top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

มาตรการลดมลพิษพลาสติกระดับโลกของ WTO สู่เศรษฐกิจพลาสติกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


“ไทยขึ้นแท่นประเทศที่สร้างขยะพลาสติกต่อประชากร สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก และมีขยะพลาสติกในขยะทั่วไปในสัดส่วนมากเป็นอันดับ 3 ของโลก”

ข้อมูลจากงานวิจัย The United States’ contribution of plastic waste to land and ocean ตีพิมพ์ในวารสาร Science Advances ฉบับวันที่ 30 ตุลาคม 2563 สะท้อนให้เห็นว่า ถึงแม้ว่าพื้นที่ในประเทศไทยจะมีขนาดเล็ก แต่เราสามารถสร้างขยะได้เป็นลำดับต้น ๆ ของโลกได้เลยทีเดียว ฉะนั้น ถึงเวลาแล้วที่ทุกหน่วยงานจำเป็นต้องให้ความร่วมมือและให้ความสำคัญกับการจัดการปริมาณขยะที่มีจำนวนมากขึ้น


โดยสาเหตุที่ทำให้พลาสติกเป็นวัสดุที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคือ “คุณสมบัติราคาถูก มีความสามารถในการใช้งานได้หลากหลาย และมีความคงทน” คุณสมบัติเหล่านี้เป็นปัจจัยที่ทำให้การจัดการพลาสติกที่หมดอายุการใช้งานเป็นไปได้ยาก มีการคำนวณว่า มีเพียงร้อยละ 9 ของพลาสติกที่ผลิตตั้งแต่ปี 1950 ถูกนำไปรีไซเคิล และร้อยละ 12 เท่านั้นที่ถูกเผาทำลาย สำหรับที่เหลือกลายเป็นขยะที่ถูกฝังกลบ หรือถูกปล่อยสู่ธรรมชาติ โดยแนวโน้มการผลิตพลาสติกของโลกในปัจจุบันอาจเพิ่มขึ้น 4 เท่าในปี 2050


การหารืออย่างไม่เป็นทางการของ WTO เกี่ยวกับมลพิษพลาสติกและการค้าพลาสติกที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม


จากปัญหาขยะพลาสติกที่เกิดขึ้นทั่วโลก จึงเกิดมาตรการช่วยกันรับมือกับปัญหามลภาวะจากขยะพลาสติกและการค้าพลาสติกที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม ร่วมกันสร้างข้อตกลงและกฎระเบียบข้อตกลงและมาตรการทางสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ

เมื่อวันที่ 16 และ 20 พฤศจิกายน 2563 คณะกรรมการการค้าและสิ่งแวดล้อมภายใต้องค์การการค้าโลก ได้จัดการประชุม โดยมีการจัดกิจกรรมคู่ขนานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน 2563 เรื่องมลภาวะจากขยะพลาสติกและการค้าพลาสติกที่ยั่งยืนต่อสิ่งแวดล้อม (WTO Informal Dialogue on Plastic Pollution and Environmentally Sustainable Plastics Trade) ซึ่งเป็นการประชุมหารืออย่างไม่เป็นทางการปลายเปิด (open-ended informal dialogue) เพื่อให้สมาชิก WTO ได้ร่วมกันถกประเด็นการแก้ไขปัญหาของมลภาวะจากขยะพลาสติก โดยเป็นข้อริเริ่มของจีนและฟิจิ ที่ขอให้ประเทศสมาชิกต่าง ๆ พิจารณาถึงข้อเสนอเรื่องการจัดประชุมนี้ และร่วมพิจารณาเป็น co-sponsor โดยประเทศที่เป็น co-sponsor สถานะ ณ วันที่ 7 มกราคม 2564 มี co-sponsor รวม 12 ประเทศ ได้แก่ จีน ฟิจิ ออสเตรเลีย บาร์เบโดส แคนาดา จาไมกา สวิตเซอร์แลนด์ แกมเบีย คาซัคสถาน โมร็อกโก นิวซีแลนด์ (ส่วนไทยแจ้งเข้าร่วมภายหลังการจัดงานแล้ว)


การประชุมฯ นี้ มีส่วนช่วยเพิ่มบทบาทของ WTO และมีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนากระบวนการระดับนานาชาติที่มีอยู่ให้มีความครอบคลุมมากขึ้น ภายใต้กฎและกลไกของ WTO เพื่อหาแนวทางในการปรับปรุงความร่วมมือทางการค้าภายใต้กฎระเบียบและกลไกขององค์การการค้าโลก ส่งเสริมให้ภาคส่วนในระดับต่าง ๆ ทั่วโลก ลดมลพิษจากพลาสติกและก้าวไปสู่เศรษฐกิจพลาสติกที่หมุนเวียนและยั่งยืนมากขึ้น ผ่านการเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินการ การส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ดี สร้างความเข้มแข็งทางนโยบาย กำหนดขอบเขตภาพรวม โดยการหารือดังกล่าวจะให้ความสำคัญไปที่การเพิ่มความโปร่งใสในการค้าและนโยบายการค้าที่เกี่ยวข้องกับพลาสติก ตั้งแต่ขั้นตอนแนวคิดไปจนถึงการร่างประเด็นต่าง ๆ

มีหัวข้อในการสนทนาแลกเปลี่ยนดังนี้

  • การเสริมสร้างความโปร่งใส

  • การติดตามแนวโน้มและความคืบหน้าการค้าโลก

  • การสนับสนุนให้มีแนวปฏิบัติที่ดี

  • การเสริมสร้างความสอดคล้องกันของนโยบาย

  • การระบุกรอบแนวทางความร่วมมือ


สาเหตุที่ทำให้ขยะพลาสติกในปัจจุบันนั้นมีปริมาณมากขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากการนำพลาสติกกลับมารีไซเคิลนั้นมีค่าใช้จ่ายที่สูงกว่าการใช้แล้วทิ้ง

ปัญหามลพิษที่เกิดจากพลาสติก ส่งผลให้สมาชิก WTO หลายประเทศรวมถึงประเทศไทย เริ่มใช้มาตรการรับมือกับปัญหาในหลายรูปแบบ กลยุทธ์หลักในการแก้ปัญหา คือ การส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียนของผลิตภัณฑ์พลาสติกในระดับโลกที่ยั่งยืน ลดการค้าพลาสติกที่ไม่จำเป็น ส่งเสริมการค้าพลาสติกที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือวัสดุทดแทนมากขึ้น


และเนื่องจากการค้าโลกเป็นปัจจัยหลักที่ส่งผลต่อการผลิตพลาสติก การลดขยะพลาสติกทั่วโลก จึงเกี่ยวข้องกับการค้าระหว่างประเทศ การให้ความร่วมมือผ่าน WTO จะช่วยส่งเสริมมาตรการอื่น ๆ ที่มีอยู่แล้วในการลดการใช้พลาสติก เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนที่ยั่งยืนในวงกว้างมากขึ้น เกิดมาตรการทางภาษี มาตรฐานสิ่งแวดล้อม ตลอดจนการจำกัดหรือยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวบางประเภท



511 views
bottom of page