แม้ว่าการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ยังไม่สิ้นสุดลง การผลิตและกระจายวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้มีพัฒนาการที่น่าสนใจ เพียง 2 ปีหลังจากการพบการระบาดของโควิด-19 เคสแรก มีวัคซีน โควิด-19 กว่า 10.5 พันล้านโดสถูกผลิตและกระจายไปแล้วทั่วโลก อย่างไรก็ตาม ปัญหาการกระจายวัคซีนที่ ไม่เท่าเทียมยังคงมีอยู่ โดย ณ เดือนกุมภาพันธ์ 2565 ประเทศที่มีรายได้น้อย (Low-Income Countries: LICs) มีประชากรเพียงร้อยละ 11.4 ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อย 1 เข็ม
สำหรับการส่งออก ณ เดือนธันวาคม 2564 ทั่วโลกมีการส่งออกวัคซีนป้องกันโรคโดวิด-19 แล้ว กว่า 4.4 พันล้านโดส การค้าระหว่างประเทศได้กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการผลิตและแจกจ่ายวัคซีนทั่วโลก องค์การการค้าโลกเป็นหน่วยงานสำคัญที่ช่วยส่งเสริมการค้าเสรีและสินค้าสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวกรวดเร็ว อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือในการจัดการกับปัญหาการกระจุกตัวของวัคซีน ปัญหาคอขวดของห่วงโซ่อุปทานของ การผลิตและการกระจายวัคซีน และความแตกต่างด้านกฎระเบียบ เป็นสิ่งจำเป็นในการเตรียมพร้อมกับการรับมือ โรคระบาดในอนาคตได้
ตั้งแต่อดีตที่ผ่านมา ไม่มีการพัฒนาและการกระจายวัคซีนใดที่สามารถทำได้รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ เท่าเทียมกับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ด้วยการลงทุนอย่างมหาศาลและความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน แม้ว่าในปี 2021 คนที่เข้าถึงวัคซีนยังมีจำนวนไม่มากเพียงพอ แต่ข้อจำกัดด้านอุปทานเริ่มบรรเทาลง และภายในกลางปี 2022 คาดว่าจะมีการผลิตวัคซีนอีกกว่า 2.4 หมื่นล้านโดส
ถึงแม้การเพิ่มการผลิตวัคซีนจะประสบผลสำเร็จ แต่อัตราการได้รับวัคซีนในแต่ละประเทศยังแตกต่างกัน อย่างมีนัยยะสำคัญ ประเทศที่มีรายได้สูง (High-Income Countries: HICs) มีอัตราการได้รับวัคซีน สูงกว่าประเทศที่มีรายได้น้อยถึงกว่า 7 เท่า โดยเฉพาะในทวีปแอฟริกาซึ่งมีอัตราการได้รับวัคซีนต่ำที่สุด และอาจจะมีอย่างน้อย 20 ประเทศที่ไม่สามารถกระจายการได้รับวัคซีนให้ได้ร้อยละ 70 ของประชากรทั้งประเทศ ภายใน ครึ่งแรกของปี 2565 ตามที่ WHO ได้วางแผนไว้ อุปสรรคและความเสี่ยงต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง ความต้องการและความลังเลที่จะฉีดวัคซีน และด้านการเงิน ส่งผลกระทบต่อความรวดเร็วในการกระจายการฉีดวัคซีนทั่วโลก และความแตกต่างในการกระจายวัคซีนระหว่างประเทศที่มีรายได้สูงและประเทศที่มีรายได้น้อยส่งผลต่อ การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ และการกลายพันธุ์ของโควิด-19 ซึ่งส่วนมากมาจากประเทศที่มีอัตรา การฉีดวัคซีนน้อย
การค้าระหว่างประเทศมีส่วนช่วยในการลดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถึงแม้ว่าจะเริ่มต้นช้า แต่การกระจายวัคซีนได้เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วตั้งแต่ไตรมาสที่ 3 ของปี 2564 จนเมื่อสิ้นปีสามารถกระจายวัคซีนได้ 4.4 พันล้านโดส และการกระจายวัคซีนที่รวดเร็วนี้จะเป็นไปไม่ได้ หากปราศจากการเคลื่อนย้ายสินค้าอื่น ๆ ที่จำเป็นต่อ การผลิตวัคซีนด้วย ไม่ว่าจะเป็นขวดไวอัล จุกขวด กล่องเก็บความเย็น ถุงพลาสติกแบบพิเศษ และอุปกรณ์พิเศษ เช่น ถังปฏิกรณ์ชีวภาพทางการแพทย์ และอุปกรณ์รักษาความเย็น ไปจนถึงน้ำแข็งแห้ง ซึ่งก่อให้เกิดการพึ่งพา ซึ่งกันละกันทางการค้าวัตถุดิบและส่วนประกอบ และการผลิตวัคซีน ซึ่งเป็นสินค้าขั้นสุดท้าย
ในการสร้างภูมิคุ้มกันให้กับประชากรโลก การส่งออกวัคซีนในปี 2021 แสดงให้เห็นถึงความท้าทายและ ข้อบกพร่องต่าง ๆ ในการค้า ได้แก่
