top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

สร้างสถิติใหม่! สมาชิก WTO ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าสูงสุดในรอบ 7 ปี


รายงานติดตามสภาวะการค้าของ WTO (Trade Monitoring Report) ชี้การค้าทวีความตึงเครียด สมาชิก WTO ใช้มาตรการกีดกันระหว่างเดือนตุลาคม 2561 - ตุลาคม 2562 ครอบคลุมการค้ามูลค่า 7.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดนับตั้งแต่ปี 2555 สร้างความไม่แน่นอนต่อการค้าระหว่างประเทศและฉุดเศรษฐกิจโลก คาดการค้าโลกปี 2563 โตขึ้นเพียงร้อยละ 2.7


ในรอบปีที่ผ่านมา สมาชิก WTO ใช้มาตรการกีดกันทางการค้าเพิ่มขึ้น 102 มาตรการ โดยด้านการนำเข้า ส่วนใหญ่เป็นการขึ้นภาษีศุลกากร รองลงมาได้แก่ การห้ามนำเข้า การใช้พิธีการศุลกากรที่เข้มงวด และการเก็บค่าธรรมเนียมต่างๆ ส่วนด้านการส่งออก เป็นการเก็บภาษีสินค้าส่งออก การกำหนดเงื่อนไขและใบอนุญาตส่งออก และการจำกัดปริมาณ เป็นต้น โดยสินค้าที่ถูกกีดกันทางการค้ามากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ แร่และเชื้อเพลิง เครื่องจักร อุปกรณ์ไฟฟ้าและส่วนประกอบ และโลหะมีค่า


ขณะเดียวกัน สมาชิก WTO ใช้มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าเพิ่มขึ้น 120 มาตรการ อาทิ การลดหรือยกเว้นภาษีนำเข้าและส่งออก และการผ่อนปรนพิธีการศุลกากรให้ยืดหยุ่นขึ้น เป็นต้น ครอบคลุมการค้ามูลค่า 5.4 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่ได้รับการอำนวยความสะดวกทางการค้ามากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ เครื่องจักร อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์และชิ้นส่วน ทองแดง และยานยนต์


นอกจากนี้ การขยายขอบเขตความตกลงว่าด้วยการค้าสินค้าเทคโนโลยีสารสนเทศ (ITA Expansion) ที่กำหนดให้สมาชิกเริ่มลดภาษีสินค้า IT ตั้งแต่ปี 2559 ซึ่งไทยได้เข้าเป็นสมาชิกร่วมกับ 53 ประเทศ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก โดยในรอบปีที่ผ่านมา มาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้าที่เกี่ยวข้องกับ ITA Expansion ครอบคลุมการค้ามากถึง 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ


มาตรการเยียวยาทางการค้า โดยเฉพาะมาตรการตอบโต้การทุ่มตลาด ยังคงเป็นเครื่องมือสำคัญที่ถูกใช้เพื่อแก้ไขปัญหาทางการค้า โดยสมาชิก WTO เปิดการไต่สวนเฉลี่ย 23 ครั้งต่อเดือน ครอบคลุมการค้ามูลค่า 4.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน ได้ยุติการไต่สวนและยกเลิกมาตรการเยียวยาทางการค้าที่ผ่านมาโดยเฉลี่ย 16 ครั้งต่อเดือน ครอบคลุมการค้ามูลค่า 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ


จากการเปรียบเทียบระหว่างปี 2561 และ 2562 สมาชิก WTO ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดและมาตรการตอบโต้การอุดหนุนลดลง แต่ใช้มาตรการปกป้องเพิ่มขึ้น โดยสมาชิกที่ใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมากที่สุดตามลำดับ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา อินเดีย และจีน สินค้าที่ถูกไต่สวนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ โลหะ เคมีภัณฑ์ และพลาสติก สมาชิกที่ถูกใช้มาตรการตอบโต้การทุ่มตลาดมากที่สุด คือ จีน ตามมาด้วยเกาหลีใต้ จีนไทเป อินเดีย ญี่ปุ่น และไทย


สำหรับมาตรการตอบโต้การอุดหนุน สหรัฐอเมริกา แคนาดา และสหภาพยุโรป เป็นประเทศที่ใช้มากที่สุดตามลำดับ โดยสินค้าที่ถูกไต่สวนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ โลหะ แก้ว/หิน เคมีภัณฑ์ ผลิตภัณฑ์แร่ และผัก สมาชิกที่ถูกไต่สวนมากที่สุดยังคงเป็นจีน รองลงมา ได้แก่ อินเดียและตุรกี ในส่วนของมาตรการปกป้อง มาดากัสการ์เป็นประเทศที่ใช้มากที่สุด โดยสินค้าที่ถูกไต่สวนเป็นส่วนใหญ่ ได้แก่ โลหะ หิน/ปูนปลาสเตอร์ สิ่งทอ อาหาร และเครื่องจักร


นอกจากนี้ WTO ปรับลดอัตราการขยายตัวการค้าโลกปี 2563 จากเดิมร้อยละ 3 เป็นร้อยละ 2.7 โดยอัตราการขยายตัวของการส่งออกจากประเทศกำลังพัฒนา (ร้อยละ 3.4) จะสูงกว่าประเทศพัฒนาแล้ว (ร้อยละ 2.2) และคาดว่า ภูมิภาคเอเชียจะเป็นแชมป์ในการขยายการส่งออก (ร้อยละ 3.8) ตามมาด้วยอเมริกาเหนือ (ร้อยละ 3.6) และยุโรป (ร้อยละ 1.7)


WTO ได้เริ่มจัดทำรายงานติดตามสภาวะการค้าตั้งแต่ปี 2552 โดยนำเสนอข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการใช้มาตรการทางการค้าและสถานการณ์การค้าโลก เพื่อสร้างความโปร่งใสในระบบการค้าพหุภาคี ผู้ที่สนใจสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Trade Monitoring Database ของ WTO (https://tmdb.wto.org/en) ซึ่งจะมีรายละเอียดมาตรการทางการค้าของสมาชิก รวมถึงแหล่งที่มาของข้อมูล ชื่อประกาศ/กฎระเบียบ และวันที่มีผลบังคับใช้ของแต่ละมาตรการ จึงเป็นประโยชน์สำหรับภาครัฐและเอกชน ในการสืบค้นและตรวจสอบมาตรการทางการค้าของประเทศต่าง ๆ


ดร. ดวงกมล คาร์พินสกี

2 มกราคม 2563

403 views0 comments

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page