอบการ และสนับสนุนให้เศรษฐกิจไทยสามารถฟื้นตัวจากยุคโควิดได้โดยเร็ว

264 views
bottom of page