การลงทุนด้านนวัตกรรมของโลกมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะช่วงก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 ที่การลงทุนเพื่อการวิจัยและพัฒนาเพิ่มมากขึ้นเป็นประวัติการณ์ และแม้วิกฤตการระบาดจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของโลกอย่างมีนัยสำคัญ แต่การพัฒนานวัตกรรมก็ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อมองในระดับรายภูมิภาคจะสังเกตได้ถึงภูมิทัศน์ด้านนวัตกรรมของโลกที่เริ่มเปลี่ยนแปลงไป โดยแม้ว่าอเมริกาเหนือและยุโรปยังคงเป็นภูมิภาคที่มี ความก้าวหน้าด้านนวัตกรรมนำหน้าภูมิภาคอื่นมาก 5 อันดับแรกของผู้นำด้านนวัตกรรมโลกก็เป็นประเทศจากยุโรปและอเมริกาเหนือถึง 4 ประเทศ ได้แก่ สวิตเซอร์แลนด์ สวีเดน สหรัฐอเมริกา และสหราชอาณาจักร ขณะที่ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออกและโอเชียเนีย ได้ก้าวขึ้นมาเป็นภูมิภาคที่มีการเติบโตด้านนวัตกรรม อย่างมีพลวัตที่สุดในทศวรรษที่ผ่านมา นำโดยสาธารณรัฐเกาหลีซึ่งเป็นประเทศเดียวจากเอเชียที่ติดอันดับ 1 ใน 5 ของการจัดอันดับดัชนีนวัตกรรมโลกเป็นครั้งแรก ตามด้วยสิงคโปร์ (อันดับ 8) จีน (อันดับ 12) ญี่ปุ่น (อันดับ 13) และจีนฮ่องกง (อันดับ 14) ขณะที่ภูมิภาคอื่น ๆ ได้แก่ แอฟริกาเหนือและเอเชียตะวันตก ละตินอเมริกาและแคริบเบียน เอเชียกลางและเอเชียใต้ และแอฟริกาตอนใต้ทะเลทรายซาฮารา ยังเป็นผู้ตามที่ค่อนข้างห่าง ในด้านการพัฒนานวัตกรรม
นอกจากนี้ กลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางหลายประเทศก้าวมาเป็นกำลังขับเคลื่อนสำคัญที่สร้าง ความเปลี่ยนแปลงในภูมิทัศน์ด้านนวัตกรรมโลก โดยมีจีนเป็นประเทศเดียวจากกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง ที่ติด 1 ใน 30 อันดับแรกของดัชนีนวัตกรรมโลก ตามด้วยตุรกี (อันดับที่ 41) ไทย (อันดับที่ 43) เวียดนาม (อันดับที่ 44) สหพันธรัฐรัสเซีย (อันดับที่ 45) อินเดีย (อันดับที่ 46) ยูเครน (อันดับที่ 49) และมอนเตเนโกร (อันดับที่ 50) ที่ติด 50 อันดับแรก
ขณะที่เมื่อเทียบดัชนีนวัตกรรมกับระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจแล้ว ในปี 2564 อินเดีย เคนยา มอลโดวา และเวียดนามต่างมีการพัฒนาด้านนวัตกรรมที่สูงกว่าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจติดต่อกันถึง 11 ปี ขณะที่บราซิล อิหร่าน และเปรูก็มีระดับการพัฒนาที่สูงกว่าระดับการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นปีแรกเช่นกัน
ภาพรวมของการพัฒนานวัตกรรมในประเทศไทย
ประเทศไทยอยู่ในอันดับที่ 43 จาก 132 ประเทศ/เขตเศรษฐกิจในปี พ.ศ. 2564 โดยขยับขึ้นสูงกว่าปีที่ผ่านมา 1 อันดับ โดยภาพรวมยังเป็นอันดับที่ 10 ในกลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางสูงในด้านการส่งเสริมและ การพัฒนานวัตกรรม นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำระดับโลกในด้านการส่งออกผลิตภัณฑ์เชิงสร้างสรรค์และการลงทุนของบริษัทในด้าน R&D รวมทั้งยังได้รับการจัดอันดับ 3 ของประเทศที่มีมาตรการในการคุ้มครองนักลงทุนรายย่อยและ อยู่ในอันดับ 8 ของประเทศที่ส่งออกสินค้าและบริการเชิงสร้างสรรค์ อย่างไรก็ดี ไทยยังตามหลังสิงคโปร์และมาเลเซียอยู่ในภูมิภาคนี้ โดยมีปัจจัยที่ควรเร่งการพัฒนาในด้านการเติบโตของสถาบัน (บรรยากาศทางการเมือง สภาพแวดล้อมด้านกฎระเบียบ และสภาพแวดล้อมในการประกอบธุรกิจ) และการพัฒนาบุคลากร (การศึกษารวมทั้งการวิจัยและพัฒนา)
