top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

รายงานการดำเนินการด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า (TFA) ขององค์การการค้าโลก


ความตกลงด้านการอำนวยความสะดวกทางการค้า หรือ Trade Facilitation Agreement (TFA) ภายใต้องค์การการค้าโลก มีผลบังคับใช้เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2560 เมื่อจำนวนสมาชิก WTO เกินกว่า 2 ใน 3 ของสมาชิกทั้งหมด (110 ประเทศ จากทั้งหมด 164 ประเทศ) ให้การยอมรับพิธีสารแก้ไขความตกลง มาร์ราเกชจัดตั้งองค์การการค้าโลก (World Trade Organization – WTO) เพื่อผนวกความตกลงว่าด้วยการอำนวยความสะดวกทางการค้าเข้าเป็นส่วนหนึ่งของความตกลงองค์การการค้าโลก


การดำเนินการตามความตกลงดังกล่าวมีเป้าหมายเพื่อช่วยอำนวยความสะดวกในการนำเข้า ส่งออกสินค้า ลดความซับซ้อนและแก้ไขกระบวนการที่ยุ่งยากเป็นอุปสรรคต่อการค้า รวมทั้งนำเทคโนโลยีและระบบที่ช่วยอำนวยความสะดวกต่อการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามพรมแดนมาใช้ เพื่อลดต้นทุนทั้งด้านการเงิน ระยะเวลา และความไม่แน่นอนของขั้นตอนการนำเข้า ส่งออก และการผ่านแดนของสินค้าระหว่างประเทศสมาชิก WTO


สาระสำคัญหรือโครงสร้างหลักของ TFA ประกอบด้วย (1) ส่วนของบทบัญญัติที่มีวัตถุประสงค์เพื่อ ให้การเคลื่อนย้ายสินค้า การปล่อยสินค้า และการเคลื่อนย้ายสินค้าข้ามแดนเป็นไปด้วยความรวดเร็ว รวมถึงบทบัญญัติเกี่ยวกับความร่วมมือระหว่างศุลกากร (2) ส่วนของบทบัญญัติเกี่ยวกับการปฏิบัติที่พิเศษและแตกต่างสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศพัฒนาน้อยที่สุด (LDC) และ (3) ส่วนของบทบัญญัติที่ก่อตั้งคณะกรรมการอำนวยความสะดวกทางการค้าของ WTO และคณะกรรมการในประเทศสมาชิก


สำหรับการปฏิบัติที่พิเศษและแตกต่าง รวมถึงมาตรการยืดหยุ่นสำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) นั้น กำหนดไว้ให้ประเทศเหล่านี้ได้รับประโยชน์เพื่อให้มีความพร้อมในการบังคับใช้ TFA ภายหลังจากการได้รับความช่วยเหลือทางเทคนิคและการพัฒนาขีดความสามารถของตน โดยประเทศพัฒนาแล้ว ต้องนำบทบัญญัติของ TFA ไปปฏิบัติทันทีที่มีผลบังคับใช้ ขณะที่ประเทศที่ได้รับสิทธิพิเศษต้องจัดประเภทบทบัญญัติของ TFA ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) ประเภท A คือ บทบัญญัติที่ประเทศสมาชิกต้องนำไปปฏิบัติทันทีที่ TFA มีผลบังคับใช้ (2) ประเภท B คือ บทบัญญัติที่ประเทศสมาชิกจะนำไปปฏิบัติภายหลังจาก ระยะเวลาหนึ่งสิ้นสุดลง และ (3) ประเภท C คือ บทบัญญัติที่ประเทศสมาชิกจะนำไปปฏิบัติภายหลังจาก ระยะเวลาหนึ่งสิ้นสุดลง และจำเป็นต้องได้รับความช่วยเหลือในการเสริมสร้างขีดความสามารถ โดยประเทศ กำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุดจะต้องแจ้งการจัดประเภทบทบัญญัติตามหลักเกณฑ์ข้างต้นและ กำหนดวันที่จะสามารถนำบทบัญญัติไปปฏิบัติได้


