top of page
Writer's picturepmtwmocgoth

ทูตไทยแชร์วิสัยทัศน์ปรับปรุงกลไกหลักของ WTO




WTO ตื่นตัว มุ่งหาแนวทางปรับปรุงกลไกการทบทวนนโยบายการค้า เพื่อให้สมาชิกและภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น


WTO จัดงานสัมมนาใหญ่ในวาระครบรอบ 30 ปีของกลไกการทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review Mechanism: TPRM) เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 2562 โดยได้เชิญ นางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจเอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก และประธานคณะมนตรีใหญ่ WTO เป็นวิทยากรร่วมกับทูตจากหลายประเทศ นักวิชาการ และผู้คร่ำหวอดด้านการทบทวนนโยบายการค้า เพื่อระดมความเห็นในการปรับปรุง TPRM ให้ทันสมัยและเข้าถึงภาคเอกชน


TPRM เป็นรากฐานในการสร้างความโปร่งใสและความเข้าใจเกี่ยวกับนโยบายการค้าของสมาชิก WTO และเป็นเสาหลักที่ช่วยขับเคลื่อนระบบการค้าพหุภาคี แม้ในยามที่ WTO กำลังเผชิญกับภาวะวิกฤต การทำงานของ TPRM แบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือ การทบทวนนโยบายการค้า (Trade Policy Review) โดยสมาชิกที่มีสัดส่วนการค้าในตลาดโลกสูงสุด 4 อันดับแรก จะทบทวนทุก 3 ปี สมาชิก 16 อันดับถัดมา ทบทวนทุก 5 ปี และสมาชิกที่เหลือ ทบทวนทุก 7 ปี สำหรับไทยผ่านการทบทวนนโยบายการค้ามาแล้ว 7 ครั้ง การประชุมทบทวนนโยบายการค้าครั้งที่ 8 จะจัดขึ้นในเดือนตุลาคม 2562 หลังจากนั้น จะมีการทบทวนทุก 5 ปี ส่วนที่สองคือ การจัดทำรายงานติดตามสภาวะการค้า (Trade Monitoring Report) เพื่อนำเสนอการใช้มาตรการที่อำนวยความสะดวกและกีดกันทางการค้าของสมาชิกในแต่ละปี โดยฉบับล่าสุดเผยแพร่เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2562 ครอบคลุมการใช้มาตรการทางการค้าระหว่างกลางเดือนตุลาคม 2561 ถึงกลางเดือนตุลาคม 2562 และไทยเป็นหนึ่งในสมาชิก WTO 79 ประเทศที่ให้ความร่วมมือในการจัดทำรายงาน


ผลงานของ TPRM ตลอด 3 ทศวรรษที่ผ่านมาเป็นที่ยอมรับของผู้เข้าร่วมการสัมมนา โดยการทบทวนนโยบายการค้าผลักดันให้เกิดการปฏิรูปภายในประเทศ และเป็นเวทีในการประชาสัมพันธ์ความสำเร็จของการปฏิรูป รวมถึงพัฒนาการต่าง ๆ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและกระตุ้นการส่งออก ในขณะเดียวกัน การทบทวนนโยบายการค้าเปิดโอกาสให้สมาชิกรายอื่นสามารถสอบถามและวิพากษ์วิจารณ์ได้ จึงเป็นการสร้างกระแสกดดันให้สมาชิกหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ช่วยให้การค้ามีความโปร่งใสและเป็นธรรมมากขึ้น


นอกจากนี้ การทบทวนนโยบายการค้าและการจัดทำรายงานติดตามสภาวะการค้าทำให้ภาคเอกชนมีความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงนโยบาย มาตรการ กฎหมาย และกฎระเบียบด้านการค้าและการลงทุนของประเทศคู่ค้า ซึ่งจะช่วยชี้ช่องทางการตลาด สร้างโอกาสในการลงทุน อำนวยความสะดวกทางการค้า และวางแผนในการดำเนินธุรกิจกับต่างชาติได้อย่างมีประสิทธิภาพ


แม้ TPRM จะทำงานได้ตามวัตถุประสงค์ แต่ยังสามารถพัฒนาต่อยอดเพื่อให้เกิดประโยชน์และเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยทูตไทยเสนอให้ WTO จัดทำเอกสารสรุปนโยบายการค้าที่โดดเด่น และการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญของสมาชิกในรูปแบบ Infographic ที่เข้าใจง่ายและดึงดูดความสนใจ รวมถึงการจัดทำฐานข้อมูลจากรายงานทบทวนนโยบายการค้า เพื่อช่วยในการสืบค้น เปรียบเทียบ และวิเคราะห์เกี่ยวกับมาตรการทางการค้าของสมาชิก โดยวิสัยทัศน์ดังกล่าวได้รับกระแสตอบรับที่ดีจากผู้เข้าร่วมสัมมนา นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้รวมประเด็นการค้าในยุคปัจจุบันในรายงานทบทวนนโยบายการค้า และการใช้ประโยชน์จากสื่อสังคมออนไลน์ ในการเผยแพร่ข้อมูลนโยบายการค้าของสมาชิก WTO ให้เข้าถึงประชาชนมากขึ้น โดยคาดว่าสมาชิก WTO จะจัดการประชุมทบทวนกลไกการทำงานของ TPRM ในปี 2563 ซึ่งไทยจะผลักดันให้มีการปรับปรุงประสิทธิภาพของ TPRM เพื่อประโยชน์ของภาคเอกชนไทยต่อไป


TPRM เป็นกลไกสร้างความโปร่งใสที่น่าภาคภูมิใจของ WTO แต่น่าเสียดายที่ความสำเร็จตลอด 30 ปีที่ผ่านมาจำกัดอยู่ในวงแคบ ถึงเวลาแล้วที่ WTO ต้องเพิ่มช่องทางการสื่อสารกับประชาคมโลก และปรับตัวให้ทันกับยุคสมัย เพื่อให้สมาชิกและภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จาก TPRM ได้อย่างเต็มที่


ดร. ดวงกมล คาร์พินสกี

2 ธันวาคม 2562

426 views0 comments

Comments


Commenting has been turned off.
bottom of page