เมื่อวันที่ 19 พฤศจิกายน 2563 WTO ได้จัดงาน Webinar: The AOA@25 ในวาระครบรอบ 25 ปีของการก่อตั้ง WTO และการจัดทำความตกลงเกษตร (Agreement on Agriculture: AoA) ซึ่งงานดังกล่าวจัดขึ้น เพื่อปูทางให้กับงาน WTO Agriculture Symposium 2020 ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 2 -3 ธันวาคม 2563 โดยนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ได้รับเชิญเข้าร่วมอภิปรายใน Webinar ดังกล่าว ร่วมกับ ออท. แอฟริกาใต้ประจำ WTO (Ms. Xolelwa Mlumbi-Peter) ผู้อำนวยการส่วนภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนของ International Food Policy Research Institute (Mr. Eugenio Diaz-Bonilla) ผู้อำนวยการกองสถิติและการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของ WTO (Mr. Robert Koopman) และผู้อำนวยการกองการเกษตรและผลิตภัณฑ์เกษตรของ WTO (Mr. Edwini Kessie)
ออท. สุนันทา ได้นำเสนอการเติบโตของการค้าสินค้าเกษตรไทยในตลาดโลก รวมทั้งการพัฒนาและปรับปรุงศักยภาพการผลิต การแปรรูป และการเพิ่มมูลค่าของสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร อย่างต่อเนื่องของไทย ซึ่งทำให้ไทยสามารถคงตำแหน่งผู้ส่งออกสินค้าเกษตร 10 อันดับแรกของโลกในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา รวมทั้งมีมูลค่าส่งออกสินค้าเกษตรสุทธิใน 10 อันดับแรกของโลก โดยชี้ว่าความตกลงเกษตรซึ่งจัดทำกฎเกณฑ์การค้าโลก ผ่านการเปิดตลาด การลดการอุดหนุนภายใน และยกเลิกการอุดหนุนส่งออกสินค้าเกษตร ส่งผลให้การค้าสินค้าเกษตรโลกเป็นไปอย่างเสรีและเป็นธรรมมากขึ้น ในส่วนของการพัฒนาความตกลงเกษตรในอนาคต ไทยให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมเพิ่มเติมในการค้าสินค้าเกษตรโลก ซึ่งปัจจุบันความตกลงเกษตรยังมีความไม่สมดุลในเรื่องของสิทธิการอุดหนุนภายในของสมาชิก ภารกิจเร่งด่วนของสมาชิกจึงควรเป็นการจำกัดและลดสิทธิการอุดหนุนโดยรวมในระดับโลก เนื่องจากปัจจุบันสิทธิการอุดหนุนส่วนใหญ่อยู่กับประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจของโลก เช่น EU สหรัฐฯ จีน อินเดีย และญี่ปุ่น นอกจากนี้ มาตรการอุดหนุนมหาศาลของสมาชิกรายใหญ่ไม่เพียงเป็นมาตรการกีดกันทางการค้า แต่ยังเป็นเสมือนอาวุธทางการค้าที่สามารถทำร้ายความมั่นคงทางอาหารและการพัฒนาภาคเกษตรของประเทศกำลังพัฒนาอีกด้วย
ในส่วนของผู้ร่วมอภิปรายท่านอื่นมองว่า ตลอด 25 ปีที่ผ่านมา ความตกลงเกษตรได้ส่งผลในเชิงบวกแก่ประเทศสมาชิก WTO ไม่ว่าจะเป็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องของการค้าสินค้าเกษตรที่ประมาณร้อยละ 5 ต่อปี การเปลี่ยนแปลงเชิงภูมิศาสตร์เกี่ยวกับประเทศผู้ส่งออกและนำเข้าสินค้าเกษตรสำคัญ การเพิ่มขึ้นของราคาผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งการมีผู้เล่นใหม่ ๆ ในระบบห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรมากขึ้น โดยสิ่งที่เกิดขึ้นเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการมีความตกลงเกษตรภายใต้ WTO ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้บรรยากาศในการค้าสินค้าเกษตรโลกเติบโตอย่างแข็งแกร่ง โปร่งใส และคาดการณ์ได้ นอกจากนี้ ความตกลงเกษตรยังให้พื้นที่เชิงนโยบายแก่ประเทศกำลังพัฒนาและ LDCs เนื่องจากคำนึงถึงประเด็นที่เป็นความท้าทายของประเทศเหล่านี้ ส่งผลให้เกิดการแข่งขันที่เป็นธรรมในระบบการค้าโลก
สำหรับในอนาคต ผู้ร่วมอภิปรายฯ เห็นว่า สถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ส่งผลในแง่ดีแก่การค้าสินค้าเกษตรโลก เนื่องจากประเทศสมาชิกหันมาให้ความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบห่วงโซ่อุปทานสินค้าเกษตรและอาหารของโลก อย่างไรก็ดี สถานการณ์ดังกล่าวส่งผลให้มีการแทรกแซงทางนโยบายของรัฐบาลประเทศต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลพวงในอีก 5 – 10 ปีข้างหน้า รวมทั้งเห็นว่า การเจรจาในอนาคตอาจให้ความสำคัญกับการที่ความตกลงเกษตรจะเป็นเครื่องมือที่ช่วยเหลือการแก้ปัญหาด้านการพัฒนาในภาคเกษตร เช่นการลดระดับความยากจนของชาวนา/เกษตรกรรายย่อยของประเทศสมาชิก รวมทั้ง การแก้ไขปัญหาประเด็นใหม่ๆ เช่น การลดภาวะโลกร้อน เสริมสร้างเทคโนโลยี การค้าดิจิทัล และพลังงันทดแทน เป็นต้น นอกจากนี้ ยังเห็นด้วยกับไทยในการที่สมาชิกฯ ควรจัดให้เรื่องการอุดหนุนภายในเป็นประเด็นที่ต้องได้รับการแก้ไขเป็นอันดับแรก โดยการจำกัดและลดสิทธิการอุดหนุนโดยรวมในระดับโลก ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีสำหรับการเจรจาในอนาคต
ความตกลงเกษตรภายใต้ WTO มีผลใช้บังคับในปี 2538 นับเป็นการปฏิรูปการค้าสินค้าเกษตรครั้งใหญ่ของโลก โดยมีการกำหนดกฎเกณฑ์เพื่อลดการอุดหนุนภายในประเทศ ลดการอุดหนุนส่งออก และการเปิดตลาดสินค้าเกษตรโดยประเทศสมาชิก ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่เพิ่มความสามารถในการแข่งขันและโอกาสทางการค้าสินค้าเกษตรให้กับประเทศไทย และช่วยให้ไทยสามารถเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรประมาณ 4 เท่าตัว ระหว่างปี 2538 – 2562 จาก 6,860 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เป็น 30,740 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ รวมทั้งเพิ่มการส่งออกสินค้าเกษตรสุทธิ (ความต่างระหว่างการส่งออกกับการนำเข้าสินค้าเกษตร) จาก 3,900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2538 เป็น 18,800 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2562
อัครพัฒน์ วรรณพฤกษ์
23 พฤศจิกายน 2563
Comments