ล่าสุด สำนักเลขาธิการองค์การการค้าโลก หรือ WTO ได้จัดทำข้อมูลรายงานการปฏิบัติตามข้อผูกพันตามความตกลงการอำนวยความสะดวกทางการค้า (TFA) ของสมาชิก WTO ในการประชุมคณะกรรมการอำนวย ความสะดวกทางการค้า เมื่อวันที่ 22-23 เมษายน 2564 โดยรายงานดังกล่าวระบุว่า ประเทศสมาชิก WTO สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันของความตกลง TFA ได้มากถึงร้อยละ 70.1 และคาดว่า จะสามารถดำเนินการได้เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83 ภายในปี 2566 โดยประเทศที่พัฒนาแล้วสามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันและข้อตกลงได้เต็มร้อยละ 100 ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนาและ ประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด (LDCs) สามารถปฏิบัติตามข้อผูกพันตาม ความตกลงได้ร้อยละ 61


ในส่วนของคำขอรับความช่วยเหลือในการเพิ่มขีดความสามารถให้กับประเทศสมาชิกนั้น มีประเทศสมาชิกในกลุ่มประเทศ LDCs รวม 87 ประเทศ ที่แจ้งขอความช่วยเหลือด้านเทคนิค และมีการจัดทำรายงาน ขอความช่วยเหลือด้านเทคนิคไปยังฐานข้อมูล TFA รวม 32 ครั้ง นับตั้งแต่การประชุมคณะกรรมการฯ ครั้งล่าสุด เมื่อเดือนมีนาคม 2564 อย่างไรก็ตาม ประเทศสมาชิกยังคงเห็นว่ามี ปัญหาช่องว่างในการช่วยเหลือด้านเทคนิคและการเสริมสร้างขีดความสามารถแข่งขัน รวมถึงการกระจายเงินทุนสำหรับกลุ่มประเทศ LDCs อยู่ ซึ่งคงจะต้องมี การพัฒนาปรับปรุงต่อเนื่องต่อไป


นอกจากนี้ ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ยังเสนอให้สำนักงานเลขาธิการ WTO มีการรวบรวมข้อเท็จจริงเกี่ยวกับผลกระทบของ COVID-19 ที่มีต่อประเทศกำลังพัฒนาในการดำเนินการและปฏิบัติตาม TFA รวมทั้งเสนอให้มีการที่มีการลดขั้นตอนที่ต้องการใช้เอกสารจำนวนมาก ซึ่งทำให้การส่งออกนำเข้าเกิดความล่าช้า โดยสมาชิกเห็นว่า ขั้นตอนที่ต้องใช้เอกสารจากเรื่องการนำเข้าและส่งออกสินค้าเป็นอุปสรรคทางการค้า และเห็นว่า ขั้นตอนเอกสารของกงสุลควรจะมีการเปลี่ยนมาเป็นระบบดิจิทัล เนื่องจากการแพร่ระบาดของ COVID-19


นับจากการประชุมระดับรัฐมนตรีของ WTO ที่เมืองบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อปี 2556 นั้น สมาชิก WTO ได้ดำเนินการตามข้อตกลง TFA ที่มีบทบัญญัติข้อกำหนดการเร่งเคลื่อนย้ายสินค้า มาตรการความร่วมมือระหว่างกรมศุลกากรที่เหมาะสม เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า และให้ความช่วยเหลือด้านเทคนิคและสร้างขีดความสามารถแข่งขันให้แก่ประเทศสมาชิก ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ WTO ที่ข้อกำหนดในการดำเนินการตามความตกลง TFA ได้วางรากฐานใหม่สำหรับประเทศกำลังพัฒนาและประเทศที่พัฒนาน้อยที่สุด โดยมีข้อกำหนดดำเนินการตามข้อตกลงเชื่อมโยงกับขีดความสามารถของประเทศ เพื่ออำนวยความสะดวกทางการค้า ทั้งนี้ ในช่วงการแพร่ระบาดของ COVID-19 ยังถือเป็นช่วงสำคัญที่ประเทศสมาชิกได้นำเสนอความคิดเห็นเพื่อพัฒนาระบบการอำนวยความสะดวกทางด้านการค้าให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์ต่อการค้าระหว่างประเทศโดยรวมต่อไป


เอกสารอ้างอิง

905 views0 comments

コメント


bottom of page