1. การผลิตวัคซีนค่อนข้างกระจุกตัว ด้วยวัคซีนกว่าร้อยละ 87 ถูกผลิตขึ้นในยุโรป จีน และสหรัฐอเมริกา โดยที่การผลิตภายใต้สัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ (Licensing Agreement) มีบทบาทสำคัญเป็นอย่างมาก แต่การผลิตสารในการทำวัคซีนกลับกระจุกอยู่ในเพียง 9 ประเทศทั่วโลก (นับสหภาพยุโรปเป็น 1 ประเทศ) และ ด้วยรัฐบาลในหลายประเทศต่างให้ความสำคัญกับประชาชนในตนก่อน ทำให้การกระจายวัคซีนกระจุกตัวอยู่ใน ไม่กี่ประเทศ ทำให้เมื่อปี 2021 เกิดปัญหาการกระจายวัคซีนจนกระทั่งกำลังการผลิตวัคซีนเพิ่มขึ้นในช่วงปลายปี ซึ่งปัญหาดังกล่าวได้รับการแก้ไขในเบื้องต้นด้วยการสนับสนุนให้เกิดการผลิตที่ยั่งยืน โดย WHO ได้ประกาศให้ประเทศอียิปต์ เคนยา ไนจีเรีย เซเนกัล แอฟริกาใต้ และตูนิเซีย ได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนชนิด mRNA ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างมากในการป้องกันการแพร่ระบาดของของโรคในอนาคต
รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้เข้ามามีส่วนในการส่งเสริมการค้าวัคซีนและสินค้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพ ด้วยการลดภาษีนำเข้า การอำนวยความสะดวกทางการค้า รวมถึงการใช้ระบบดิจิทัลในพิธีการศุลกากร อย่างไรก็ตาม ยังคงมีข้อจำกัดทางการค้าและปัญหาคอขวดด้านโลจิสติกส์ที่ทำให้การส่งออก-นำเข้าเป็นไปอย่างล่าช้า ผู้ผลิตวัคซีนหลายรายรายงานว่ามาตรการการควบคุมการส่งออกในหลายประเทศส่งผลเป็นอุปสรรคต่อการจัดหาวัตถุดิบ ในการผลิตวัคซีน การส่งออก หรือการทดลองวัคซีน ซึ่งแม้ว่าจะมีการยกเลิกข้อจำกัดดังกล่าวดังเช่นในสหภาพยุโรปและอินเดีย แต่หลายประเทศยังคงข้อจำกัดนี้อยู่
ความแตกต่างด้านกฎระเบียบ ขั้นตอน และกรอบเวลาของแต่ละประเทศถือเป็นหนึ่งในอุปสรรคสำคัญ ในการต่อสู้กับโรคโควิด-19 ทั้ง ๆ ที่ WHO ได้จัดทำ “Emergency Use Listing Procedure” ที่เป็นแนวทางให้กับแต่ละประเทศในการประเมินและขึ้นทะเบียนวัคซีนและอุปกรณ์ที่จำเป็นในช่วงวิกฤตการโรคระบาด
2. ความสามารถของแต่ละประเทศในการจัดการกับวัคซีนภายหลังได้รับวัคซีนแล้ว กำลังได้รับความสำคัญ จากปัญหาที่องค์กรควบคุมและป้องกันโรคแห่งแอฟริกา (Africa Centres for Disease Control and Prevention) ขอหยุดรับบริจาควัคซีนชั่วคราว เนื่องจากการขาดแคลนอุปกรณ์ในการกระจายวัคซีน เช่น ไซริงค์ เข็มฉีดยา น้ำเกลือ ชุด PPE และอุปกรณ์ใช้แล้วทิ้ง และอุปกรณ์รักษาความเย็นเพื่อเก็บวัคซีน การค้าระหว่างประเทศจะสามารถช่วยกระจายสินค้าที่จำเป็นเหล่านี้ไปยังประเทศต่าง ๆ ได้ การเข้าถึงอุปกรณ์ที่จำเป็นเหล่านี้อย่างถูกที่ถูกเวลาจะช่วยป้องกันความเสียหายของวัคซีน ที่มีอายุใช้งานสั้น
นโยบายเพื่อสนับสนุนการผลิตและการกระจายวัคซีนอย่างทั่วถึงและเท่าเทียมมีความจำเป็นมาก คณะทำงานระหว่างองค์กรระหว่างประเทศ (Multilateral Leaders Task Force)โดย WTO, WHO, ธนาคารโลก และ IMF ได้ดำเนินการผลักดันให้ทุกประเทศทั่วโลกได้รับวัคซีน แต่นโยบายทางการค้าจะเป็นอีกส่วนสำคัญใน การช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านวัคซีน และการจัดส่งวัคซีนอย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น ปัจจุบัน ประเทศสมาชิก WTO และรัฐบาลประเทศต่าง ๆ ได้ร่วมหารือกันเพื่อให้สามารถแก้ปัญหาโรคระบาด ซึ่งรวมไปถึงประเด็นที่เป็นที่โต้เถียงอย่างเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซึ่งสื่งเหล่านี้ทำให้เป็นบทบาทและความสำคัญของการค้าระหว่างประเทศ ในการอำนวยความสะดวกตั้งแต่การผลิตตั้งแต่หน้าประตูโรงงานจนถึงประชาชนด้วยความเร็วที่สุด และการพยายามแก้ไขปัญหาต่าง ๆ เพื่อรับมือกับโรคระบาดอื่น ๆ ต่อไปในอนาคต
Comments