top of page
  • Writer's picturepmtwmocgoth

ทูตไทยร่วมอภิปราย WTO Webinar ผลพวงโควิด-19 ต่อห่วงโซ่อุปทานโลก


เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2563 WTO ได้จัดงาน Webinar เรื่องโควิด-19 และห่วงโซ่อุปทานโลก: บทบาทของ WTO และความร่วมมือระหว่างประเทศ เพื่อหารือเกี่ยวกับผลพวงของสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ต่อระบบห่วงโซ่อุปทานของสินค้าจำเป็นจากการออกมาตรการจำกัดการส่งออกของประเทศต่าง ๆ และความร่วมมือระหว่างประเทศในการรักษาความแข็งแกร่งของห่วงโซ่อุปทานในช่วงเวลาวิกฤต โดยนางสาวสุนันทา กังวาลกุลกิจ เอกอัครราชทูตผู้แทนถาวรไทยประจำองค์การการค้าโลกและองค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก ได้รับเชิญเข้าร่วมอภิปรายใน Webinar ดังกล่าว ร่วมกับหัวหน้าฝ่ายยุทธศาสตร์การค้าของคณะกรรมาธิการยุโรป (Stéphanie Leupold) ผู้อำนวยการฝ่ายการทบทวนนโยบายทางการค้าของ WTO (Willy Alfaro) ผู้อำนวยการฝ่ายการค้าและการตลาดของ FAO (Boubaker Ben-Belhassen) นักวิชาการอาวุโสของสถาบันปีเตอร์สันเพื่อเศรษฐศาสตร์ระหว่างประเทศ (Anabel González) และผู้แทนจากสถาบัน Mckinsey (Knut Alicke) โดยมีผู้อำนวยการฝ่ายสถิติและ การวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์ของ WTO (Robert Koopman) เป็นผู้ดำเนินการอภิปราย

ออท. สุนันทา ได้นำเสนอภาพรวมเกี่ยวกับบทบาทของไทยต่อระบบห่วงโซ่อุปทานโลก และประเทศคู่ค้าสำคัญในห่วงโซ่อุปทานของไทยอย่าง จีน ญี่ปุ่น ยุโรป อาเซียน และอเมริกาเหนือ และ ผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานของไทยจากการล็อคดาวน์ประเทศ การจำกัดการเดินทาง และการปิดพรมแดนของประเทศคู่ค้า ส่งผลให้ GDP ของไทยในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2020 ลดลงร้อยละ 6.7 ในขณะที่ GDP ของปี 2019 เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.7 โดยอุตสาหกรรมยานยนต์เป็นสาขาที่ได้รับผลกระทบมากที่สุด เนื่องจากมีส่วนเชื่อมโยงกับระบบห่วงโซ่อุปทานโลกมากที่สุด ทั้งนี้ ถึงแม้ไทยควบคุมสถานการณ์การระบาดได้เป็นอย่างดี แต่ก็ยังได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 ค่อนข้างมาก จึงทำให้ต้องออกมาตรการจำกัดการส่งออกสินค้าจำเป็นชั่วคราวในสินค้าไข่ไก่ และหน้ากากอนามัย ในช่วงแรกที่มีการระบาดฯ เพื่อให้มีสินค้าเพียงพอต่อความต้องการในประเทศ รวมทั้งมีมาตรการอำนวยความสะดวกในการยกเว้นภาษีการนำเข้าสินค้าจำเป็นทางการแพทย์ อาทิ อุปกรณ์ป้องกันและการรักษาทางการแพทย์ สำหรับความร่วมมือระหว่างประเทศ ระดับนโยบายของไทยได้ร่วมประกาศแถลงการณ์ร่วมกับคู่ค้าต่าง ๆ ภายใต้กรอบอาเซียนและเอเปคเพื่อเน้นย้ำความมุ่งมั่นในการทำงานอย่างใกล้ชิดกับพันธมิตร เพื่อรักษาระบบห่วงโซ่อุปทานโลกให้แข็งแกร่ง โดยเฉพาะสินค้าที่จำเป็นต่อ การรับมือกับสถานการณ์โควิด-19

ในส่วนของผู้อภิปรายท่านอื่นได้นำเสนอการดำเนินงานที่ผ่านมาในการรักษาความแข็งแกร่งของระบบห่วงโซ่อุปทานโลก โดยในส่วนของ Ms. Stéphanie จากสหภาพยุโรปกล่าวว่า ประเทศสมาชิก EU ได้มีการประสานงานกันอย่างใกล้ชิดเพื่อรักษาระบบห่วงโซ่อุปทานของสินค้าจำเป็นในภูมิภาคไว้ และ มีการตั้งทีมของ EU ในการจัดหาสินค้าจำเป็นร่วมกันเพื่อควบคุมปริมาณและคุณภาพสินค้าให้เท่าเทียมกัน รวมทั้งเร่งแก้ไขปัญหาการปิดพรมแดนระหว่างกันตามแนวคิด “เศรษฐกิจที่เปิดกว้าง” ของ EU ในส่วนของ WTO และ FAO ได้มีการรวบรวมข้อมูลมาตรการของประเทศต่าง ๆ และสถานการณ์การผลิตและการค้าของสินค้าจำเป็น เผยแพร่แก่สาธารณชนเพื่อความโปร่งใสและเป็นข้อมูลต่อยอดการรับมือกับสถานการณ์ฯ สำหรับผู้แทนสถาบันปีเตอร์สันฯ เห็นว่า รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ต้องมีความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมในการเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความโปร่งใสระหว่างกันในการแชร์ประสบการณ์การรับมือกับ โควิด-19 และการเร่งรัดกระบวนการศุลกากรและการขนส่งสินค้า รวมทั้งการขอให้ฝ่ายเลขานุการของ WTO รวบรวมข้อมูลและวิเคราะห์ถึงผลกระทบในแง่มุมต่าง ๆ ในส่วนของ Mckinsey ได้นำเสนอในแง่มุมที่ความร่วมมือระหว่างประเทศจะช่วยเสริมสร้างความแข็งแกร่งของระบบห่วงโซ่อุปทานให้แก่ภาคเอกชน โดยเห็นว่ามาตรการที่โปร่งใสและความร่วมมือของภาครัฐเป็นส่วนสำคัญที่จะส่งเสริมภาคเอกชน รวมทั้งการเผยแพร่ข้อมูลแบบ real-time จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการตัดสินใจทางธุรกิจของภาคเอกชน ทั้งนี้ จากการสำรวจของ Mckinsey พบว่า ระบบห่วงโซ่อุปทานโลกจะเกิดภาวะชะงักงันโดยเฉลี่ยแล้วแทบจะทุก ๆ 3.7 ปี จากสถานการณ์ภัยธรรมชาติต่าง ๆ ของโลก อาทิ แผ่นดินไหว น้ำท่วม สึนามิ พายุเฮอริเคน รวมทั้งโรคระบาดโควิด-19 ดังนั้น การรักษาความเชื่อมโยงของห่วงโซ่อุปทานระหว่างกันและการพัฒนาความร่วมมือระหว่างประเทศอย่างต่อเนื่อง ไม่ใช่เฉพาะในยามที่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่จะส่งเสริมให้ภาคเอกชนเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่ง ออท. สุนันทา ได้กล่าวสนับสนุน ข้อเสนอแนะเหล่านี้และเห็นควรให้ภาคส่วนต่าง ๆ ร่วมหารือกันอย่างใกล้ชิดต่อไป


ไวนิกา อานามนารถ

14 ธันวาคม 2563

87 views0 comments

ความคิดเห็น


ปิดการแสดงความคิดเห็น
bottom of page