เมื่อวันที่ 9 กันยายน 2562 ไทยได้ยื่นอุทธรณ์ผลคำตัดสินของคณะผู้พิจารณา (Compliance Panel) ซึ่งเปรียบเสมือนศาลชั้นต้นของ WTO ที่ออกมาในช่วงเดือนกรกฎาคม 2562 ว่า ไทยประเมินราคาบุหรี่นำเข้าที่ใช้เป็นฐานสำหรับการเก็บภาษีไม่สอดคล้องกับความตกลงว่าด้วยการประเมินราคาศุลกากร โดยการยื่นอุทธรณ์ของไทยส่งผลให้คดีเข้าสู่กระบวนการพิจารณาขององค์กรอุทธรณ์ (Appellate Body) ที่ทำหน้าที่ตัดสินชี้ขาด และผลคำตัดสินนี้จะถือเป็นที่สุด
ทั้งนี้ ภายใต้กลไกการระงับข้อพิพาทของ WTO นั้น Appellate Body จะต้องพิจารณาตัดสินอุทธรณ์ให้แล้วเสร็จภายในกรอบเวลา 90 วัน อย่างไรก็ดี ปัญหาการขาดผู้พิพากษาในการทำหน้าที่ Appellate Body เนื่องจากสหรัฐฯ คัดค้านกระบวนการคัดเลือกผู้จะมาทำหน้าที่ดังกล่าวที่ยืดเยื้อมากว่า 2 ปี โดยอ้างว่าต้องปฏิรูปกระบวนการระงับข้อพิพาท WTO ให้แล้วเสร็จก่อน ส่งผลให้ขณะนี้มีสมาชิก Appellate Body เหลือเพียง 3 คน จากทั้งหมด 7 คน และทำให้กระบวนการพิจารณาอุทธรณ์ต้องล่าช้ากว่าเดิมอย่างมากเพราะมีคดีคงค้างรอการพิจารณาหลายคดี
ปัจจุบันคดีที่ไทยถูกฟิลิปปินส์ฟ้องใน WTO เรื่องการประเมินราคาบุหรี่นำเข้ามีทั้งสิ้น 2 คดี และต่างอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาของ Appellate Body ในการนี้ หากไทยถูกตัดสินชี้ขาดว่าประเมินราคาบุหรี่นำเข้าไม่สอดคล้องกับกฎกติกา WTO จริง ฟิลิปปินส์จะมีสิทธิตอบโต้ทางการค้ากับไทย ซึ่งการตอบโต้ใน WTO ส่วนใหญ่จะอยู่ในรูปแบบการขึ้นภาษีสินค้านำเข้าคิดเป็นมูลค่าเท่ากับความเสียหายที่ประเทศผู้ฟ้องได้รับ อย่างไรก็ดี ฟิลิปปินส์จะต้องเป็นฝ่ายพิสูจน์มูลค่าความเสียหายที่ตนได้รับในขั้นตอนอนุญาโตตุลาการ (Arbitration) อีกครั้ง ซึ่งประเทศไทยจะมีสิทธิโต้แย้งมูลค่าความเสียหายดังกล่าวก่อนที่ฟิลิปปินส์จะใช้สิทธิขึ้นภาษีใด ๆ กับไทย
ขอบคุณรูปภาพจาก Pixabay
กมลทิพย์ พสุนธรากาญจน์ จะนู
10 กันยายน 2562
Comments