การพัฒนานวัตกรรมเป็นหนึ่งในวาระที่ถูกบรรจุอยู่ในนโยบายการพัฒนาและการปฏิรูปประเทศที่สำคัญของประเทศไทย ไม่ว่าจะเป็นยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (2561-2580) นโยบายประเทศไทย 4.0 รวมทั้งแผนพัฒนานโยบายและแผนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ ฉบับที่ 1 (2555-2564) โดยมีสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (National Innovation Association: NIA) เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการตามนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้ ที่ผ่านมาการเติบโตด้านนวัตกรรมที่เด่นชัดประการแรกคือการพัฒนาเรื่องเทคโนโลยี
เชิงลึก (DeepTech) ซึ่งถือเป็นรากฐานของการเสริมสร้างศักยภาพทางการแข่งขัน โดยปี 2564 เป็นปีแรกที่สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติได้ริเริ่มโครงการสนับสนุนนวัตกรรมฐานเทคโนโลยีเชิงลึก (Deep-tech Innovation) ใน 6 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ เทคโนโลยีด้านการแพทย์ (MedTech) เทคโนโลยีด้านอาหาร (FoodTech) เทคโนโลยีการเกษตร (AgTech) เทคโนโลยีอวกาศ (SpaceTech) เทคโนโลยีป้องกันประเทศ (Defense Tech) และเทคโนโลยีหุ่นยนต์และปัญญาประดิษฐ์ (ARI-Tech) โดยเน้นการทำงานร่วมกับสถาบันอุดมศึกษา สถาบันวิจัยและเทคโนโลยี รวมทั้งอุทยานวิทยาศาสตร์ทั่วประเทศ เพื่อเชื่อมโยงงานวิจัยเชิงลึกให้ไปสู่การพัฒนาเป็น “ธุรกิจนวัตกรรม” โดยภาคเอกชน รวมทั้งสนับสนุนผู้ประกอบการรายใหม่ที่พัฒนานวัตกรรมบนฐานนวัตกรรม หรือ Innovation-based enterprise (IBE) ให้สามารถพัฒนาธุรกิจนวัตกรรมด้วยเทคโนโลยีเชิงลึกที่สามารถตอบโจทย์ความเปลี่ยนแปลงของอนาคตได้
อีกประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจคือเรื่อง “การพัฒนานวัตกรรมเชิงพื้นที่” โดยในการจัดอันดับดัชนีระบบนิเวศทางสตาร์ทอัพโลกประจำปี 2564 (Global Startup Ecosystem Index 2021) ที่จัดทำโดย Startup Blink ศูนย์วิจัยเรื่องนวัตกรรมสตาร์ทอัพโลก ประเทศไทยครองอันดับที่ 50 จาก 100 ประเทศ และมีถึง 4 เมือง
ที่ติดใน 1,000 อันดับแรกของเมืองที่มีระบบนิเวศสตาร์ตอัปที่ดีที่สุด กรุงเทพมหานครสามารถกระโดดขึ้น 19 อันดับจากอันดับ 90 สู่อันดับที่ 71 โดยมีความโดดเด่นในเรื่องของพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-commerce) และเทคโนโลยีการค้าปลีก เชียงใหม่อยู่ในอันดับที่ 397 ภูเก็ต อันดับที่ 442 (ปรับขึ้น 428 อันดับจากเดิม อันดับที่ 870) และสุดท้ายคือเมืองพัทยาที่ติดอันดับเป็นปีแรกที่อันดับ 833
(อ้างอิง: https://www.nia.or.th/NIA4)
Source:
Comments